free geoip

พ.ร.บ. การศึกษากำลังจะเข้าสภา! แต่การศึกษาไทยยังไม่รู้จะไปทางไหน


พ.ร.บ. การศึกษากำลังจะเข้าสภา!
แต่การศึกษาไทยยังไม่รู้จะไปทางไหน

วันศุกร์ที่ 17 ก.ย. 64 ที่กำลังจะถึงนี้ ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติกำลังจะเข้าสภา ในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” ทำให้เบียดกฎหมายอื่นที่เสนอโดยส.ส. ถูกปัดตกไปทั้งหมดเหลือแค่ร่างของรัฐบาล แต่ถึงรัฐบาลจะออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติใหม่ ปัญหาการศึกษาก็ดูเหมือนจะยังเรื้อรังไม่ได้รับการแก้ไข

ย้อนฟังไลฟ์ Clubhouse https://youtu.be/7SKXu0Ghnhg






ถึงเวลาคืนเวลา เสรีภาพ อธิปไตยในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน!



วิโรจน์ ลักขณาอดิสร

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ “เป็นกลไกในการสร้างคนในอนาคต การศึกษาต้องไม่แข็งเกร็งเกินไป การศึกษาจะไม่ใช่สิ่งที่คนเกิดก่อนกำหนดให้คนในอนาคตเรียน”

วิโรจน์กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทยยังมีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่ ถ้าเด็กไทยยังอยู่ในคุณภาพชีวิตแบบที่เป็นอยู่ เราจะไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เราตั้งเป้าไว้ได้อย่างไร? นักการศึกษาบางท่านโทษว่าเป็นเรื่องปัญหาครอบครัว แต่นี่คือโจทย์ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคิด ไม่ใช่ข้ออ้างแก้ตัวของความล้มเหลว

“การลงทุนทางการศึกษามันถูกมาก พวกเขาโตขึ้นทุกวินาที ทำไมเราปล่อยให้เวลาในวัยเด็กของเขามันเสียเปล่า”



เราควรคืนเวลา เสรีภาพ อธิปไตยในการเรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากจะเรียนรู้ เพราะถ้าเรายัดเยียดให้เรียนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แล้วเขาจะเหลือเวลาเรียนรู้อะไรที่กำลังจะเป็นอนาคต “เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับความหลากหลายของคนทุกคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านั้นในระบบการศึกษาไทยเลย”





การศึกษาไทยไม่สามารถแปรความขยันของนักเรียนไปสู่ทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ได้



“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสิทธุ

ปัญหาการศึกษาไทย เราอาจมองได้ใน 3 มิติ

มิติแรก เรื่องความเหลื่อมล้ำ

แต่เดิมการเรียนฟรีก็ไม่ฟรีจริงอยู่แล้ว แต่ผลกระทบจากโควิดทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น คุณภาพการศึกษายังคงกระจุกตัว โรงเรียนดังๆ มีคนแย่งกันเข้า ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศคือโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ข้อมูลบอกกับเราชัดเจนว่าคนจากครอบครัวรายได้น้อย เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด


มิติที่สอง เรื่องคุณภาพ

จากตัวชี้วัดระดับนานาชาติพบว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยยังรั้งท้าย เราไม่ได้ตามหลังแค่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ตามหลังแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนา หลักสูตรการศึกษาแบบที่เป็นไม่สามารถแปรความขยันไปเป็นศักยภาพของเด็กที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ ที่เด็กไทยความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่อันกับ 89 จาก 100 ประเทศ ทั้งที่เราเริ่มเรียนภาษาอังกฤษก่อนเด็กอินโดนีเซีย


มิติสุดท้าย คือนักเรียนไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา

พื้นที่ในห้องเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ในการค้นหาตัวตนของผู้เรียน นักเรียนหลายคนยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนนั้น เรียนไปทำไม ตอบโจทย์ในชีวิตพวกเขาอย่างไร ค่านิยมที่ระบบการศึกษาสอนเป็นสิ่งตรงข้ามกับค่านิยมที่คนรุ่นใหม่สนใจ เช่น เรื่องเพศ อัตลักษณ์ของนักเรียน


“จากการสำรวจพบว่านักเรียนไทยมีความเป็นพลเมืองโลกสูงมาก แต่เมื่อดูสิ่งที่สอนในระบบการศึกษา กลับตาลปัตรกันโดยสิ้นเชิง”



พริษฐ์ได้เสนอว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ต้องลงมือแก้ปัญหาใน 4 มิติ ทั้งในแง่ของสวัสดิการและสิทธิเสรีภาพนักเรียน การกระจายอำนาจไปสู่ผู้เรียน ปฏิวัติหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรที่คนสอนคิดวิเคราะห์ และการวางบทบาทที่เหมาะสมระหว่างเทคโนโลยีกับคุณครู นำเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระครู เพื่อให้ครูมีเวลาไปใส่ใจกับการสอน ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ เราไม่เห็นเลยในร่างพ.ร.บ. การศึกษาของรัฐบาล





“พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ” ที่ตอบโจทย์สืบทอดอำนาจ แต่ไม่ตอบโจทย์การศึกษาของเด็กไทย



“แบม” ธัญชนก คชพัชรินทร์ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว

เรื่องใหญ่ของการศึกษาไทยในปัจจุบันคือ “การเรียนออนไลน์” ในขณะที่เด็กมีค่าอุปกรณ์ที่ต้องจ่าย ค่าเน็ตที่ต้องจ่าย แต่ในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการพอจะอุดหนุนส่วนนี้ ทำให้เด็กไทยอยู่ในภาวะที่ลำบากมาก

อีกปัญหาที่เด็กไทยเผชิญคือปัญหาสุขภาพกายและจิตใจในช่วงเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะนักเรียน ม.6 ที่ไม่ได้พักผ่อนจากภาระการบ้านที่เพิ่มขึ้นแทนการสอบ ทำให้นักเรียนหลายคนมีปัญหาปวดหลังและปัญหาสายตา

เมื่อดู พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติแล้ว ก็เหมือนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เด็กไทยกำลังเผชิญ สิ่งที่เขียนไว้ในพ.ร.บ. สะท้อนวิธีคิดของผู้มีอำนาจที่กำหนดลงมาที่เด็ก โดยไม่เคยถามว่านักเรียน ครู ผู้ปกครองต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง

“การศึกษาไทยทุกวันนี้คุณภาพย่ำแย่ แต่ที่น่าเศร้ากว่าก็คือ แม้แต่การศึกษาที่คุณภาพย่ำแย่ก็ยังมีเด็กหลายคนที่เข้าไม่ถึง”

“ถ้า พ.ร.บ. การศึกษา ที่เป็นความหวังในการเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาทั้งระบบยังคงเป็นเครื่องมือรับใช้กลไกสืบทอดอำนาจคสช. รับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การแก้ปัญหาการศึกษาไทยก็ดูจะไม่มีหวัง”

แบม – ธัญชนก ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวทิ้งท้าย






กฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาล ไม่เคยวางหลักการแก้ไขปัญหา



เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

การแก้ปัญหาการศึกษาต้องเริ่มจากการวางหลักการว่าเราควรปรับปรุงเรื่องอะไร แต่ในร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้แก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหลักสูตรที่ไม่ได้มุ่งไปทางหลักสูตรฐานสมรรถนะ สวัสดิภาพและสวัสดิการนักเรียน ไม่ได้ถูกวางหลักการ

ขณะที่การพัฒนาครูไม่มีการถูกพูดถึงและไม่มีการรับประกันงบประมาณเอาไว้ ทั้งที่งบประมาณด้านการพัฒนาครูและสื่อการสอนลดลงเรื่อยๆ จนคิดเป็นไม่ถึง 1% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ

ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือ สร้างการเรียนรู้ตลอดที่ดีของการเรียนรู้ผ่าน “กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้” เพื่อสนับสนุนทั้งฝั่งผู้สร้างความรู้ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และฝั่งผู้เรียน แต่ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ที่กำลังจะเข้าสภา กลับมีแค่การรวมศูนย์อำนาจ ตั้งกรมใหม่ ไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า