‘มานพ’ รับหนังสือร้อง ก.ม.ลำดับรองที่ดิน-ป่าไม้ กลุ่มชาติพันธุ์เสี่ยงถูกไล่ออกจากป่า
‘มานพ’ รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องการออกกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 จากยุค สนช. ชี้ เป็นกฎหมายที่ไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน และอาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามายาวนาน ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่
มานพ คีรีภูวดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวหลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดลำพูน แพร่และน่าน เมื่อวันที่ 1-2 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ตนได้รับหนังสือจากพี่น้องประชาชน แสดงความกังวลใจต่อประเด็นการที่รัฐผลักดันการออกกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 และเสนอให้ทางผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ชะลอและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ออกมาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (คสช.) แม้ภาคประชาชนจะออกมารณรงค์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่กลับไม่เป็นผล ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 12 ฉบับ และวันที่ 7 กันยายน คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 จำนวน 4 ฉบับ
มานพ ระบุว่า ภาคประชาชนต้องการให้รัฐบาล ชะลอการออกกฎหมายลูก พร้อมทั้งให้แก้ไขกฎหมายแม่ (พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ) เนื่องจากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับที่ประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ ถูกปัดตกโดย สนช.
ร่าง พ.ร.บ. ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงว่า ชุมชนดั้งเดิมจะถูกสั่งให้อพยพออกจาพื้นที่ เนื่องจากการพิสูจน์สิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่ถูกบัญญัติใน ม.64 ของ พ.ร.บ.อุทยาน นั้น จะทำให้ชุมชนดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุกป่า อีกทั้งยังกีดกันคนหลายกลุ่ม เช่น คนที่ไม่มีบัตรประชาชน คนที่ถูกยึดที่ดินและดำเนินคดีจากการทำกินตามวิถีชุมชน คนเหล่านี้จะไม่มีสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อำนาจในการชี้ชะตาว่าให้พวกเขา “อยู่” หรือให้ “ออก” ถูกรวบไปอยู่กับอธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐ
มานพกล่าวอีกว่า ทรัพยากรที่ดิน เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงกับป่าไม้ มีวิถีวัฒนธรรมที่ถ้อยอาศัยธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมา ชุมชนในพื้นที่ป่าถูกรัฐเข้ามาจัดการด้วยความไม่เข้าใจ และมุ่งแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยไม่สนใจประชาชนที่เป็นชุมชนดั้งเดิม
“หากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน การหยุดฟังเสียงของประชาชน เพื่อเดินหน้าอย่างถูกทิศทางย่อมเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องพึงกระทำ หากรัฐนั้นมีไว้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”
มานพ กล่าวทิ้งท้าย