สรุปประเด็นสำคัญ สะท้อนปัญหาการศึกษาไทยยุคโควิด-19 จากรายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
หนึ่งในวาระการประชุมสภาที่สำคัญ (แต่หลายคนอาจหลงลืม) คือการแจ้งเพื่อทราบรายงานประจำปีขององค์กรรัฐต่างๆ และในการประชุมวันที่ 9 กันยายน 2564 มีรายงานของหน่วยงานที่น่าสนใจ คือ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
นอกจากจะรายงานผลการดำเนินงานแล้ว รายงานยังสรุปผลกระทบของโควิด-19 ต่อการศึกษาไทยและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเอาไว้ พรรคก้าวไกลเห็นว่ารายงานฉบับนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงอยากสรุปบางประเด็นสำคัญเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เด็กไทยหลายล้านคนกำลังเผชิญ
ครัวเรือนที่ยากจนได้รับความลำบากมากขึ้นช่วงโควิด-19
จากรายงาน กสศ. พบว่าในครัวเรือนที่ยากจนพิเศษต้องพึ่งพารายได้หลักจากสวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 55% สะท้อนถึงภาวะพึ่งพิงในครัวเรือนที่อาจมีเด็กแรกเกิด ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้และพึ่งพารายได้จากสวัสดิการของรัฐเป็นหลัก เนื่องจากรายได้จากค่าจ้างและภาคเกษตรลดลงกันถ้วนหน้า
นักเรียน 1.7 ล้านคน เป็นนักเรียนยากจน ในจำนวนนี้ 7 แสนคนเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ
ปีนี้ มีนักเรียนที่สมัครคัดกรองเป็นคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน (จาก 1.6 ล้านคน เป็น 1.8 ล้านคน) โดยผลการคัดกรองพบว่า นักเรียนที่ยากจนพิเศษที่กำลังเข้าอนุบาล 1 มีถึง 146,693 คน กลุ่มคนยากจนใหม่จากโควิด-19 มีจำนวน 177,454 คน (เพิ่มขึ้น 53% จากก่อนโควิด-19) และในครัวเรือนยากจนพิเศษ มีรายได้ลดลงจาก 1,159 บาท/คน/ครัวเรือน เป็น 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน
ผลกระทบต่อการเรียนรู้
นอกจากผลทางเศรษฐกิจแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลหลายประการต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ถดถอยลง จากผลการวิจัยต่างประเทศพบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% ส่วนในไทยประเมินเอาไว้ว่าการเรียนรู้อาจถดถอยลง 1-2 ปี และยังส่งผลต่อความเสี่ยงของพัฒนาการทางด้านร่างกายและสุขภาวะของเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ในปี 2563 ภายใต้งบประมาณ 5,900 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้จำนวน 1.7 ล้านคน (25% ของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น) โดยช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกประมาณ 7.5 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังจะถึง กสศ. กลับถูกตัดงบประมาณลงถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ พรรคก้าวไกลได้พยายามต่อสู้เพื่อคืนงบประมาณที่ถูกตัดให้กลับสู่มือของเด็กยากจนและยากจนพิเศษแล้ว แต่น่าเสียดายที่ฝ่ายการเมืองอื่นยังไม่เห็นความสำคัญถึงการศึกษาของเด็กไทย…