free geoip

ชำแหละรายงาน กสม. ปกป้องสิทธิประชาชนน้อยไป ข้อเท็จจริง ‘ขบวนเสด็จ’ ผิดพลาด


ชำแหละรายงาน ‘คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ สะท้อน ปกป้องสิทธิประชาชนน้อยเกินไป ช้าเกินไป และยังมีข้อเท็จจริงกรณี ‘ขบวนเสด็จ’ ที่ผิดพลาด


ก่อนปิดสมัยประชุมสภาเพียง 2 วัน มีอีกหนึ่งในวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้สภารับทราบ ซึ่งสำคัญต่อสถานการณ์ขณะนี้และชวนจับตาอย่างยิ่ง นั่นคือ รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 และรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทย ที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ในวาระนี้มีหลายประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า มีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนน้อยเกินไป แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการมีท่าทีเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์การเมืองในลักษณะอันเป็นการขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างน่าสนใจ ไปติดตามกันว่า พรรคก้าวไกลมีทัศนะอย่างรายต่อรายงานทั้งสองฉบับนี้อย่างไรบ้าง




ณัฐวุฒิ บัวประทุม

รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 กล่าวถึงจำนวนที่รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา 465 กรณี แต่ปรากฏว่าจำนวนสุดท้ายที่รับไว้ตรวจสอบมีเพียงแค่ 94 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 20.21 เท่านั้น เท่ากับว่า 79.76 ไม่ได้ตรวจสอบ การที่ประชาชนรู้สิทธิของเขาและรู้สึกว่าถูกละเมิดจึงร้องเข้ามาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิ แต่จำนวนนี้กำลังบอกหรือไม่ว่า ไม่ต้องร้องเข้ามาเยอะ เพราะเยอะก็ไม่ทำ หรือว่าเรื่องที่ร้องมาไม่เข้าเงื่อนไขจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะไม่ว่าใครที่รู้สึกว่าโดนละเมิดสิทธิจะต้องคณะกรรมการสิทธิฯ แต่เรื่องนี้ไม่มีรายละเอียดถึงการให้เหตุผลในรายงาน

ในปี 2563 คณะกรรมสิทธิฯยังได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง มีแถลงการณ์สื่อสารไปยังชุมนุมและนิสิตนักศึกษา 6 ฉบับ โดยฉบับที่มีปัญหาอย่างยิ่งลงวันที่ 20 ส.ค. 63 ว่า


“บัดนี้ กสม. มีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการพูด แสดงท่าทาง หรือกระทำโดยวิธีการอื่น ที่ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือจาบจ้วง หรือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น ขอให้ผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่มีความชัดเจน มีเหตุผลที่อธิบายได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่ผูกขาดความถูกต้องสมควรแต่ฝ่ายเดียว และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

คณะกรรมการสิทธิฯ คิดว่าเป็นศาลหรือสูงว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือ จึงไปตัดสินได้ว่าข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุมชัดเจนหรือไม่ชัดเจน อะไรไม่เลื่อนลอย อะไรไม่ผูกขาดความถูกต้อง คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่สามารถตัดสินใครได้ใครว่าถูกหรือไม่ถูก ดังนั้น จึงฝากไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ซึ่งเป็นชุดใหม่ มีทั้งอดีตนักการทูต อดีตเจ้าหน้าที่จากกรมคุ้มครองสิทธิฯ และอดีต NGOs ขอให้ออกแถลงการณ์เพื่อถอนแถลงการณ์ฉบับนี้ และต้องการถามว่า แถลงการณ์นี้ใครในคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นผู้เขียน

สำหรับ ‘รายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทย’ เขียนถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ชัดเจน แต่เรื่องไม่มีคือ การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“เดิมเราอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้สึกว่ามีปัญหา แต่พอได้เจอการอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้กับตัวเองในช่วงสถานการณ์โควิดจึงเข้าใจหัวอกประชาชนที่ชายแดนใต้มากขึ้น เข้าใจว่ามีการต่ออายุการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ชายแดนใต้มาแล้วกว่า 60 ครั้ง ซึ่งเกินเลยความจำเป็น แต่ไม่มีรายละเอียดมากพอในการให้เหตุผล เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน เรื่องการตรวจและเก็บ DNA ประชาชนในพื้นที่โดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ ในรายงานบอกแค่ว่าภาคประชาชนไม่สบายใจ ท่าทีเท่านี้ไม่เพียงพอ คณะกรรมการสิทธิฯ จำเป็นต้องสะท้อนอย่างชัดเจนและชัดแจ้งว่า การตรวจเก็บ DNA ประชาชนที่จังหวัดชายแดนใต้รวมถึงในการคัดเลือกพลทหาร คือการละเมิดและกำลังใช้จังหวัดชายแดนใต้เป็นสนามทดลองมนุษย์ ไม่ว่าเก็บ DNA และอัตลักษณ์ใบหน้า ซึ่งต่อไปก็คงจะถูกนำมาใช้กับพวกเราต่อไปในอนาคตด้วย”

ต่อมา กรณีการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเปราะบางและสิทธิเด็ก ที่ใส่ในรายงานมีเพียงไม่กี่ร้อยคน แต่อะไรที่ไม่เป็นจริงอย่านำมาใส่ในรายงาน เพราะลำพังตนคนเดียวในปีที่ผ่านมาก็ได้รับเรื่องการละเมิดและเข้าช่วยเหลือเด็กที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นร้อยกรณีแล้ว ถ้าประเมินอย่างจริงจังต้องประเมินภาพที่กว้างกว่านี้ ไม่ใช่แค่กรณีที่มีรายงานในโรงพยาบาล คณะกรรมการสิทธิเคยทราบบ้างหรือไม่ว่า มีรายงานที่ระบุข้อมูลว่า “ในประเทศไทย มีเด็กประมาณ 2.3 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือในทุกมิติ แต่กลับไม่ปรากฏเรื่องนี้ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

“อีกประการหนึ่ง คือสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตกต่ำอย่างยิ่ง คนที่ไม่ควรออกหมายเรียกก็ออก คนที่ไม่ควรถูกออกหมายจับก็ออกหมายจับ คนที่ควรได้รับการประกันตัวก็ไม่ให้ คนที่ควรได้รับการใช้กฎหมายเป็นการเฉพาะก็ไม่ทำ กลับพบว่ามีเด็กๆ หลายคนที่ถูกจับกุมจากชุมนุมจำนวนมาก ทั้งยังใช้กฎหมายแบบมั่วไปหมด รับปฏิญญาระหว่างประเทศมามากมาย แต่ปรากฏว่าไม่ได้ใช้และไม่ถูกเขียนในรายงาน มาตรฐานการประเมินกระบวนการยุติธรรมที่ตกต่ำ เป็นตั้งแต่ต้นทางคือตำรวจไปถึงปลายทางคือราชทัณฑ์ ในปีถัดไปจะต้องเขียนไปตามข้อเท็จจริงที่เป็นจริง”





พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ

ในเรื่องการประเมินประสิทธิภาพ อยากถามว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานนี้แล้ว คณะรัฐมนตรีได้ปรับปรุงแก้ไขอะไรไปตามรายงานบ้างหรือไม่ และคณะกรรมการสิทธิฯได้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอะไรไปแล้วในการติดตามบ้าง ประการต่อมา ประสิทธิภาพที่มีตั้งค่าเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 90 แต่ผลตามรายงานได้มาร้อย 80.39 ความสำเร็จที่หายไปคืออะไร ไม่มีรายละเอียด

“เรื่องความร่วมมือกับพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศที่ระบุว่ายังด้อย ใช่หรือไม่ว่ายังติดหนี้เรื่องการซ้อมทรมานและบุคคลสูญหายในประเทศไทย รัฐไม่เอาใจใส่เรื่องนี้และท่านจึงไม่สามารถทำให้รัฐแก้ปัญหานี้ได้ ประเด็นนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้ท่านระบุว่ายังด้อยในการร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศ”

สำหรับ ‘รายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทย’ ต่อกรณีขบวนเสด็จ สภาเองได้ดองญัตติด่วนที่ตนเสนอไป และรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เขียนข้อเท็จจริงผิดพลาดตามรายงานของรัฐบาล 

ประเด็นนี้เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิฯ อย่างไร?

ในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปรากฏอยู่ในรายงาน แต่เหตุการณ์นั้นอุบัติขึ้นอย่างมีนัย และถ้ามีจริงก็แสดงถึง ‘ใครสั่ง-ใครวางแผน’ เพราะมีความผิดปกติ หลังเหตุการณ์มีการจับกุมเยาวชน 4 คน พร้อมกับผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนไปดำเนินคดี มีการลงโทษทางวินัยโดยย้ายตำรวจระดับนายพล แต่ปัจจุบันย้ายมาแล้วและได้ดิบได้ดีเป็นผู้บัญชาการไปแล้ว 1 คน

ความสงสัยที่เกิดขึ้นมี 3 ประเด็นที่ขัดแย้งต่อรายงานฉบับนี้

  1. สถานการณ์มิเคยเกิดเช่นนี้มาก่อน เป็นสถานการณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาหรือไม่ และใครร่วมกันทำ แต่ไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมได้ แต่ตั้งใจให้เกิด
  2. รูปแบบที่จัดการของรัฐบาลมีพิรุธเป็นจุดๆ แล้วมานำเขียนในรายงานฉบับนี้อย่างผิดพลาดมากมาย เพราะพบการปรากฏตัวของผู้ที่ปฏิบัติการหลายคนที่ไม่ควรอยู่ที่นั่น หลายคนมีการควบคุม หลายคนทำหน้าที่รับคำสั่ง รูปแบบของการทำงานยังผิดเพี้ยนจากแนวปฏิบัติในการดูแลขบวนเสด็จ คณะกรรมการสิทธิฯ จึงควรจะไปศึกษาดูว่า แนวปฏิบัติเรื่องนี้มีรูปแบบอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนในการทำงาน
  3. เจตนาพิเศษที่มีเหตุจูงใจเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และการกระทำของบุคคลที่อยู่เหตุการณ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

“สิ่งที่คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องศึกษา คือ ร่างประกาศที่ยกฐานะจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง วันที่ 15 ตุลาคม ประกาศตอนตี 1 ประกาศใช้ตอนตี 4 ถามว่าเขียนเมื่อไหร่ เขียนบนดราฟท์ของเครื่องเจ้าหน้าที่คนที่พิมพ์ที่อยู่กองราชกิจจาฯ พิมพ์ในเอกสารนั้นเมื่อไหร่ ถ้าก่อน 16.00 น. หมายความว่าอะไร มันเป็นคำตอบ เพราะว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มีรูปแบบที่จะเกิดขึ้นก่อนเวลา 14.00-16.00 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่มันไม่เกิดที่นั่น มันไปเกิดที่อื่น เพราะมีการบิดและเลื่อนของเวลา แต่มีความพยายามจะให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นโอกาสในการประกาศยกระดับจากความฉุกเฉินธรรมดาเป็นร้ายแรง เพื่อใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มาตรา17

“ถ้าญัตติด่วนนี้ได้เข้าในสภา ผมมีพยานหลักฐานเป็นมิติๆ มีพยานบุคคลเอาจากในที่เกิดเหตุแน่นอน มีพยานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกล้อง มีไลฟ์ มีวงจรปิด มีไทม์ไลน์ของเครื่องมือ แม้กระทั่งพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง การประชุมก่อนมีเหตุการณ์นี้ 1 เดือนที่หน่วยจะต้องมาประชุมและจะต้องมีการสื่อสารทางวิทยุว่าวิทยุจะต้องสั่งอย่างไร จนกระทั่งมีการสื่อสารทั้งระบบ มันจะเห็นได้ว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวในครั้งนี้ผิดเพี้ยน ไม่ถูกต้องตามแบบฉบับที่เป็นรากเหง้าของเดิม”





สุเทพ อู่อ้น

ความลำบากของผู้ใช้แรงงานมีทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับแรงงานในระบบมีการจ้างงานที่ลิดรอนสิทธิของแรงงานและตกหล่นจากการดูแลของคณะกรรมการสิทธิฯ ขณะที่แรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคมอีกมหาศาล หากพูดด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนก็คือยังมี แรงงานอีกกว่า 20 ล้านคนเข้าไม่ถึงสิทธิคุ้มครอง ขาดความมั่นคงหรือไม่มีบำนาญเพื่อดูแลตัวเองในอนาคต

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอีกมุมหนึ่งคือการละเมิดแรงงานในแคมป์ คำสั่งปิดแคมป์ของ ศบค. ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิอย่างมหาศาล ทั้งถูกปิดไม่ให้ออกไปไหนได้หรือในส่วนที่อพยพกลับบ้านก็ไม่มีเงินเยียวยาให้ อีกส่วนคือแรงงานข้ามชาติ นอกจากแคมป์ถูกปิด พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและการตรวจหาเชื้อ รวมถึงการเยียวยาที่ตกหล่น จึงขอสื่อผ่านคณะกรรมการสิทธิฯให้ช่วยไปตรวจสอบดูแลแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือยังมีคนท้องและเด็กที่ได้รับความลำบากจากมาตรการเหล่านี้ของรัฐด้วย





ปดิพัทธ์ สันติภาดา

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2563 – 2564 ไม่ได้ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลไม่ฟังข้อเสนอเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุม ไม่แยกผู้ชุมนุมที่เห็นต่างกันออกจากกัน แต่ปล่อยให้เผชิญหน้ากันในระยะใกล้ชิดโดยให้ปะทะเพื่อหาเหตุใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือทำรัฐประหารใช่หรือไม่

“คฝ. ยังใช้อำนาจผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้แทบไม่ต้องรับผิดชอบผลจากการปฏิบัติหน้าที่อะไรเลย ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วน ไม่เป็นไปตามหลักสากล ใช้กระสุนยางยิงเหนือลำตัว ไม่ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่กลับเป็นการเพิ่มความกดดันและความแค้นจนเขาบอกว่าเขากลายเป็นศัตรูกับรัฐโดยถาวรแล้ว คำถามคือถ้ารัฐยังละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนสถานการณ์ก็จะรุนแรงขึ้น จึงคาดหวังว่าคณะกรรมการสิทธิฯชุดนี้จะมีข้อเสนอที่แข็งแรงต่อรัฐมากขึ้น เพราะตอนนี้กฎหมายไม่เป็นกฎหมายแล้ว”

ในเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ขณะนี้แย่ลงกว่าหลังการรัฐประหารเสียอีก มีการจับกุมนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ชุมนุม มีพยายามใช้คำสั่งคณะรัฐมนตรีเพื่อปิดสถานีโทรทัศน์และแพลตฟอร์มออนไลน์ เพียงแต่ถูกต่อต้านและศาลสั่งให้ยกเลิกไปเสียก่อน การออก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่ระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่กระทบความมั่นคงถูกจำคุก 10 ปี แต่คำถามคือ อะไรคือความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ถูกตีความว่าเป็นความมั่นคงของระบอบประยุทธ์ไปแล้ว การตรวจสอบเรื่องวัคซีนคนตรวจสอบยังโดนคดีด้วยมาตรา 112 ตอนนี้เสรีภาพสื่อและประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤต จากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อจากองค์กรนานาชาติให้อยู่ที่ 137 จาก 140 ประเทศ เป็นเรื่องวิกฤต เป็นการบ้านที่ต้องแก้ไข

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า