free geoip

เปิดต่างชาติซื้อบ้าน “ไม่ช่วยอะไร” ถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงย่ำแย่


เปิดทางต่างชาติซื้อบ้าน ไม่ช่วยเศรษฐกิจไทย ซ้ำยังถ่างความเหลื่อมล้ำ! ศิริกัญญาชี้ ประเทศไทยไม่ขาดเงินลงทุน แต่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติการจัดทำ ‘วีซ่าระยะยาว’ ให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสิทธิประโยชน์ของวีซ่า ซึ่งรวมถึงการถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรร โดยศิริกัญญามองว่า มาตรการเหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยมาก และเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ศิริกัญญา ระบุว่า โครงการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีความพยายามจะออกวีซ่านักลงทุน และบัตร Thailand Elite Privilege Card เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาอาศัย ท่องเที่ยวและลงทุนในไทยมากขึ้น และต่างประเทศก็มีนโยบายคล้ายกัน เช่น Golden Visa ของยุโรปดึงดูดชาวต่างชาติที่มีมูลค่าสูงเข้าไป แต่จากการวิจัยพบว่า หลายประเทศมักออกวีซ่าประเภทนี้ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่วีซ่าเหล่านี้กลับมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือแม้แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์น้อยมาก

งงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการ Journal of Ethnic and Migration Studies ระบุว่า วีซ่าเหล่านี้มีผลต่อจีดีพีไม่เกิน 0.3% เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นเพียงไม่ถึง 5% ของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น ยกเว้นกรีซ ซึ่งมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายใต้โครงการ Golden Visa เป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมดในปี 2561
[อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/1369183X.2021.1915755 ]


แก้ปัญหาระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว

ศิริกัญญา อธิบายว่า ปัจจุบัน กฎหมายไทยก็อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ 49% อยู่แล้ว หากจะแก้ไขกฎหมายเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 70-80% ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ควรเป็นโครงการระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาซัพพลายคอนโดที่ล้นเกิน ในช่วงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทยก็มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด มีการสร้างคอนโดขึ้นมามาก จนเริ่มขายไม่ออก

มีการประเมินว่ายังเหลืออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างมาแล้วยังขายไม่ออกอยู่ราว 2 แสนยูนิต ซึ่งหากมีการเปิดทางให้ชาวต่างชาติซื้อได้มากขึ้น ก็จะช่วยระบายสต็อกออกไปได้ในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าระดับบน จากนั้นก็ควรยุติโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ เรายังต้องดูรายละเอียดว่าจะแก้กฎหมายอย่างไร เช่น ให้ต่างชาติซื้อบ้านในหมู่บ้านได้กี่เปอร์เซ็นต์ ถือกรรมสิทธิ์ได้กี่เปอร์เซ็นต์ กำหนดระยะเวลาการถือครองว่าต้องถือกี่ปีก่อนจะขายต่อ และกำหนดว่าการขายต่อจะต้องขายคืนให้พลเมืองไทยเท่านั้นหรือไม่

ศิริกัญญามองว่า มาตรการเปิดทางให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านในไทยเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” และเป็นการ “หวังน้ำบ่อหน้า” เกินไป เพราะงานวิจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็ระบุไว้ว่า โครงการนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก และปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การไม่มีเงินลงทุน แต่อยู่ที่คนไม่มั่นใจจะลงทุนในช่วงที่รัฐบาลนี้บริหาร

“ปัจจุบัน ไทยไม่ได้ขาดเม็ดเงินลงทุน ประชาชนยังมีสภาพคล่อง คนยังมีเงินเก็บ และหลายคนมีเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ที่การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง เป็นเพราะต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทยมองไม่เห็นโอกาสในการลงทุนในไทย จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ไม่แข็งแรง”

ศิริกัญญาระบุ


การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรทำให้คนรายได้กลาง-น้อยมีบ้าน

ด้าน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ให้ความเห็นว่า การเปิดให้ต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์บางประเภทในประเทศไทยอาจไม่กระทบกับความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินโดยตรง แต่อาจกระทบกับการเข้าถึงบ้านของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการเพิ่มความต้องการในบ้านระดับบน ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการลงมาจับตลาดบ้านสำหรับผู้มีรายได้กลาง-น้อย

“เราจึงเห็นข้อมูลว่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น ต่ำกว่า 500,000 บาท ไม่มีธุรกิจที่จับกลุ่มนี้ ทำให้ตลาดอสังหาฯ เอียงไปทางผู้มีรายได้สูง”

“ตัวเลขเราเห็นว่า ดัชนีราคาอาคารชุดและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าดัชนีค่าจ้างแรงงาน ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยคึกคักในตลาดบน ส่วนตลาดผู้มีรายได้น้อยถูกละเลยมากขึ้น”

เดชรัต เสนอว่า นอกจากกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับบนแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยให้ผู้มีรายได้กลาง-น้อยเข้าถึงบ้านได้จะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตที่ตอบโจทย์มากกว่า

“เรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย อย่างแรกคือ การช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่ดินในทำเลที่เดินทางสะดวก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีรถส่วนตัว โดยอาจกำหนดในผังเมืองหรือปลดล็อกที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการบังคับหรือจูงใจให้ผู้ประกอบการผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำตลาดบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย และสุดท้าย รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านดอกเบี้ยบ้านของประชาชนที่เป็นภาระสำคัญในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยอัตราที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรต้องอยู่ที่ ร้อยละ 2-3 เท่านั้น”

เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า