‘ปกรณ์วุฒิ’ อัด รมว.ดิจิทัลฯ ไม่คุ้มครองประชาชน หลังข้อมูลหลุดซ้ำซาก
‘ปกรณ์วุฒิ’ ส.ส. พรรคก้าวไกล อัด รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้เข้ามารับตำแหน่ง เพื่อรับใช้ประชาชน หลังไม่กระตือรือร้นแก้ปัญหาข้อมูลหลุดหลายครั้ง ทั้งข้อมูลคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมตั้งคำถามว่ากระทรวงดิจิทัลฯ เข้าใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แบบไหน
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ต่อกรณีที่เว็บไซต์ Comparitech บริษัทวิจัยด้านความปลอดภัยไซเบอร์ รายงานว่า มีข้อมูลส่วนตัวของผู้เดินทางต่างประเทศที่มาไทยกว่า 106 ล้านคน หลุดรั่วไปเปิดเผยทางอินเตอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์มืดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนที่อาศัยอยู่ไทยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เพราะเว็บไซต์ของรัฐบาลกำหนดให้ชาวต่างชาติลงทะเบียนฉีดวัคซีน และต้องใส่หมายเลขพาสปอร์ตมาตั้งแต่มิถุนายนที่ผ่านมา
“ในกรณีล่าสุดที่เป็นข้อมูลนักท่องเที่ยวนั้น ผมเห็นว่าทางหน่วยงานก็จำเป็นจะต้องแจ้งไปยังประเทศต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ที่เคยเดินทางมาประเทศไทยได้ระวังมิจฉาชีพที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้หลอกลวง เจ้าของข้อมูลและสาธารณะ จึงควรจะได้รับรู้เรื่องดังกล่าวจากทางการที่ต้องชี้แจงอย่างทันท่วงที มิใช่รับรู้ทางหน้าสื่อหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเกือบเดือน”
ปกรณ์วุฒิย้ำว่า ตนเคยกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วว่า กระทรวงดิจิทัลฯ พยายามควบคุมการเข้าถึงข้อมูล เอาผิดประชาชน รวมถึงพยายามสอดส่องการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชน โดยใช้ข้ออ้างว่า มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่กลับใช้อำนาจตนเอง ในการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการคุ้มครองประชาชนอย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกไป เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องทำหน้าที่เหล่านั้น
“พฤติกรรมที่ผ่านมาและคำชี้แจงในสภาของรัฐมนตรี ผมก็คงไม่สามารถเห็นเป็นอื่นไปได้ นอกจาก ภารกิจของรัฐมนตรีคนนี้นั้น ไม่ได้เข้ามารับตำแหน่งเพื่อทำงานให้กับ ‘ประชาชน’ ”
รัฐต้องมองเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ใหม่ เพื่อแก้ข้อมูลหลุดซ้ำซาก
ปกรณ์วุฒิ แสดงความกังวลต่อกรณีที่ข้อมูลหลุดจากหน่วยงานรัฐบ่อยครั้งว่า ข้อมูลต่างๆ อาจถูกนำไปใช้โดยมิจฉาชีพ ยกตัวอย่างกรณีข้อมูลคนไข้ หากมีมิจฉาชีพโทรไปหาเจ้าของข้อมูล บอกชื่อนามสกุล โรคที่เป็น ชื่อหมอที่คนไข้เคยไปพบ หากคนไข้ไม่รู้ว่ามีข้อมูลรั่วไหล และหลงเชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลโทรมา ก็สามารถเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพสามารถหลอกลวงเจ้าของข้อมูลได้ และการหลอกลวงเหล่านี้ มาได้ทั้งช่องทางออฟไลน์ และ ออนไลน์ การแจ้งให้เจ้าของข้อมูลรับทราบ ก็จะทำให้เจ้าของข้อมูลระมัดระวังตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ การแถลงชี้แจงจากหน่วยงานต้นทางว่า “ข้อมูลที่หลุดไปนั้น เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลลับ” ซึ่งเป็นการสื่อสารที่พยายามจะบอกว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ซึ่ง ปกรณ์วุฒิ คิดว่าเป็นทัศนคติที่มีปัญหา และ ไม่มีความเข้าใจในความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลเลย เพราะไม่ควรจะมีข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่ถูกนิยามว่า ไม่มีความสำคัญ ข้อมูลทุกอย่างล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ลำพังแค่ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร และแหล่งที่มาของข้อมูล ก็เพียงพอที่จะสามารถถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้แล้ว ผมจึงหวังว่า จะไม่มีการแถลง ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจถึงความปลอดภัยของประชาชนต่อข้อมูลที่รั่วไหลออกไปเช่นนี้อีก
พรรคก้าวไกล เคยให้ข้อเสนอแนะวิธีการออกแบบระบบความปลอดภัยและการเก็บข้อมูลที่แน่นหนาและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปแล้ว แทนการทดสอบระบบเป็นรายหน่วยงาน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากรและเวลาเป็นจำนวนมาก รวมถึงการทำระบบใหม่เป็นรายหน่วยงาน ก็ใช้ต้นทุนจากงบประมาณที่มหาศาล รวมถึงบุคลากรที่ต้องดูแล และค่าบำรุงรักษาระยะยาวที่จะตามมา แต่หน่วยงานต่างๆ กลับมีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงกระทรวงดิจิทัลฯ เองด้วย
“ส.ส.เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ได้เข้าร่วมประชุม ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า จริงๆ แล้ว หากมีการออกแบบระบบความปลอดภัยและการเก็บข้อมูล จากส่วนกลางที่ดีเพียงพอ ซึ่งเนื้อหาออาจจะเป็นข้อเสนอแนะเชิงเทคนิคที่ลึกหน่อย แต่อธิบายคร่าวๆคือ เป็นการออกแบบระบบ ที่หากมีการเจาะเข้าระบบของที่ใดที่หนึ่ง ก็จะไม่สามารถได้ชุดข้อมูลออกไปได้ และการดูแลความปลอดภัยที่แน่นหนาก็ทำจากส่วนกลางเพียงที่เดียว ก็จะทำให้มีความปลอดภัย และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป”
ปกรณ์วุฒิ กล่าว
“ซึ่งจากการพูดคุยในกรรมาธิการ สิ่งที่ผมรับรู้ได้คือ ยังขาดการพูดคุยระหว่างหน่วยงานอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เพราะแต่ละหน่วยงานดูจะมีความเข้าใจไปในคนละทิศละทาง ซึ่งก็เป็นคำถามว่า รัฐบาลนี้รวมถึงกระทรวงดิจิทัลในปัจจุบันนั้น ให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในมิติใดกันแน่”