free geoip

พิธาลุยพื้นที่น้ำท่วมต่อเนื่องชัยภูมิ : “เลิกบริหารแบบหน้าแล้งขนน้ำไปหาคน หน้าฝนขนคนหนีน้ำ”


พิธาลุยลงพื้นที่น้ำท่วมต่อเนื่องชัยภูมิ ถกว่าที่ผู้สมัครฯทั้งจังหวัดถึงการจัดการน้ำและรับมือภัยพิบัติที่ยั่งยืน ไม่บริหารแบบ “หน้าแล้งขนน้ำไปหาคน หน้าฝนขนคนหนีน้ำ”

วันที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม องค์การ ชัยบุตร และ สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ชัยภูมิ เขต 1 พรรคก้าวไกลลงพื้นที่ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ และชุมชนโนนสมอ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

หัวหน้าพรรคกล่าวให้กำลังใจกับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่าสถานการณ์ฝนตกในเดือนกันยายนที่ชัยภูมิสูงกว่าปีที่แล้วในทุกอำเภอ สถานการณ์อ่างเก็บน้ำล้นทุกแห่ง ประกอบกับฝนตกหนักอย่างเฉียบพลันในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ระดับน้ำในอ่างที่ชัยภูมิเพิ่มขึ้นเกือบทุกอ่าง โดยข้อมูลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของ Gistda เช้าวันนี้พบว่ามีพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ น้ำท่วมกว่า 68,324 ไร่ และทั้งจังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่น้ำท่วมแล้วกว่า 228,840 ไร่

แม้หลายพื้นที่หนักสุดในรอบหลายสิบปีหรือในชั่วชีวิตคน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภาพรวมประเทศไทยนั้นยังไม่หนักเท่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันหลายประการ แต่ก็ขอให้รัฐบาลไม่ประมาทในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ รวมทั้งการแจ้งเตือนข่าวสารไปยังประชาชนด้วย

ทางด้าน นัฏฐิกา โล่ห์วีระ กล่าวว่าตอนนี้สถานการณ์น้ำในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิมีปริมาณเพิ่มขึ้น มีฝนตกต่อเนื่อง ประชาชนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ อยากเรียกร้องให้รัฐเข้าช่วยเหลือโดยด่วน โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลขาดกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่า ตนมีแนวคิดที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากในจังหวัดชัยภูมิและภาคอีสานอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การช่วยเหลือเฉพาะหน้าปีต่อปีอีกต่อไป


ส่วนวันที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.องค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, อดิศักดิ์ สมบัติคำ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดมหาสารคาม ประชุมร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตจังหวัดชัยภูมิทั้ง 6 เขต ได้แก่ นัฏฐิกา โล่ห์วีระ เขต 1, ปภาวินท์ ยวงทอง เขต 2, เกรียงไกร จันกกผึ้ง เขต 3, พิมพ์กาญจน์ ภานุรักษ์ เขต 4, อรนุช ผลภิญโญ เขต 5 และกิตติธัช คำวงษ์ เขต 6

พิธากล่าวว่า ตนเร่งตัดสินใจหักเลี้ยวเข้ามาจังหวัดชัยภูมิจากการเดินทางในภาคอีสานหลายจังหวัด เนื่องจากเป็นห่วงประชาชนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชัยภูมิ และกล่าวกับผู้สมัครของพรรคก้าวไกลในจังหวัดชัยภูมิทั้ง 6 เขตว่าตนรู้สึกว่าเราไม่สามารถรอรัฐบาลได้ ผู้สมัครของเราแต่ละเขตต้องติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนเท่าที่ทำได้ สิ่งที่เราต่างจากพรรคอื่นก็ต้องแจกของอย่างวิถีก้าวไกล เราต้องไม่ใช่แจกแค่ถุงยังชีพแบบทั่วไป เราต้องแจกของอย่างมียุทธศาสตร์ที่โอบรับความหลากหลายในวิถีก้าวไกลเพิ่มเติมด้วย เราต้องเข้าดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก นมสำหรับเด็กอ่อน ผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ของใช้และสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

พิธายังได้เน้นย้ำคณะทำงานของพรรคก้าวไกล ผู้สมัคร ส.ส. ในจังหวัดชัยภูมิให้เตรียมตัวล่วงหน้า ทำงานแบบบูรณาการทั้งพรรค ทั้งในจังหวัด ทั้งในภาคอีสาน เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่าเส้นทางน้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ไหนต่อ ไหลไปท่วมจังหวัดใดต่อ ทีมงานผู้สมัครในจังหวัดแต่ละเขตต้องติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งข้อมูล แบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน เพื่อจะดูแลพี่น้องประชาชนได้ทั่วถึงที่สุด

รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้งบประมาณจัดการน้ำไปแล้วประมาณ 500,000 ล้าน หรือ ปีละ 80,000 ล้าน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ ดังนั้นอยากให้ทีมงานทุกท่านที่อาสาเข้ามาทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนในนามพรรคก้าวไกลตระหนักว่า เรื่องงบประมาณในการจัดการน้ำไม่สำคัญเท่าวิสัยทัศน์ ความเข้าใจในปัญหา การบริหารจัดการและการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างบูรณาการ งบประมาณชัยภูมิ 3,048 ล้านบาทในปีนี้ แต่เราเห็นอะไรบ้าง ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ไม่มีการเตรียมตัวอย่างเป็นระบบ ทั้ง ๆ ที่เราต่างรู้อยู่ว่าฝนและพายุเกิดขึ้นในช่วงนี้ของปีทุกๆ ปี

น้ำท่วมต้องคิดเป็นระบบ ไม่ใช่แจกถุงยังชีพเป็นอย่างเดียว สิ่งที่เราควรตรวจสอบในเวลาที่ยังไม่เผชิญเหตุการณ์น้ำท่วม ในฤดูแล้งคือ มีการก่อสร้างใดบ้างที่ผิดจากที่ผังเมืองกำหนดไว้ มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนรุกล้ำขวางทางหรือไม่ มีนายทุน มีผู้มีอิทธิพลถมดินขวางทางน้ำ ในพื้นที่รับน้ำหรือไม่ ระบบพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนที่แม่นยำทันสมัย เทคโนโลยีเหล่านี้รัฐบาลมีทุกอย่างอยู่ในมือ จะทำอย่างไรให้เกิดการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบและเตรียมตัวรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที คิดให้ครบ ก่อนท่วมเตรียมตัวอย่างไร ระหว่างท่วมจะดูแลกันอย่างไรอย่างไร หลังท่วมฟื้นฟูจะฟื้นฟูเยียวยากันอย่างไร แต่ตอนนี้ที่เราทำได้คือ ระหว่างท่วมเราควรจัดหาทั้งมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด ไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ไม่โดนน้ำท่วม แต่ต้องปลอดภัยในเรื่องสุขภาพและอนามัยด้วย และจากนี้หลังท่วม ไม่เพียงแจกถุงยังชีพแล้วหายไปเลย ต้องช่วยชาวบ้านให้เข้าถึงการเยียวยา ฟื้นฟูจากภาครัฐอย่างเป็นธรรมด้วย

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำว่า ในการจัดการน้ำแบบใหม่ เทคโนโลยีอย่างเช่นเขื่อนมันอาจจะโบราณไปแล้ว เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปการสร้างเขื่อนอาจไม่ตรงกับจุดที่มีฝนตกชุก และรัฐควรคำนึงเสมอว่าการบริหารจัดการน้ำที่ดีต้องรบกวนดุลน้ำให้น้อยที่สุดและ ถ้าหากจำเป็นจะต้องสร้างเขื่อนจริงๆ ต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสม ประชาชนมีส่วนร่วมและให้ความยอมรับ ต้องสร้างปัญหากับประชาชนน้อยที่สุด

“เราไม่ต้องการการบริหารแบบ หน้าแล้งขนน้ำไปหาคน หน้าฝนขนคนหนีน้ำ ในภาคอีสานต้องไม่เป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

พิธากล่าว

หลังจากนั้นในเวลา 11.00 น. ทีมก้าวไกลทั้งหมดร่วมเดินทางไปยังหมู่ที่ 1 ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อมอบของบริโภคที่จำเป็น และให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า