‘ทีมเฉพาะกิจฯ’ เยือน ‘สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ’ วางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทั้งระยะสั้น-ยาว
‘คณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำ’ ของพรรคก้าวไกล เดินทางไปยัง ‘สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ’ หรือ สสน. เพื่อรับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้ในภาพรวม โดยมี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรค นำทีม พร้อมด้วย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.เขตคลองสาน-เจริญนคร กรุงเทพฯ, ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 19 เขตสะพานสูงและแขวงประเวศ และ นิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.
เทคโนโลยีมี ข้อมูลพร้อม ปัญหาอยู่ที่ ‘วิสัยทัศน์ผู้นำ’
หลังรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็น สุรเชษฐ์ กล่าวชื่นชม สสน. ว่าเป็นหน่วยงานที่มีความทันสมัยและมีศักยภาพด้านน้ำลำดับต้นของประเทศ และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องมาพูดอีกว่า “ผมถามฟ้าไม่ได้!” หรือใช้การสวดมนต์ในการแก้ปัญหา
“การมารับฟังตรงนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า เรามีทั้งข้อมูลและเครื่องมือ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากก็คงคล้ายกับปัญหาอีกหลายอย่างในบ้านเมืองของเรา ซึ่งก็คือในหนึ่งปัญหาจะไปเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ทำให้อาจมีเรื่องข้อจำกัดเชิงอำนาจ ข้อจำกัดเชิงงบประมาณ ข้อจำกัดเชิงความร่วมมือ แต่สำคัญที่สุดอยู่ที่ ‘วิสัยทัศน์ผู้นำ’ ถ้ามีความสามารถในการมองเห็นปัญหาว่าติดตรงไหน ก็จะรู้ว่าควรแก้ไขหรือกำหนดทิศทางเพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหานั้นอย่างไร ไม่ใช่การอยู่ไปวันๆ ถ้าไม่รู้ ก็ต้องไปดูว่าหน่วยงานไหนรู้และแก้ไขจุดที่ติดขัดนี่คือสิ่งที่ผู้นำต้องรู้และจัดการ”
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วม ในระยะสั้น คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มาก เป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลเพื่อคาดการณ์พื้นที่รับผลกระทบล่วงหน้าในแต่ละช่วง สัปดาห์ก่อนเขื่อนป่าสักล้น ช่วงนี้สถานการณ์น้ำไหลลงมาหนักที่อยุธยา หลังจากนี้หมายความว่าต้องคาดการณ์ผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ซึ่งแบ่งน้ำออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ
น้ำเหนือ จากข้อมูลที่ได้รับพบว่าไม่น่าห่วง เพราะตลอด 8 เดือนก่อนหน้านี้ เราอยู่ในสถานการณ์น้ำแล้งมาโดยตลอด ทำให้ขณะนี้น้ำ 4 เขื่อนหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวมยังมีปริมาณน้ำที่ต่างจากมหาอุทกภัย ปี 54 ถึงครึ่งหนึ่ง สิ่งที่น่ากังวลต่อไปคือ จะวางแผนการระบายน้ำที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนตอนนี้ออกไปให้เร็วพร้อมกับหาวิธีกักเก็บน้ำให้พอเผื่อไปถึงหน้าแล้งปีหน้าได้อย่างไร เพราะหลังพ้นกลางเดือนตุลาคมนี้หรือหมดฝนชุดนี้ไปแล้ว คาดว่าฝนจะทิ้งช่วงยาวนานไปอีก 6 เดือนโดยที่น้ำในเขื่อนยังมีน้อย เป็นโจทย์ที่ต้องวางแผนกันต่อไป
“อำเภอบางบาลและใกล้เคียง ในพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ต่ำและเป็นทุ่งที่น้ำท่วมอยู่แล้ว นี่คือปกติของภูมิประเทศแถวนี้ หลังมหาอุทกภัยปี 54 มีการวางแผนในการใช้ทุ่งบางบาลซึ่งมีพื้นที่ผืนใหญ่เป็นพื้นที่รับน้ำในกรณีที่มีน้ำมากจะปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ โดยมีข้อตกลงกันว่าต้องให้เก็บเกี่ยวข้าวนาปีให้เสร็จสิ้นก่อน 15 ก.ย. จากนั้นจะทยอยปล่อยน้ำไปตามคลองและถ้าล้นก็ระบายเข้าทุ่ง ซึ่งน้ำทุ่งจะถูกเก็บไว้สำหรับทำนาปรังต่อไปได้ แม้จะเข้าสู่ช่วงแล้ง
“แต่หลังจากปี 60 เป็นต้นมา พื้นที่นี้แล้งต่อเนื่อง เมื่อไม่ต้องรับน้ำก็อาจกลายเป็นความชินที่มีการทำนาปรังต่อทันที เมื่อน้ำมาจึงเกิดการต่อรองกัน กลุ่มหนึ่งบอกให้ชะลอการนำน้ำเข้าทุ่ง แต่ส่วนที่ท่วมบ้านเรือนก็อยากให้เร่งระบายซึ่งก็คือบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนตอนนี้ แม้ตรงนี้จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่าการนำน้ำเข้าทุ่งเป็นแผนที่มีการทำข้อตกลงไว้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องไปตามต่อคือมีเรื่องความไม่ยินยอมพร้อมใจหรือไม่ มีความเรื่องความกังวลเรื่องค่าชดเชยหรือไม่ หรือไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าเรากำลังเจอกับปัญหาการขาดน้ำแน่ในปีหน้าหรือไม่ หากรับทราบข้อมูลลักษณะนี้และเข้าใจตรงกันก็จะทำให้ยินยอมรับน้ำเพื่อกักเก็บไว้ใช้จะสามารถบริหารจัดการน้ำส่วนนี้ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ อำเภอบางบาลโดย ส.ส. พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ – Phicharn Chaowapatanawong ยังมีข้อสังเกตถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำหรือข้อกังขาว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปจนทำให้ไม่สามารถบริหารน้ำให้เป็นไปตามแผนได้หรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องหาคำตอบเช่นกัน”
เตือน ‘กรุงเทพฯ’ เตรียมรับมือ คาด ‘ฝนตกหนัก’ แต่ไม่ใช่พายุ
สุรเชษฐ์ กล่าวถึงการประเมินส่วนที่สองว่า คือ น้ำฝน น่าห่วง เพราะถึงแม้จะไม่มีพายุเข้ามา เนื่องจากยังมีการดึงพลังกันของพายุสองลูก ทำให้ลูกที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อไทยถูกตรึงไว้จากพายุลูกหลังที่ใหญ่กว่า และอาจอ่อนกำลังลง แต่ถึงไม่มีพายุก็ยังอยู่ในแนวฝนตกหนักอีกระยะหนึ่งอาจถึงกลางเดือนตุลาคม จึงเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่ถามว่าเตรียมอะไรไว้มากน้อยแค่ไหน มี ส.ก.แต่งตั้งได้ลงหน้างานเตรียมช่วยประชาชนบ้างหรือไม่
ส่วนที่สาม น้ำทะเลหนุน เป็นอีกปัจจัยธรรมชาติในช่วงนี้ที่ส่งผลต่อระดับน้ำให้ขึ้นสูงกว่าเดิมได้เป็นเมตร ต้องไปดูแนวฟันหลอต่างๆ ในกรณีที่น้ำหนุนสูงขึ้นมาเพราะถ้าเข้ามาตามจุดฟันหลอถึงเล็กๆก็เท่ากับพื้นที่ตรงนั้นจะเอ่อท่วมได้ ต้องเตรียมการ เพราะเกี่ยวกับคนจำนวนมากตรงจุดนั้น
“ในระยะยาว ต้องมองปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างใน กทม.คลอง และประตูน้ำที่มีจะบริหารจัดการอย่างไร ต้องเอาเทคโนโลยีและซิงเกิ้ลคอมมานด์ เซ็นเตอร์ที่สั่งการทางไกลได้ไม่ใช่ดูเป็นจุด ตอนนี้ระบบของเราถูกออกแบบให้รับน้ำได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หมายความว่า เอากะละมังไปรอง น้ำสูง 6 เซนติเมตร ในหนึ่งชั่วโมงรับได้ แต่ถ้าเกินถือว่าเกินระบบ รวมถึงระบบท่อระบาย ในบางพื้นที่ต้องใหญ่กว่าที่มีตอนนี้เพราะเกินจากการรวมหลายท่อเข้ามาที่จุดเดียว ถ้ามองออกไปดูว่าตรงไหนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ตรงไหนเป็นเส้นเลือดฝอย ตรงไหนควรปรับให้ใหญ่ ถ้าไม่พอค่อยพูดถึงเมกกะโปรเจ็ค อุโมงค์ยักษ์ แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน และก็ต้องใส่ให้ถูกที่ไม่ใช่เอาแต่จะทำแต่เอาน้ำไปลงไม่ได้ ต้องมองระบบให้ออกก่อนแล้วไปไล่แก้ให้ลุล่วงตามนั้น”
ออกแบบผังเมือง ออกแบบอนาคต
ด้าน ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 19 เขตสะพานสูงและแขวงประเวศ ในฐานะคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำ กล่าวว่า นอกจากได้รับทราบสถานการณ์น้ำล่าสุดแล้ว ยังได้ทราบว่า สสน. มีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากหน่วยงานรัฐทั่วไป มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งในฐานะนักผังเมืองและนักวิจัยตนก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เป็นประจำ
“ข้อมูลที่มากมายของ สสน. ทำให้ผมเกิดคำถามว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐมีข้อมูลในมือมากขนาดนี้กลับไม่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ตัวอย่าง เช่น แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีข้อมูลระบุเป็นรายพื้นที่ได้อย่างชัดเจนว่าบริเวณใดเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย แต่เวลาภาครัฐประกาศเตือนประชาชนกลับเตือนแบบกว้างๆและไม่ชัดเจน
“ในเชิงผังเมือง ผมมีข้อเสนอแนะในการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยปัจจุบันนี้เราเกิดภาวะ Urban sprawl คือเมืองขยายตัวอย่างไร้ทิศทางและขาดการวางแผน เมืองขยายตัวตามถนน จึงขยายไปถึงพื้นที่น้ำท่วม ในเมื่อภาครัฐมีข้อมูลอยู่แล้วว่าบริเวณใดเป็นพื้นที่น้ำหลากหรือพื้นที่น้ำท่วมถึงก็ควรจำกัดไม่ให้มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในบริเวณนั้น หรือหากจะให้มีการตั้งถิ่นฐานก็ควรกำหนดเกณฑ์ให้มีพื้นที่ซึมดินหรือพื้นที่น้ำผ่าน เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำหรือชะลอน้ำเพิ่มเติม ก็จะสามารถบรรเทาอุทกภัยได้โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก” ว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ระบุ
หนุน Open Data – Open API Open Data ต่อยอดนวัตกรรมแก้น้ำท่วม
ด้าน นิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในทีมดิจิทัล และผู้เขียนระบบเช็กพิกัดเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว กล่าวเสริมว่า มีความตั้งใจอยากเข้ามารับฟัง ในด้านการรวมข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ซึ่ง สสน. ที่เป็นผู้ดูแลระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (thaiwater.net) ได้เชื่อมโยงข้อมูลมากกว่า 37 หน่วยงานร่วมเข้าด้วยกัน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ-อากาศ แบบ Real-time และสร้างแบบจำลองในหลายรูปแบบซึ่งตนได้ติดตามและให้กำลังใจหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อว่าการบูรณาการข้อมูลแบบนี้มีความซับซ้อนมาก แต่ สสน. ทำได้อย่างดี ซึ่งการบริหารวิกฤติในอนาคต ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ สสน. ทำ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการดู Insight อะไรบางอย่างในอนาคต
“เมื่อข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงพร้อมหมดแล้วในด้านเทคนิค ก็จะเหลือการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแจ้งเตือน หรือบอกต่อกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น การใช้เทคโนโลยี Cell broadcast แบบเจาะจงพื้นที่ เพื่อกระจายข่าวเป็นพื้นที่ๆ ไป ซึ่งสิ่งนี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้นำรัฐบาลที่จะต้องใส่ใจ เพราะเป็นเรื่องของความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน หรือหากเป็นไปได้ นอกจาก Open Data ที่แต่ละหน่วยงานเปิดเผยออกมาแล้ว ถ้าสามารถผลักดันไปถึง Open API แบบ Real-time ได้ จะช่วยให้มีนักนวัตกรรมนำไปทำประโยชน์ต่อสังคมโดยไม่แสวงผลกำไรได้อีกมาก ก็จะช่วยสนับสนุนหน่วยงานไปได้ระดับหนึ่ง ลองคิดภาพแบบในกลางเมืองต่างในญี่ปุ่นจะมีเสา Digital ที่บอกระดับน้ำออนไลน์ตั้งอยู่ก็จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาเรื่องน้ำและรับรู้สถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองเพื่อสามารถตัดสินใจได้เหมาะกับสถานการณ์ เป็นต้น”
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกล กล่าว