คำอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ
โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
การศึกษาในโลกยุคใหม่
การศึกษาในโลกยุคใหม่ต้องเป็นการเอาโจทย์ของโลกอนาคต มาใช้เตรียมคนในยุคปัจจุบัน เพื่อทำให้เด็กและประชาชนทุกคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีความพร้อมในการเรียนรู้ และมีอธิปไตยในการเรียนรู้เป็นของตนเอง
สามารถแปรเปลี่ยนความแตกต่างหลากหลายที่ตนเองมีให้กลายเป็นขีดความสามารถที่พร้อมแข่งขัน และร่วมมือกับใครก็ได้ในโลก
สามารถวิ่งตามความฝันที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง และเต็มใจแบ่งปันความสำเร็จนั้นคืนสู่สังคม เพื่อให้คนในรุ่นต่อๆ ไปได้ วิ่งตามความฝันของตัวเองได้เหมือนๆ กัน
การศึกษาจึงไม่ใช่กระบวนการในการสร้างให้ใคร มาเป็นแรงงานรับใช้ใครอีกต่อไป ปัจจุบันเขาเลิกที่จะถามเด็กๆ กันแล้วว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ในอนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีอาชีพอะไรสูญสลายหายไปบ้าง และจะมีอาชีพอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง
“การศึกษา ไม่ใช่การเอาโจทย์ของอดีตของคนที่เกิดก่อน มาบงการให้คนที่เกิดทีหลัง ว่าต้องเรียนอย่างนั้น โตขึ้นมาแล้วต้องเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นกระบวนการผลิตเป็นก้อนอิฐที่หายใจได้ ที่จะถูกเอาไปก่อเป็นกำแพงเพื่อทานกระแสโลก ซึ่งทานอย่างไรก็ทานไม่ได้”
สิ่งที่สังคมอยากเห็นใน ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ คืออะไร?
เราอยากเห็นการศึกษา ที่เป็นระบบในการพัฒนาคน ที่ทำให้เด็กๆ มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง เชื่อมั่นในความพยายามในการพัฒนาตนเอง
การศึกษาจึงไม่ควรมีระบบการคัดเลือกแบบแพ้คัดออก ที่เป็นการสร้างเงื่อนไขในการจำกัดโอกาสในการเรียนของเด็กที่อยากเรียน
ประเทศของเรายังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีช่องว่างในการพัฒนาอีกเต็มไปหมด แล้วเราจะมาจำกัดโอกาสในการพัฒนาคนทำไม นี่เท่ากับว่าระบบการศึกษา แทนที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ กลับกลายเป็นตุ้มถ่วงที่คอยฉุดรั้งการพัฒนา เพื่อหล่อเลี้ยงสามเหลี่ยมพีระมิดชนชั้นให้สังคมนี้ล้าหลังต่อไป
- เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
- เราอยากเห็นการกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ตัดสินใจในการจัดการการศึกษาให้สอดรับกับบริบทพื้นที่ โดยให้คณะกรรมการสถานศึกษามีบทบาทสำคัญ ในการกำกับการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ร่างฉบับนี้กลับจับจดที่จะรวมศูนย์อำนาจมาที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ พยายามที่จะเอากะลามาครอบประเทศนี้ให้ได้
- เราอยากเห็นการศึกษาที่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้คนทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพ ไม่ใช่การกำหนดแบบเฉพาะเจาะจงว่า เด็กในวัยนั้นวัยนี้ต้องสอนเขาอย่างไร นี่คือความพยายามที่จะทำให้เด็กทุกๆ คนเป็นเหมือนๆ กัน ทำลายความแตกต่างหลากหลายที่งดงามของความเป็นมนุษย์
- เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับเด็กพิเศษ เด็กกำพร้า โอบรับเด็กที่มีข้อจำกัดทางกายภาพต่างๆ โอบรับเด็กทุกๆ คน ไม่ว่าเขาจะมีความพร้อมหรือไม่
- เราอยากเห็นการศึกษาที่เลิกโยนบาปไปที่พ่อแม่ ไม่เอาข้อจำกัดทางครอบครัวมาเป็นข้ออ้าง แม่วัยรุ่นบ้าง พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ต้องให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายายบ้าง เพื่อให้เด็กยอมจำนนกับการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ต่อให้เราเสียเวลาเถียงกันนานแค่ไหน เราก็ไม่อาจคืนครอบครัวในอุดมคติให้กับเด็กทุกคนในประเทศนี้ได้ เถียงกันไป 1 วัน เด็กก็โตขึ้น 1 วัน เถียงกัน 1 เดือน เด็กก็โตขึ้น 1 เดือน เด็กโตขึ้นทุกวัน
- ถ้ามัวเถียงกัน เวลาในการพัฒนาเด็กเหล่านี้ ก็จะผ่านไปอย่างสูญเปล่า เราต้องเลิกเอาข้อจำกัดเหล่านี้มาเป็นข้ออ้าง แต่ควรต้องเอามาเป็นโจทย์ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร สังคมแห่งนี้นี้ต้องพร้อมเป็นพ่อแม่ให้กับเด็กทุกคน เพราะเด็กเติบโตขึ้นอยู่ทุกวัน และในท้ายที่สุด เขาก็จะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของประเทศนี้
“การลงทุนกับเด็กไม่มีคำว่า ‘แพง’ เพราะจะทำให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองที่มุ่งมั่นที่จะลงมือทำตามความฝันไปตลอดชีวิต และนี่คือกลไกการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนที่สุด”
- เราอยากเห็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็ก ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในรั้วหรือนอกรั้วโรงเรียนก็ตาม เพราะการศึกษาในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นอยู่รอบตัว เกิดขึ้นอยู่ทุกนาที อย่างกรณีโควิดนี่ชัดเจนมากๆ จะทำอย่างไรที่จะรับประกันให้เด็กทุกคน เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อจะได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างเสมอภาค
- เราอยากเห็นการศึกษาที่ทำให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ แต่จะคิดสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อ เด็ก “มีเวลา” แล้ว พ.ร.บ. การศึกษาฉบับนี้มีความยืดหยุ่นหรือเปล่า สามารถลดการเรียน ลดการตะบี้ตะบันสอบ แล้วคืนเวลาให้กับเด็กได้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเรายังมัวให้เด็กเรียนแต่สิ่งที่เป็นอดีต แล้วเด็กจะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้สิ่งที่จะเป็นอนาคต อย่าเอาการศึกษาไปขโมยเวลาของพวกเขาไปจนหมด
- เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของนักเรียน ปัญหาของการศึกษาในวันนี้ ไม่ใช่แค่หลักสูตร ถ้าเด็กของเรายังคงประสบกับปัญหาทุพโภชนาการแบบนี้ ห้องน้ำยังขาดสุขอนามัยแบบนี้ แม้แต่น้ำดื่มสะอาดก็ยังขาดแคลน รถโรงเรียนก็ขาดความครอบคลุม มีข่าวนักเรียนถูกไฟดูดตายในโรงเรียนอยู่แทบทุกปี ภายใต้คุณภาพชีวิตแบบนี้ ต่อให้ปรับหลักสูตรอย่างไร ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็ไม่เกิด
- เราอยากเห็นการศึกษาที่มุ่งสร้างความปลอดภัย และสวัสดิภาพทางกายและใจแก่เด็ก แก้ไข ป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก (Child Bullying) การใช้อำนาจนิยม กดขี่ คุกคามภายในโรงเรียน
- เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรามีแต่สอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ แล้วสิทธิของพวกเขาล่ะ ทำไมเราไม่สอนให้เขาได้รับรู้สิทธิของพวกเขาบ้าง
- เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางเพศ มุ่งแก้ไขค่านิยมปิตาธิปไตย ชายเป็นใหญ่ มุ่งแก้ไขค่านิยมที่ยอมให้คนที่เข้าเรียนก่อน มีอภิสิทธิ์ในการข่มขู่คุกคามคนที่เข้ามาเรียนทีหลัง
- เราอยากเห็นการศึกษาที่ลดงานธุรการ เพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน คืนครูให้กับศิษย์ มีระบบการพัฒนาครู ทั้งด้านทักษะ และความเข้าใจที่รู้เท่าทันมุมมองของเด็กที่แตกต่างไปจากในยุคของตน เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความเข้าอกเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
สิ่งที่เราอยากเห็นทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้เห็นอย่างชัดเจนเลยในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ถ้าการศึกษา คือ ยานพาหนะที่จะทำให้ประชาชน สามารถก้าวได้เร็วกว่าโลก หรืออย่างน้อยๆ ต้องก้าวได้เท่าทันโลก แต่การศึกษาแบบที่เป็นอยู่ในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้กลับเป็นยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้อย่างเชื่องช้า เคลื่อนแล้วหยุดเป็นพักๆ ซ้ำร้ายบางทียังเคลื่อนทวนกระแสโลกอีกด้วย
“ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาของรัฐบาล เป็นการเอาของหมดอายุล้าสมัยมาใส่กล่องใหม่ แล้วหลอกขายประชาชน เป็นความพยายามทำแอปฯ ให้สมาร์ทโฟนสามารถส่งโทรเลข และส่งนกพิราบสื่อสารได้ ลูบหน้าปะจมูก”
เราจะยอมรับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นเพียงการเอาสีที่สดใส มาทาลงบนกะลาใบเก่าให้ดูใหม่ได้อย่างไร นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมไม่อาจยอมรับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่เสแสร้งแกล้งทันสมัย ฉบับนี้ได้จริงๆ