free geoip

1 ปี 1 เดือน 16 วัน ร่างกฎหมายป้องกัน-ปราบปรามซ้อมทรมานที่ถูกอุ้มหายไปในสภา!


ความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐดำรงอยู่ได้ เพราะผู้มีอำนาจไม่เคยสนใจสิทธิความเป็น “คน” – ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามซ้อมทรมาน ถูกอุ้มหายในสภา

จากกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนพล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อกรรโชกทรัพย์ 1,000,000 บาท โดยมีการเผยแพร่คลิปวิดิโอออกมาเป็นหลักฐานว่าตำรวจคนดังมีพฤติกรรมป่าเถื่อนต่อผู้ต้องหา

แน่นอนว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งผู้กระทำ ยังเป็นตำรวจ ผู้ใช้อำนาจรัฐมีหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมาย

สิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมาวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องใหม่ รู้หรือไม่ว่าการทำร้ายร่างกายประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ “การซ้อมทรมาน” ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เผด็จการทหารรุ่งเรือง และกฎหมายพิเศษถูกบังคับใช้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องรับผิด

ความแตกต่างของ “การซ้อมทรมาน” กับ “ฆาตกรรม” หรือ “ทำร้ายร่างกาย” คือ การซ้อมทรมานเป็นการสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ ข่มขู่ให้กลัว อีกทั้งยังมีการทรมานด้วยวิธีใหม่ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลภายนอก หรือการทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่วนมากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น

ตัวอย่าง การซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างกระบวนการยุติธรรม คือ กรณีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว โดยหน่วยซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนถึงวันนี้การตายของอัลดุลเลาะก็ยังเป็นปริศนา และไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว

รวมทั้ง ลูกชายของสมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งถูกตำรวจซ้อมทรมานระหว่างสอบสวน ทุบตี เอาถุงขยะครอบหัว เพื่อบังคับให้รับสภาพว่าวิ่งราวทอง ต่อมาแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษนายตำรวจหนึ่งคนที่เกี่ยวข้อง แต่ศาลก็ยกฟ้องคดีของนายตำรวจอีกคนเพราะหมดอายุความ มิหนำซ้ำตำรวจคนดังกล่าวยังฟ้องผู้เสียหายกลับในข้อหาฟ้องเท็จอีก!

นอกจากนี้ ยังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายและจากสภาพศพที่พบในภายหลังก็พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมานก่อนเสียชีวิตอย่างทารุณ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (ภูชนะ), อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) ฯลฯ

ปัญหาที่เกิดขึ้นที่นครสวรรค์จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะกรณี ไม่ใช่ความเลวทรามของตำรวจคนเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย

การจะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก จำเป็นต้องผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” เพื่อให้มีกลไกป้องกัน ปราบปราม และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็น

  • การกระทำต่อบุคคลให้เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานในลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเจ้าหน้าที่ต้องเป็นความผิดทางอาญา
  • ให้ความผิดมีอายุความยาวกว่าปกติ
  • การควบคุมตัวต้องแจ้งสิทธิ ลงบันทึก เปิดเผยข้อมูล
  • การเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวต้องเร่งชันสูตรและให้ญาติมีส่วนร่วม
  • พ่อแม่-ลูก-คู่ชีวิต นับเป็นผู้เสียหายในคดี มีสิทธิตามกฎหมาย
  • ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชาต้องรับโทษด้วย
  • ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีตัวแทนผู้เสียหายและภาคประชาสังคม



ปัจจุบัน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยการผลักดันของภาคประชาชนแล้ว กมธ. มีมติเห็นชอบและส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรไปตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 63 แต่ผ่านมาแล้วมากกว่า 1 ปี 1 เดือน 16 วัน ยังไม่มีวี่แววว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เลย จึงเรียกได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกอุ้มหายไปแล้วเหมือนกัน

เมื่อประธานสภาไม่นำร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาเสียที อีกหนึ่งความเป็นไปได้ในการผ่านกฎหมายก็คือรอร่างกฎหมายของ ครม. ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม (ทั้งนี้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างที่ไม่ครอบคลุมประเด็นรายล้มต่างๆ เกี่ยวกับการซ้อมทรมานและอุ้มหายอย่างเพียงพอ) ส่งเข้ามาให้สภาพิจารณา แล้วจึงจะสามารถนำร่างกฎหมายฉบับอื่นในประเด็นเดียวกันมาพิจารณาประกบได้ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังเงียบหาย…

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในสังคมไม่เคยคิดว่าการซ้อมทรมานและการอุ้มหายคือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ถ้าหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานอย่างเพียงพอ และยังไม่มีมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการสากลเพื่อยุติการบังคับให้บุคคลสูญหาย ผู้กระทำผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงลอยนวลต่อไป และเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำๆ ในสถานีตำรวจ ในค่ายทหาร ในจุดตรวจ อีกหลายแห่ง

หากเราทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง…

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า