free geoip

ก้าวไกลฟังปัญหาคนจนเมืองขอนแก่น – รถไฟฟ้าไล่ที่ – ไร้การเยียวยา


‘ก้าวไกล’ ฟังปัญหา ‘คนจนเมืองขอนแก่น’ – ‘รถไฟฟ้า’ ไล่ที่ไร้เยียวยา

‘วีรนันท์’ นำทีม ‘ก้าวไกล’ ตั้งโต๊ะถกปัญหา ‘คนจนเมืองขอนแก่น’ เผยโครงการ ‘รถไฟฟ้า’ เส้นอีสานไล่ที่ไร้เยียวยา กระทบกว่า 10,000 ครอบครัว ‘วิโรจน์’ จ่อตั้งกระทู้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ ด้าน ‘อภิชาติ’ รับนำเข้า กมธ.ที่ดิน เตรียมเชิญหน่วยงานชี้แจง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, อภิชาติ ศิริสุนทร และ สุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางไปชุมชนมิตรภาพริมทางรถไฟ จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟต่อกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยมี วีรนันท์ ฮวดศรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ตัวเเทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกันจัดวงเสวนาโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อกรณีดังกล่าว

วิโรจน์ กล่าวในวงเสวนาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแม้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีสัญญาเช่า แต่รัฐจะทำเป็นไม่รู้เรื่อง แล้วใช้กฎหมายมาปิดปากเพื่อจัดการประชาชนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเอาเรื่องที่รัฐไม่พูดถึงมาอยู่บนโต๊ะเพื่อเปิดให้มีการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน

“เบื้องต้นพรรคก้าวไกลมอบหมายให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น สรุปเรื่องราวเข้ามา เพื่อเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงในการตั้งกระทู้ถามต่อไปยัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตอบและชี้เเจงถึงมาตรการของการเยียวยารวมถึงความชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้ ทราบว่าประชาชนจำนวนมากไม่มีสัญญาเช่า ไม่มีโฉนดที่ดิน แต่ในการพัฒนาเมืองประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน จึงอยากให้ทางรัฐเข้าใจหัวอกของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมอยากเห็นเมืองที่คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถอยู่ร่วมในเมืองได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เมืองที่พัฒนาแต่ความศิวิไลซ์ อยากเห็นเมืองที่มีการแบ่งปันพื้นที่ให้กับประชาชนรากหญ้าอย่างเป็นธรรมและเข้าใจวิถีชีวิตที่เขาเคยอยู่ ไม่ใช่เป็น Smart City แต่ผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อน รัฐมองแผ่นดิน แต่ไม่มองประชาชนที่อยู่อาศัยไม่ได้”

วิโรจน์ กล่าว

ขณะที่ อภิชาติ ระบุว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้เเจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่อประชาชนได้รับผลกระทบเพื่อหาแนวทางออกร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ บุญส่ง หมอยา เครือข่ายสลัมสี่ภาค (ภาคอีสาน) กล่าวว่า ไม่เฉพาะในจังหวัดขอนแก่น แต่มีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง เครือข่ายจึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินรถไฟและคณะทำงานแก้ไขปัญหาด้านกระทรวงคมนาคม

แนวทางการเจรจาคือ เครือข่ายสลัมสี่ภาค จะขอให้มีการสำรวจทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เบื้องต้นจะขอให้การแบ่งปันพื้นที่และแลกเปลี่ยนพื้นที่ในส่วนผู้ที่มีสัญญาเช่ากับการรถไฟ แต่ปัญหาของพี่น้องคนจนเมืองขอนแก่นคือ แม้แต่ในกลุ่มที่มีสัญญาเช่าก็ต้องย้ายเพื่อหลีกให้โครงการของรัฐ เหมือนอยากจะพัฒนาเมือง แต่ไม่สนคนที่อยู่อาศัย และไม่มีมาตรการจากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะให้พวกเขาย้ายไปอยู่ที่ไหนหรือจะชดเชยอย่างไร

“ชุมชนริมทางรถไฟเขตเทศบาลขอนแก่น 6 ชุมชน มีสัญญาเช่า แต่หากนับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสานมีจำนวนกว่า 10,000 ครัวเรือน ไม่ว่า นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราได้รับผลกระทบและไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ”

ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาคระบุ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า