free geoip

เตรียมยื่น ม.152 เปิดสภาอภิปรายรัฐบาล “บริหารผิดพลาดทุกมิติ”


‘ก้าวไกล’ เตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป ม.152 ชี้ มีหลายปัญหาต้องแนะและขอคำตอบจากรัฐบาล

  • ‘หมอเก่ง’ อัด เปิดประเทศแบบขายผ้าเอาหน้ารอด ย้ำจากนี้วัคซีนต้องฉีดให้ได้วันละล้าน
  • ‘ศิริกัญญา’ จับตารัฐบาลสับปลับ เบี้ยวจ่าย ‘ประกันราคาข้าว’ กังขา อาจมีปัญหากรอบวินัยการเงินการคลัง
  • ‘ชัยธวัช’ แย้ม ความขัดแย้งใน พปชร. สะท้อน ส.ส.ไม่เชื่อมั่น ‘ประยุทธ์’ เชื่อ อาจมีอุบัติเหตุการเมืองให้ ‘ยุบสภา’ เร็ว

27 ตุลาคม 2564 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวการเข้าชื่อเพื่อเตรียมเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ทันทีที่มีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร


ย้อนชมคลิปการแถลงข่าว




‘ลวงตัวเลข’ เปิดประเทศแบบ ‘ขายผ้าเอาหน้ารอด’

นายแพทย์วาโย กล่าวว่า ต่อกรณีที่จะมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มี 3 ข้อกังวล และ 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ข้อกังวัลแรกคือ ปริมาณผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตัวเลขอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของประชากร แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือเป็นตัวเลขจริงและเพียงพอต่อการเปิดประเทศหรือไม่ เพราะจำนวนผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 40 ได้นับรวมผู้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายทั้งสองเข็มไปด้วย แต่มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ว่า อาจไม่เพียงพอต่อการต่อกรกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาด อาจารย์หมอ นักวิชาการและรัฐบาลก็เห็นพ้องตรงกัน

นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดการฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้ ดังนั้น ตัวเลขร้อยละ 40 จึงมีผู้ได้รับวัคซีนเชื้อตายสองเข็มอยู่ด้วย ขณะเดียวกันในกรณีของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นเพียงพอว่าใช้ได้จริง นับจากที่ตนอภิปรายในสภามาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏแค่หลักฐานจากโรงเรียนแพทย์บางแห่งเป็น 4-5 แผ่น เท่านั้น

ดังนั้น ตัวเลขของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันจึงอาจยังไม่ถึงร้อยละ 40 และยังมีคำถามว่าตัวเลขเพียงเท่านี้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือไม่

ประเด็นที่สอง นักท่องเที่ยวที่เข้ามา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประเทศกลุ่มแรกเข้าไปพื้นที่ใดก็ได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือประเทศที่เข้ามาได้เฉพาะ 17 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ที่ลดระยะเวลาการกักตัวจาก 14 เหลือ 7 วัน โมเดลนี้ แม้รัฐพยายามจะป้องกันเต็มที่ด้วยการให้ตรวจ RT-PCR ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงไทย แต่ยังมีความเสี่ยงแน่นอน เพราะการที่ผลตรวจจะขึ้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งความเสี่ยงครั้งนี้ก็คือชีวิตและอนามัยของคนไทยทุกคน

ประเด็นที่สาม รัฐบาลอิงตัวอย่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นเหตุผลในการเปิดประเทศ แต่ผลประกอบการของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ไม่ได้สำเร็จถึงเป้าหมายเท่าที่ควร จากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 100,000 ราย ตอนนี้ได้แค่ประมาณ 40,000 ราย  ปัญหาก็คือกระทั่งในยอดนี้ยังมีคำถามว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะท้ายที่สุด มีจำนวนมากเป็นคนไทยที่กลับเข้ามา แต่ไม่ต้องการเข้ากักตัวที่  State Quarantine เลยมาลงที่ภูเก็ตแทน จึงไม่ใช่มรรคผลในการดึงต่างชาติเข้ามา

“เมื่อนำโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาใช้ในสถานการณ์ที่การฉีดวัคซีนยังไม่ถึงไหน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่ 7,000 – 8,000 รายต่อวัน ซึ่งยังไม่ใช่สถานการณ์ที่ปกติ และจะต้องไม่ทำให้ภาวะที่ยังเป็นวิกฤตกลายเป็นความเฉยชา ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขจริง ยังมีตัวเลขจากการตรวจ ATK ที่ไม่ถูกรวมอีกหลายพันรายต่อวัน ซึ่งในบางจังหวัดยังพบการติดเชื้อแบบพุ่งสูงที่สุดเท่าที่มีมา เป้าหมายของรัฐบาลคือการเปิดประเทศให้ได้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจสวนทางกับหลักการเปิดประเทศอย่างรัดกุม และยังน่ากังวลอย่างมากที่รัฐบาลจะเปิดประเทศด้วยเหตุผลเพียงเพื่อแค่ปกป้องบางคนที่ลั่นวาจาว่าจะเปิดใน 120 วัน นี่จึงเป็นการเอาชีวิตและอนามัยของประชาชนมาเสี่ยงเพื่อศักดิ์ศรีใครบางคนหรือไม่”

สำหรับข้อแนะนำ นายแพทย์วาโย กล่าวว่า เนื่องจากเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็จะเปิดประเทศอยู่ดี และเราไม่ได้คัดค้านการเปิดประเทศ จึงมีข้อแนะนำก่อนการเปิดประเทศคือ หลังจากนี้จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยวันละ 1,000,000 โดส เพื่อให้ทันภายใน พฤศจิกายนนี้ เพราะหลังจากนั้นทราบว่าจะเริ่มเปิดพรมแดนทางเท้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว จะต้องสู้ด้วยการเร่งฉีดวัคซีน ต้องเลิกทำงานแบบเช้าชามเย็นชามหรือทำแบบรัฐราชการได้แล้ว  เราเคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาแล้วช่วงหนึ่ง จำนวนคนไข้เต็มไอซียู เครื่องช่วยหายใจและบุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันแน่นไปหมด ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาและต้องคิดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) เพื่อเตรียมความพร้อมทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องเลิกมองสถานพยาบาลเอกชนเป็นศัตรูของรัฐ ในภาวะวิกฤตจะต้องดึงมาประกบพันธกิจของรัฐด้วย

“สุดท้ายคือตัวนายกรัฐมนตรีที่ต้องแก้ไขตัวเอง เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และชาวต่างชาติเห็นถึงความหนักแน่น จริงจัง ไม่เช้าชามเย็นชาม ลักกะปิดลักกะเปิด เพราะผู้ประกอบการมีความกังวล เนื่องจาการเปิดธุรกิจต้องลงทุน ต้องสต็อกของ ต้องจ้างคน ต้องทำสัญญา แต่ถ้าท่านบอกว่าเปิดแล้วมีปัญหาก็ปิด มันก็แค่ขายผ้าเอาหน้ารอดจากที่ลั่นวาจาไว้หรือเพื่อกู้ศักดิ์ศรีตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะเขาไม่กล้าเปิด ท่านต้องเปลี่ยนตัวเองให้หนักแน่น และดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมที่สุด”

นายแพทย์วาโย ระบุ


‘ศิริกัญญา’ สะท้อน เศรษฐกิจเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

ศิริกัญญา กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนจากการลงพื้นที่ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีความเดือดร้อนประชาชนทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่รากหญ้าไปบนสุด พี่น้องเกษตรกร พบปัญหาต้นทุนที่พุ่งสูงจากราคาปุ๋ย ราคายา ราคาน้ำมัน สวนทางกับราคาข้าวที่ตกต่ำเนื่องมาจากการส่งออกที่ลดลง ขณะเดียวกันมาตรการของรัฐเรื่องการประกันรายได้ ซึ่งต้องจ่ายงวดแรกวันที่ 15 ตุลาคม แต่จนถึงปัจจุบัน พบว่า วงเงินที่อนุมัติจาก ครม. ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังต้องรอเรื่องเงินเยียวยากันต่อไป

สำหรับคนในเมือง มีปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากทั้งค่าน้ำมัน ค่าตั๋วบีทีเอส ค่าไฟฟ้า ค่าทางด่วน ที่ขึ้นราคาพร้อมๆ กันแบบไม่เกรงใจประชาชนที่กำลังดิ้นรนปากกัดตีนถีบจากสถานการณ์โควิด หรือในภาคการส่งออกที่เหมือนกำลังดีขึ้น ก็เจออุปสรรคก้อนใหญจากต้นทุนค่าระวางเรือและความขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่แก้ไข และปัญหาชิปที่ขาดแคลนซึ่งอาจกระทบการส่งออกรถยนตร์หรือคอมพิวเตอร์ได้

สำหรับปัญหาชั้นบนสุด คือการเอื้อกลุ่มทุนด้วยข้ออ้างจากโควิดในกรณีสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่โดยไม่เกรงใจประชาชนที่กำลังเดือดร้อน



ส่อเครดิตรัฐบาลหมด ทำเบี้ยว ‘ประกันราคาข้าว’

ศิริกัญญา ได้กล่าวถึงรายละเอียดปัญหาราคาข้าวตกต่ำว่า ปีนี้อาจส่งออกข้าวได้ไม่ถึง 5 ล้านตัน จากเดิมที่เคยส่งออกได้ 9-10 ล้านตัน เมื่อส่งออกไม่ได้จึงส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือจ่ายเงินตามการประกันรายได้และจำนำยุ้งฉาง ทั้งนี้ จากการประมาณการของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คาดว่าต้องใช้เงินอัดฉีดประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่พบว่า มติ ครม. อนุมัติจ่ายแค่ 18,000 ล้านบาท หรือแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น

“ถ้าจะทวงสัญญารัฐบาล เราอาจทำได้แค่การปรึกษาหารือ แต่คำถามของพวกเราในฐานะผู้แทนราษฎร คืองบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ไม่เป็นไปตามนัดนั้น เป็นเพราะรัฐบาลกำลังมีปัญหากรอบวินัยการเงินการคลังอื่นหรือไม่ เพราะได้ก่อนหนี้กับ ธกส. และหน่วยงานรัฐอื่น เหมือนรูดบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินแล้วจึงไม่เหลือเงินมากพอช่วยเหลือชาวนาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นปมมาจาก มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่กำหนดให้รัฐบาลก่อนหนี้กับหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจได้แค่ร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเดือน กันยายนปี 2564 ได้ใช้ไปจนเต็มวงเงินแล้ว พอขึ้นปีงบประมาณใหม่ ถ้าจำกันได้คืองบประมาณลดลง หากคิดคำนวณ ร้อยละ 30 ของปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 920,000 ล้านบาท แต่เดือน กันยายน ปี 2564 ก่อหนี้ไปแล้ว 980,000 ล้านบาท”

ศิริกัญญา กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการใช้หนี้ไปบางส่วนแล้วก็กระทบวงเงินนี้อยู่ดี จึงเป็นคำถามต่อไปว่ากรอบนี้จะขยายหรือไม่ หรือแก้ไขอย่างไร เพราะนอกจากเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรผ่าน ธกส. แล้ว ยังรวมไปถึงการชดเชยดอกเบี้ยผ่านมาตรการรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วย เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องได้รับคำตอบจากรัฐบาลที่จะคุยกันต่อในการอภิปรายต่อไป

สำหรับเรื่องราคาปุ๋ย มาจากราคาแม่ปุ๋ยนำเข้าแพงขึ้นถึง ร้อยละ 25-40 แต่รัฐบาลทำเพียงแค่ออกมาตรการกดดันให้สมาคมแม่ปุ๋ยนำปุ๋ยออกมาขายแค่ 4.5 ล้านกระสอบ เทียบไม่ได้กับความต้องการของชาวนาและเกษตรกร นายกรัฐมนตรียังพูดถึงการแก้ปัญหาปุ๋ยที่แพงมา 6 เดือนแล้วให้ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ แต่จากที่ตนลงพื้นที่ พบว่าเงินที่เคยสัญญาว่าจะช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์หนึ่งล้านไร่ตั้งแต่ปี 63 ที่ต้องจ่ายงวดสุดท้าย ถึงตอนนี้เกษตรกรก็ยังไม่ได้รับเงินตกเบิกตรงนั้นเลย



เตรียมเผชิญหน้าเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจตกต่ำ

เรื่องค่าครองชีพ ศิริกัญญา กล่าวว่า แม้จะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแต่ราคาน้ำมันเบนซินก็ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าไฟ ค่าทางด่วน ค่าตั๋วบีทีเอส ที่ขึ้นราคาพร้อมกัน ทำให้ค่าครองชีพคนเมืองจะเพิ่มทันที สิ่งที่จะตามมาคือเงินเฟ้อของคนเมือง ถามว่ารัฐบาลมีแผนรับมืออย่างไร

“ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากความเดือนร้อนเฉพาะหน้าและยังกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกด้วย สำหรับผู้ส่งออก แม้ตัวเลขเดือน กันยายนจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาค่าระวางเรือและความแคลนขาดตู้คอนเทนเนอร์ระดับภูมิภาค เครื่องจักรเศรษฐกิจที่คาดหวังซึ่งก็คือส่งออกอาจไม่เป็นตามเป้า”




ผู้ประกอบการรายย่อยรอเยียวยา 2 ปี แต่ทุนใหญ่ดีดนิ้วได้ทันที

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องการคำตอบในการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือ SMEs มีเสียงเรียกร้องมานาน ซึ่งในที่สุด รัฐบาลมีมาตรการจ่ายให้ลูกจ้างรายละ 3,000 บาท ไม่เกิน 200 คน แต่ความช่วยเหลือนี้มาช่วงที่เกิดการเลิกจ้างไปมากแล้ว ไม่ได้ช่วยตอนที่เขาลำบาก แม้ว่ามาช้าดีกว่าไม่มาแต่การพยุงการจ้างงานก็ไม่เกิดขึ้นจริง และกว่าจะได้เขาต้องรอมาเกือบ 2 ปี

“แต่ผู้ประกบการรายใหญ่ไม่ต้องรอ แค่ดีดนิ้วก็มา เช่น กรณี กลุ่มเอเชียเอราวัณที่ CP ถือหุ้นใหญ่ขอชะลอจ่ายค่าสัมปทานรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ก็ตอบรับทันที ทั้งยังมีข่าวว่าจะขอผ่อนจ่ายงวดแรกวงเงิน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวดบ้าง 10 งวดบ้าง แต่ประชาชนกลับยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการต่อรองเลย ทั้งที่โครงการนี้เป็นการร่วมทุน PPP ระหว่างรัฐกับเอกชน ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศควรที่จะได้รับรู้รายละเอียด ได้ตรวจสอบว่าผลประโยชน์จะตกต่อประชาชนมากขึ้นหรือน้อยลง หรือถ้ายอม ดอกเบี้ยผ่อนชำระต้องเป็นเท่าไร แต่ไม่มีรายละเอียด ปิดเป็นความลับอย่างมากจึงจำเป็นต้องซักถามข้อเท็จจริงต่อรัฐบาลจากการยื่นญัตตินี้ด้วย”





ในช่วงท้าย ชัยธวัช กล่าวย้ำอีกครั้งว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของในประเด็นที่พรรคก้าวไกลติดตามอยู่ และจะหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทันทีที่มีการเปิดสภาในเดือนพฤศจิกายนที่จะขอรวบรวมเสียงในการขอเปิดญัตติอภิปรายโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า