free geoip

ตั้งทหารคุมโควิดชายแดนใต้ ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมเพื่ออะไร?


ตั้งทหารคุมโควิดชายแดนใต้ ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมเพื่ออะไร?

‘วิโรจน์’ ลุยหน้างาน ลงพื้นที่ดูการจัดการโควิด 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบปิดหมู่บ้าน ไร้การเยียวยา ประชาชนไร้ความเชื่อมั่น พร้อมตั้งคำถาม ทำไมให้ทหารคุมสาธารณสุข ย้ำ ความเชื่อมั่นระหว่างรัฐ-ประชาชนสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาโควิดชายแดนใต้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ไปเดินทางไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วง 23-24 ตุลาคม เพื่อติดตามการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถานการณ์ล่าสุดพบว่า อัตราการติดเชื้อของทั้งนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยังอยู่ในระดับที่สูง โดยค่าเฉลี่ย 7 วัน (17-23 ตุลาคม) นราธิวาสพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 372 คน มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2.6 คน ยะลาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 594 คน มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2.6 คน และ ปัตตานีพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 538 คน มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 3.3 คน

“ที่น่ากังวลอยู่ก็คือ ความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนของทั้ง 3 จังหวัด ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดย นราธิวาส มีความครอบคลุมของในฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มที่สอง อยู่ที่ 44.01% และ 26.11% ยะลาอยู่ที่ 53.04% และ 34.60% และปัตตานีอยู่ที่ 47.06% และ 26.43% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 59.42% และ 42.20%”

จากการพบปะพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า ปัจจุบันประชาชนได้เข้ามารับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนโยบายในการฉีดวัคซีน ได้เปลี่ยนจากการฉีดแบบสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซเนก้า มาเป็นไฟเซอร์ 2 เข็ม นี่จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนมากพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดวัคซีน หากวัคซีนที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับประชาชนเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูง และเป็นสูตรการฉีดที่เป็นสากล

นอกจากนี้ เมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแนวทางในการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วย โดยปัจจุบันเมื่อตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วพบผลตรวจเป็นบวก แพทย์จะสามารถพิจารณาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กับผู้ป่วยได้โดยทันที จึงเชื่อว่าน่าจะควบคุมอัตราการเสียชีวิตให้อยู่ในอัตราที่ไม่สูงนักได้ และไม่น่าจะเดินซ้ำรอยกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนต้องรอตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง รอยา จนสุดท้ายต้องมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ส่วนยารักษาภาวะปอดอักเสบ และยาที่ใช้ในงานวิสัญญีสำหรับผู้ป่วยหนัก นั้นมีสต็อกสำรองไว้อย่างเพียงพอ เพียงแต่ว่า ทางเลือกของยาที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้มีจำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่น ยา Tocilizumab และ Baricitinib ก็ไม่มีให้เบิกใช้ สำหรับการเบิกจ่ายยา Remdesivir ทั้งๆ ที่กรมการแพทย์ได้ออกแนวเวชปฏิบัติ โดยให้พิจารณาใช้กับผู้ตั้งครรภ์ แต่ในทางปฏิบัติก็มีขั้นตอนในการเบิกจ่ายหลายขั้นตอนมาก หากปรับปรุงในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

“การรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนัก พบว่าผู้ป่วยหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้โอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยหนักนั้นมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ทางเลือก อย่างเช่น เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (High Flow Nasal Cannula) ก็มีเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ นั้นมีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสีแดง (ผู้ป่วยหนัก) และเสียชีวิตในเวลาถัดมา”

ขณะเดียวกัน จำนวนศูนย์กักตัวรักษาผู้ป่วยประจำชุมชน (Community Isolation Center) ที่ใช้เป็นพื้นที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และกันผู้ป่วยออกจากชุมชน จะมีอยู่ในปริมาณที่จำกัด และค่อนข้างตึงมือ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในประเด็นความกังวลนี้ ทางสาธารณสุขจังหวัด ได้วางแผนร่วมกับท้องถิ่น ในการปรับพื้นที่ของโรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนา เพื่อนำมาทำเป็นศูนย์กักตัวรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม เอาไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้

“หากไม่มีปัญหาที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น เชื่อว่าน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ภายในช่วงต้นเดือนธันวาคม”

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังตั้งคำถามบทบาทของ ศบค.ส่วนหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นประธาน ว่ามีความซ้ำซ้อนกับกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่เป็นกลไกฝ่ายพลเรือนอยู่แล้วหรือไม่

“สำหรับบทบาทของ ศบค.ส่วนหน้า ที่รัฐบาลเพิ่งจัดตั้งขึ้น จากการประชุมหารือร่วมกัน กับบุคลาการทางการแพทย์ และประชาชน ได้มีความเห็นว่า การจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า นั้นไม่ได้มีความจำเป็น และเชื่อว่าการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดกับท้องถิ่น ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคให้ดีขึ้นได้ ในไม่ช้านี้”

“นอกจาก ศบค.ส่วนหน้า จะไม่มีความจำเป็นแล้ว ยังเป็นโครงสร้างอำนาจที่ซ้ำซ้อน ที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชน เกิดความสับสนในมาตรการ และการสั่งการต่างๆ ได้อีกด้วย และมีคำถามว่า การจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า นั้นเป็นความพยายามของหน่วยงานความมั่นคง ที่จะเข้ามาเคลมความสำเร็จ จากการทุ่มเททำงานหนักของหน่วยงานด้านสาธารณสุข และท้องถิ่น หรือไม่”

ประเด็นสุดท้ายที่วิโรจน์เน้นย้ำในการแก้ปัญหาโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนใต้คือ เรื่องความเชื่อใจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล “พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐเปราะบางอยู่แล้ว หน้าที่ของรัฐไม่ใช่แค่ประกาศแล้วรอให้ประชาชนเข้าหา แต่ควรประชาสัมพันธ์ผ่านคนที่พวกเขาไว้วางใจ”

“รัฐต้องมีความอดทน และทำให้ประชาชนที่สมัครใจ ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่รัฐได้ประชาสัมพันธ์เอาไว้ เมื่อประชาชนรู้สึกว่ารัฐมีความน่าเชื่อถือ ระดับความไว้วางใจก็จะมีเพิ่มขึ้น ความร่วมมือของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นเอง ดีกว่าการใช้อำนาจบังคับที่นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเพิ่มความไม่ไว้วางใจ และความขัดแย้ง ระหว่างรัฐและประชาชนในพื้นที่ อีกด้วย”

สำหรับปัญหาที่มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่มีความมั่นใจในการฉีดวัคซีน จากการรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน เชื่อว่า ทางออกในเรื่องนี้ ภาครัฐควรขอความร่วมมือจากสมาคมทางการแพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถพูดภาษามลายูได้ ในการให้คำแนะนำกับประชาชน ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ และการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเข้ามารับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจเพิ่มมากขึ้น

“สิ่งที่ต้องเตือนไปยังรัฐบาล ก็คือ หากรัฐบาลใช้อำนาจของ ศบค.ส่วนหน้า ในการบังคับ หรือดำเนินมาตรการกดดัน ให้ประชาชนต้องไปฉีดวัคซีนด้วยความไม่เต็มใจ หากประชาชนที่ถูกบังคับไปฉีดวัคซีน ประสบกับผลข้างเคียง หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนที่รุนแรง ซ้ำร้ายยังถูกปฏิเสธการชดเชยเยียวยา หรือเยียวยาล่าช้า ปัญหาเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้ความขัดแย้ง และความไม่ไว้วางใจ ระหว่างประชาชน กับรัฐ ขยายตัวมากขึ้น”

“ในกรณีที่รัฐบาล จะใช้กลไกของ ศอ.บต. ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างของ ศอ.บต. เสียก่อน โดยจัดให้มีการเลือกตั้ง ที่ยึดโยงกับประชาชน เพราะปัจจุบัน ศอ.บต. ได้มีภาพลักษณ์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับใช้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

Login

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เราขอยุติการรับสมัครสมาชิกพรรคและการรับบริจาค ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ย้ายไปยังพรรคประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุณาติดต่อที่ เว็บไซต์พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า