ลดเคอร์ฟิวไม่ช่วยนักดนตรี-คนกลางคืน – ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะอยากคุมคน
คลายหลอกหรือคลายล็อก? โฆษก ‘ก้าวไกล’ ซัด คง ‘เคอร์ฟิว’ ยิ่งสร้างความแออัด โดยระบุว่า ขยายเวลาเพิ่ม ชม. เดียว ไม่ช่วยฟื้นชีวิตนักดนตรีและคนกลางคืน พร้อมเหน็บ ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน เพราะอยาก ‘ควบคุมคน’ มากกว่า ‘ควบคุมโรค’
สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดนครปฐม ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก 2 เดือน คลายล็อกกิจการเพิ่ม ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 – 04.00 น. โดยทดลองใช้เป็นเวลา 15 วัน ส่วนห้าง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ เปิดได้ถึง 21.00 น. แต่ยศูนย์แสดงสินค้า จัดประชุม ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ ยังไม่อนุญาต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า หากพิจารณาในรายละเอียดของสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนจะพบว่า แทบไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก เพียงแค่เพิ่มเวลาห้างและตลาดเปิดมาอีกชั่วโมงเท่านั้น
“สถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนต่างเร่งรีบไปใช้บริการก่อนสถานที่ต่างๆ ปิดอยู่แล้ว ข้อจำกัดของประชาชนส่วนใหญ่คือต้องไปในเวลาหลังเลิกงานเท่านั้น จึงทำให้เกิดความแออัดขึ้นจากเงื่อนไขของมาตรการรัฐเอง มาตรการแบบนี้เหมือนสั่งการมาจากห้องแอร์ แต่ไม่เคยลงมาเดินดูเดินเห็นการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจริงๆ เลย การขยายเพิ่มมา 1 ชั่วโมง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรจากที่เป็นอยู่มากนัก เขาต้องเสี่ยงไปซื้อของในช่วงเวลาที่มีคนมากๆ ด้วยเวลาที่เลือกไม่ได้ ต้องอัดตัวเองไปบนรถที่คนเต็มอยู่แล้ว เพื่อรีบกลับบ้านให้ทันเคอร์ฟิว แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยได้ฟังข้อมูลรองรับอย่างสมเหตุสมผลเลยว่าเคอร์ฟิวมีไว้ทำไม นอกจากเอาไว้จับประชาชนที่ออกมาชุมนุมต้านรัฐบาลเท่านั้น”
ส่วนมาตรการผ่อนคลายการเล่นดนตรีในร้านอาหารที่บอกว่าสามารถเปิดดำเนินการได้นั้น สุทธวรรณ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองก็เป็นนักดนตรี และมีเพื่อนฝูงในแวดวงนักดนตรีจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเล่นดนตรีในร้านอาหารช่วงที่ผ่านมา หลายคนสะท้อนว่าเป็นมาตรการที่มีข้อจำกัดจุกจิกเยอะมากจนเหมือนไม่อยากให้กลับมาทำงานเล่นดนตรีได้จริงๆ พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า นักดนตรียังคงถูกมองจากผู้ออกนโยบายเป็นผู้ร้ายของสถานการณ์โควิด-19 เสมอ มาตรการผ่อนคลายที่ออกมาจึงเหมือนเป็นเพียงแค่การทำเพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเลี่ยงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเยียวยาเท่านั้น
“นักดนตรีกลางคืนอยากเล่นดนตรีและหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังถูกจำกัดด้วยข้อบังคับที่ออกมาแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของนักดนตรี โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 3 คน ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้จริงยาก เนื่องจากการเล่นดนตรีชนิดวง หลายวงมีสมาชิกขั้นต่ำคือ 3 คน และอีกจำนวนมากที่มีสมาชิกมากกว่านั้น เมื่อต่างคนก็ประสบความยากลำบากมาด้วยกัน แล้วจะบอกให้เขาตัดสมาชิกบางคนออกไปได้อย่างไร การบังคับในเรื่องนี้อาจทำให้วงดนตรีขาดโอกาสในการรับงานจ้างไปด้วย”
“ส่วนการขยายเวลาเพิ่มอีก 1ชั่วโมง ยิ่งแทบไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักดนตรีหรือคนกลางคืนเลย ตั้งเครื่องเสร็จก็ต้องเตรียมเก็บวงทันทีเพราะร้านปิดสามทุ่ม ควรปรับเป็นไม่จำกัดจำนวนนักดนตรีแต่รักษาระยะห่าง และขยายเวลาของร้านต่างๆ ออกไปน่าจะเป็นออกที่ดีกว่า เพราะเวลาและจำนวนนักดนตรีไม่มีผลต่อการแพร่โรคระบาด หากใช้มาตรการ Covid Free Setting เป็นหลักปฏิบัติ น่าครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ จึงไม่เข้าใจว่ามาตรการผ่อนคลายแบบนี้ออกมาได้อย่างไร เป็นคลายล็อกหรือคลายหลอกกันแน่ ถ้าอยากช่วยเหลือก็อยากให้ออกมาตรการที่เข้าใจและจริงใจกับพวกเขามากกว่านี้”
สุทธวรรณ ยังให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การที่ ศบค. มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 2 เดือน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าจะยกเลิกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสับสนของรัฐบาล ด้านหนึ่งก็ต้องการเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับมาและต้องการลดเสียงด่าจากประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ห่วงความมั่นคงในอำนาจของตัวเอง การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่ได้อยู่บนเหตุผลของการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่คงไว้เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำต่อผู้ชุมนุม ซึ่งหลายครั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ปฏิบัติตามหลักการสลายการชุมนุมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ การประกาศแต่ละครั้งยังมองไม่เห็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคที่สามารถใช้กฎหมายอื่นแทนได้ แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเน้นอย่างยิ่งเฉพาะในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงอยากให้ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาเห็นถึงประชาชนภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังเดือดร้อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่บริหารตามสถานการณ์ความมั่นคงของตนเองเป็นเป้าหมายสำคัญ