กมธ.แก้ไขปัญหาโควิดฯ เชิญ ‘คนกลางคืน-ธุรกิจบันเทิง’ ถก รัฐสั่งปิดไร้มาตรการเยียวยา วอนหาทางผ่อนปรนช่วยเหลือเร่งด่วน – ตัวแทน ศบค. แจง ไม่ได้ด้อยค่าคนกลางคืน เพียงป้องกันการแพร่ระบาด ด้าน ‘ปกรณ์วุฒิ’ ถามเคยลงพื้นที่สำรวจปัญหาจริงบ้างหรือไม่
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธานการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตาม พระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีการเชิญผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร ธุรกิจภาพยนตร์บันเทิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือหาทางออกให้ผู้ประกอบการ
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กมธ. เชิญผู้ประกอบการภาคธุรกิจกลางคืนและภาคธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของซึ่งเคยมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ และพรรคก้าวไกล กรณีได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐไปจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และหลายมาตรการมีลักษณะผิดฝาผิดตัว ไร้การเหลียวแล โดยพวกเขาได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน แต่รัฐยังไม่เคยหาแนวทางเพื่อให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้เทียบเท่าธุรกิจภาคกลางวัน ซึ่งรัฐต้องไม่ลืมว่า พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้ภาคธุรกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องพูดคุยหาทางออกเพื่อคลี่คลายผลกระทบเหล่านี้
ด้าน ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการชัดเจนและมีสินเชื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนนี้ แต่ที่ผ่านมา มาตรการของรัฐเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการ จึงต้องการมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการเยียวยาจากภาครัฐอย่างครอบคลุม เพราะทุกวันนี้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้เลย
“สำหรับกรณีที่ ศบค. มีมติจะเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 อยากสะท้อนไปยังรัฐบาลว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่ภาคกลางวัน นักท่องเที่ยวไม่ได้ชมวัดแล้วกลับไปนอน แต่ยังมีภาคธุรกิจกลางคืนที่สามารถสร้างสรรค์ สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ หรือแม้แต่รถเข็นสตรีทฟู้ด ที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับประเทศไทย จึงอยากให้มองหาแนวทางผ่อนปรนสำหรับพวกเราด้วย”
ขณะที่ ณิกษ์ อนุมานราชธน อีกหนึ่งผู้แทนจากสมาพันธ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในหลายประเทศมีมุมมองในการบริหารจัดการธุรกิจกลางคืนว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างเม็ดเงินและมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งมัวเมาหรืออบายมุข เป็นอัตลักษณ์ที่สร้างมูลค่าให้ประเทศได้ ไม่แตกต่างจากข้าวผัดกระเพราไก่ไข่ดาวหรือต้มยำกุ้ง แต่ทุกครั้งที่มีการเยียวยากลับไม่เคยมีตัวเลขที่สอดคล้องกับความเป็นจริงแม้แต่ครั้งเดียว จึงอยากให้มองการประกอบอาชีพกลางคืนเหมือนคนที่ทำธุรกิจกลางวัน
ส่วน อนุชา บุญวัฒนา นายกสมาคมผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า มาตรการของรัฐในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อคนวงการบันเทิงอย่างมหาศาล กองถ่ายภาพยนต์จึงอยากให้มีมาตรการที่สามารถทำให้คนบันเทิงยังสามารถทำงานได้ เช่น การจำกัดผู้ถ่ายทำในเบื้องต้น หรือการตรวจเชื้อไวรัสก่อนทำงาน อย่างในต่างประเทศก็มีนโยบายเพื่อบริหารจัดการดูแลธุรกิจบันเทิงอย่างครอบคลุมและชัดเจน ทำให้เขายังทำงานได้ จึงอยากให้ลดข้อผ่อนปรนในการถ่ายทำจากไม่เกิน 20 คน เป็นไม่เกิน 50 คน เพื่อให้ธุรกิจบันเทิงสามารถขับเคลื่อนได้ในภาวะที่ดีขึ้น
ขณะที่ พลากร ดาวเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนของ ศบค. กล่าวว่า การบริหารจัดการของรัฐแบ่งเป็นสองส่วนควบคู่กันไป คือ ความมั่นคงด้านสาธารณสุขและการเยียวยา โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลเรื่องของการออกข้อกำหนด ส่วน ศบค. จะรับนโยบายนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.
สาเหตุจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดกิจการสถานประกอบการกลางคืน เพื่อให้สอดรับมาตรการการจำกัดความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของประชาชนที่จำเป็นต่อปัจจัย 4 รวมไปถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งหากผู้บริโภคเคลื่อนย้ายไปหลายที่อาจกลาย Super spreader จากการถอดบทเรียนที่ทองหล่อ ทำให้พบว่า การควบคุมทำได้ยากในเชิงระบาดวิทยา เหตุผลที่สั่งปิดจึงไม่ใช่การด้อยค่าหรืออย่างไร แต่เป็นความจำเป็นของด้านสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ และอดีตนักดนตรีกลางคืน กล่าวว่า รัฐควรออกมาตรการเยียวยาอย่างชัดเจนและตรงจุด และอยากถามไปยังรัฐบาลเช่นกันว่า เคยลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจปัญหาหรือไม่ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้นมหาศาล เมื่อเทียบกับเศษเงินที่รัฐให้ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาเหล่านั้นก็เข้าไม่ถึงอีกหลายมาตรการของรัฐ
“ที่สำคัญคือ รัฐควรหามาตรการในการผ่อนปรน เช่น การให้บุคคลากรทางด้านสาธารณสุขลงปฏิบัติงานหน้าพื้นที่เพื่อตรวจเชื้อไวรัสผู้ใช้ก่อนเข้ารับบริการ รวมไปถึงจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการป้องกันต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ส่วนกรณีที่กล่าวว่า หากเปิดให้บริการอาจมีสารคัดหลั่งเป็นต้นเหตุในการกระจายของเชื้อโรคนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการมองในภาพรวม แต่ไม่ได้มาจากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบนั่นได้ส่งผลต่อครอบครัวผู้ประกอบการอย่างมากด้วย”