ความยุติธรรมรอไม่ได้ ร่างพ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ต้องได้เข้าสภาก่อน 19 ก.ย.นี้
กว่า 1 ปีที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามบุคคลสูญหาย ถูกส่งเข้าสู่สภาในนามของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของกรรมาธิการตั้งแต่ในยุคที่ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ มีการประสานงานร่วมกับภาคประชาสังคม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เพื่อจัดทำร่างกฎหมายที่ครอบคลุม คุ้มครองประชาชนได้มากที่สุด เพื่อการันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยความหวังว่าการสูญหายหรือตายฟรีจะหมดไปจากสังคมไทย
กว่า 1 ปีที่ร่างกฎหมายที่จำเป็นต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชน ถูกดองเค็มไว้ในสภา จนกระทั่งเกิดกระแสสังคมตื่นตัวอย่างกว้างขวาง จากกรณีผู้กำกับโจ้คลุมถุงดำผู้ต้องหา จนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ยินยอมให้มีการเลื่อนร่างกฎหมายอุ้มหายฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนกฎหมายอื่นๆที่ค้างอยู่
ภายในสัปดาห์หน้า ร่างกฎหมายอุ้มหายฯ จะต้องไม่ถูกอุ้มหายอีกต่อไป ต้องถูกนำเข้าสู่การพิจารณาให้ทันก่อนหมดสมัยประชุมในวันที่ 19 กันยายนนี้!
วันที่ 8 กันยายน 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ร่วมรับหนังสือจากเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามบุคคลสูญหาย ที่รัฐสภา โดยมี ธนัท ธนกิจอำนวย (ลูกนัท) พร้อมด้วย สิตานันท์ สัตยศักดิ์สิทธิ์ พี่สาว นายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ บุคคลที่ถูกทำให้สูญหาย ณ ประเทศกัมพูชา ร่วมเรียกร้องต่อประเด็นดังกล่าวด้วย
รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองเคยผ่านประสบการณ์มีเพื่อนถูกอุ้มหายมาแล้ว นั่นก็คือวันเฉลิม จึงเข้าใจดีถึงความเจ็บปวดของญาติๆ ที่ไม่รู้ว่าคนที่รักจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ยังมีลมหายใจหรือเปล่า ได้แต่พยายามคิดในแง่บวกว่าเขาอาจจะอยู่ในที่ที่ดีกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ซึ่งความเจ็บปวดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายเเละป่าเถื่อนของสังคมที่เรากำลังอยู่ ที่คนต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ
“สิ่งที่ครอบครัวผู้สูญหายพยายามพูดมาโดยตลอด วันนี้ไม่ได้ทำให้บุคคลที่ถูกทำให้สูญหายเเละซ้อมทรมานได้มีตัวตนต่อในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว กงล้อของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้น กำลังหมุนไปเเล้ว ทุกคนอย่าเพิ่งท้อถอย ในที่สุดเเล้วเราจะสามารถคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทุกคนได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ อย่าหยุดพูด การไม่หยุดตรงนี้ วันหนึ่งเราจะได้ความเป็นธรรมกลับคืนมา”
ขณะที่ มานพกล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ตัวแทนรัฐบาลไทยจะต้องไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในที่ประชุม UPR ณ องค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยทำตามข้อตกลงที่ลงนามกับนานาอารยประเทศหรือไม่ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มชนชาติพันธุ์ ขอเรียกร้องความเป็นธรรม์ให้กับชัยภูมิ ป่าแส ที่โดนทหารยิงเสียชีวิตโดยอ้างว่าเขาพยายามหลบหนีระหว่างการตรวจค้นยาเสพติด เเละพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ที่ถูกบังคับสูญหายโดยสงสัยว่าเป็นการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน มานพยืนยันว่าการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครอง อย่างยุติธรรมเเละเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์หรือคนพื้นราบ