free geoip

ไฮสปีด 3 สนามบินเอื้อทุนใหญ่ – หยุดจับประชาชนเป็นตัวประกัน!


ไฮสปีด 3  สนามบิน เอื้อทุนใหญ่ หยุดจับประชาชนเป็นตัวประกัน!


พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชี รายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล วิจารณ์ กรณีที่ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ด EEC ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ Airport Rail Link (ARL) มูลค่า 10,671 ล้านบาท ตามเงื่อนไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งก็คือ บจก.คู่สัญญา Asia Era One ที่ถือหุ้น 70% โดยกลุ่มซีพี

“ต้องเรียนว่าเป็นอีกครั้ง ที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ มีการกระทำที่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ เพราะจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม อ้างชัดเจนว่า หากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถรับโอน ARL จะทำให้ต้องหยุดให้บริการประชาชน เพราะ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้เตรียมคนและงบประมาณ พูดง่ายๆ คือ รฟท. เชื่อมั่นว่า เมื่อส่งมอบให้บริษัทคู่สัญญาแล้วจะเดินรถได้ตามเงื่อนไขสัญญาแน่นอน

“ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เดินรถได้ก็เลยกลายเป็นว่า ยอมให้บริษัทคู่สัญญารับสิทธิการเดินรถไปก่อน โดยปรากฏเป็นข่าวว่า มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ หรือ MOU ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม หรือ 1 วัน ให้หลังจากการออกมติ เรียกว่ารวดเร็วจริงๆ แล้วก็ให้ Asia Era One ได้จ่ายค่าสิทธิเพียง 10% หรือ ประมาณ 1,067ล้าน จากเดิมที่ต้องจ่าย 10,671ล้านในครั้งเดียว”


ติดตามการแถลงข่าวโดย ส.ส.พิจารณ์



พิจารณ์ กล่าวต่อว่า จากนี้อีก 3 เดือน จะมีการพิจารณาร่วมกันของ รฟท. สำนักงาน EEC และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ หรือพูดง่ายๆ คือจะให้ตามคำขอของกลุ่มทุนนี้หรือไม่ คำถามก็คือ สามารถทำแบบนี้หรือไม่ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าเอกชนคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไข แต่รัฐยังเปิดโอกาสให้เดินรถได้โดยชำระเงินเพียง 10% โดยการแถลงในวันนี้จะมี 4 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ ประเด็นแรก พฤติกรรม ‘จับประชาชนเป็นตัวประกัน’  เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ประเด็นต่อมา ภาครัฐมีความพยายามปกปิดข้อมูล ประเด็นที่สาม มีความผิดปกติตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูล และประเด็นสุดท้าย การลด แลก แจก แถม หลังการประมูล

พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดย พิจารณ์ ได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. จากพรรคก้าวไกลเป็นประธาน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนคู่สัญญา เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ

พิจารณ์ ฝากไปถึง พลเอกประยุทธ์ ว่า ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง หากมีความจำเป็นที่จะต้องเยียวยา พลเอกประยุทธ์ ต้องสามารถชี้แจงรายละเอียด ต้องสามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าอะไรคือเหตุสุดวิสัย ขนาดของความเสียหาย และจำนวนเงินที่ต้องเยียวยา กระบวนการช่วยเหลือกลุ่มทุนซีพี

“ต่อจากนี้ ไม่ว่าผลการพิจารณาใน 3 เดือนข้างหน้าจะออกมาอย่างไร พรรคก้าวไกลจะเฝ้าติดตาม แล้วนำมารายงานต่อพี่น้องประชาชน ผมและก้าวไกลขอเรียนว่า เราไม่ได้รังเกียจทุนใหญ่ แต่การแข่งขันทางธุรกิจต้องอยู่บนกติกาที่เท่าเทียมและเป็นธรรม”




ขอเชิญทุกท่านติดตามอ่านทุกสไลด์ประกอบการแถลงข่าว พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ต่อไปนี้





โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แบ่งออกมาได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ดอนเมือง ถึงพญาไท ที่เรียกว่าแอร์พอร์ต เรียลลิงค์ ช่วงต่อขยาย ระยะทาง 22 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 2 พญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นแอร์พอร์ตเรียลลิงค์เดิมที่ปัจจุบันเดินรถอยู่แล้ว ระยะทาง 20 กิโลเมตร
    • โดยในสองช่วงนี้ รถไฟจะทำความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • ช่วงที่ 3 เป็นช่วงของรถไฟทำความเร็วสูงสุดที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากสนามบินสุวรรณภูมิไปที่สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร

ช่วงที่ 1 และ 2 มีความพยายามตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่จะเวนคืน เพื่อส่งมอบที่ดินให้กับเอกชน แต่ช่วงที่ 2 เป็น ARL เดิมที่ไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินใดๆ เพราะ รฟท. ก่อสร้างไว้เสร็จแล้ว เพียงแต่ให้เอกชนเข้ามาลงทุนปรับปรุงระบบต่างๆ หลังลงนาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินรถและเชื่อมต่อตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงอู่ตะเภา


โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในโครงการที่มีมูลค่าในการร่วม ทุนระหว่างรัฐและเอกชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โดยการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 มูลค่าการก่อสร้าง งานโยธาต่างๆ ค่ารถไฟความเร็วสูง ระบบต่างๆ 168,718ล้าน
  • ส่วนที่ 2 ค่าสิทธิการเดินรถ ARL 10,671ล้าน ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นปัญหาในการยืดเวลาชำระ ในขณะที่ส่วนที่ 1 และ 3 อยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ ส่วนของ ARL นี้ สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย เพราะเปิดเดินโดย รฟท. อยู่แล้ว
  • ส่วนที่ 3 มูลค่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร
    • มักกะสัน 41,642 ล้าน
    • ศรีราชา 3,513 ล้าน



นอกจากการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว ภายใต้โครงการนี้ยังมีส่วนของการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน 140 ไร่ และบริเวณสถานีศรีราชา 25 ไร่ ซึ่งส่วนนี้เป็นโครงการที่ดึงดูดให้เจ้าสัวมาลงทุน เพราะเป็นที่ดินผืนขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ผืนสุดท้ายแล้ว ที่จะมีศักยภาพในการรังสรรค์ให้เป็น ICONIC หรือ Landmark แห่งใหม่ ที่จะให้ผลกำไรอย่างงดงามยิ่งกว่าการเดินรถไฟความเร็วสูงมากนัก


ส่วนที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ การลงทุนในส่วนที่ 2 ซึ่งมีการขอผ่อนค่าสิทธิการเดินรถ ARL ทั้งที่เดิมก็เป็นดีลที่คุ้มมากสำหรับเอกชน เพราะ รฟท. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ARL จากพญาไทไปถึงสุวรรณภูมิ ทั้งหมด 22,558 ล้าน ส่วนเอกชนจ่ายอีก 10,671ล้าน แค่ส่วนของรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด แม้ว่าอาจต้องไปลงทุนปรับปรุงอีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่ได้สิทธิบริหาร 50 ปี ผู้โดยสารมีแต่จะขยายตัวมากขึ้น จากการเชื่อมต่อดอนเมืองถึงอู่ตะเภา


หากดูเอกสารข้อเรียกร้องจากกลุ่มทุน ที่ สำนักงาน EEC ชงเข้า ครม. เพียง 5-6 หน้าจะพบว่า มีรายละเอียดน้อยมาก และไม่อาจรู้ได้ว่า บอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเยียวยาช่วยเหลือเคสนี้

จากเอกสาร สรุปข้อเรียกร้องของกลุ่มทุนได้ 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ขอขยายเวลาการชำระเงินของ ARL จำนวน 10,671 ล้านบาท แต่ไม่บอกกรอบเวลา
  2. ขอปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมทุนของโครงการแต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะเปลี่ยนอย่างไร
  3. ขอขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม 50 ปี แต่ไม่มีรายละเอียดว่าขยายไปอีกกี่ปี




ประเด็นสำคัญอีกประการคือ นี่เป็นการเอื้อผลประโยขน์ให้กับกลุ่มทุน โดยการนำประชาชนมาเป็นตัวประกัน เพื่อเลื่อนการชำระเงิน 10,671ล้านบาท อ้างว่ารถไฟจะวิ่งต่อไม่ได้ ทั้งที่โควิด -19 เริ่มมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งรัฐบาลและเอกชนคู่สัญญา มีเวลาจัดการ แก้ไข มานานก่อนหน้าแล้ว แต่กลับไม่ทำ แล้วอ้างว่าโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัย

ในขณะที่ SMEs ต้องรอเกือบ 2 ปีกว่าจะได้รับการเยียวยา พยุงการจ้างงานผ่านประกันสังคม และยังไม่นับ SMEs ที่ล้มหายตายจากไปก่อนหน้านี้ เพราะรอการเยียวยาที่กินเวลาถึง 2 ปีไม่ไหว กู้ Soft loan หนี้ที่รัฐหยิบยื่นให้ก็ไม่ผ่าน แต่สำหรับกลุ่มทุนรายนี้ยื่นเรื่องเข้า ครม. วันที่ 19 ตุลาคม กลับไปลงนาม MOU ยืดระยะเวลาการชำระเงินไปอีก 3 เดือนได้เลยในวันถัดมา

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า พลเอกประยุทธ์ เอื้อประโยชน์แต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือ? แล้วนี่จะเป็นบรรทัดฐาน ในการเยียวยาให้กับคู่สัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน อย่างโครงการ ท่าเรือแหลมฉบังและสนามบินอู่ตะเภา หรือไม่ ?


โครงการนี้ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ครั้งแรกที่ พลเอกประยุทธ์ หยิบยื่นข้อเสนอพิเศษให้ โดยพบความผิดปกติตั้งแต่ก่อนการยื่นข้อเสนอหรือก่อนการประมูล เช่น

  • รูปแบบการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นการนำส่วนของการก่อสร้างและเดินรถไฟความเร็วสูง พ่วงรวมกับการพัฒนาพื้นที่ดินมักกะสันและศรีราชา ทำให้เอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ ต้องมีความเชี่ยวชาญถึง 3 ด้าน ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา การเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้จากผู้ซื้อซองประมูล 31 ราย เหลือเพียง 2 กลุ่ม ซึ่งทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เกิดจากการร่วมมือกันของ 8 บริษัท จากผู้ซื้อซองประมูลทั้งหมด
  • จำนวนผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 ราย ย่อมส่งผลให้การแข่งขันลดลงและรัฐได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น   
  • จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาของรัฐ พบว่า ผลตอบแทนจากการแยกประมูลระหว่างการเดินรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยมีรัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำกำไรหรือ FIRR โดยกำไรอยู่ที่ ร้อยละ 6.85 สำหรับการเดินรถและร้อยละ 10.77 สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินหรือที่เรียกว่า Weighted Average Cost of Capital (WACC)
  • หากแยกประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงจะมีผู้ร่วมประมูลแน่นอน ดังนั้น การแยกประมูลความเชี่ยวชาญ จะทำให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลตอบแทนให้รัฐสูงยิ่งขึ้น แต่ พลเอกประยุทธ์ ก็เลือกที่จะใช้วิธีการประมูลที่มั่นใจได้ว่าผู้เข้าร่วมการประมูลจะได้ที่ดินมักกะสันไป



หลังชนะการประมูลไปแล้วก็ยังพบความผิดปกติอีก เช่น การลงนามสัญญาล่าช้าไปกว่า 1 ปี และการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์สัญญา

จากร่างสัญญาร่วมลงทุน หรือ Request For Proposal ที่ระบุเพียงว่าเอกชนสามารถ “เปลี่ยน” ตำแหน่งที่สถานีของรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้แตกต่างจาหข้อกำหนดของ รฟท. เป็น “ขอเพิ่ม เปลี่ยน หรือย้ายตำแหน่งที่ตั้ง”

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มแนวเส้นทางรถไฟย่อยออกจากแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของโครงการ (Spur Line) ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อว่าแนวเส้นทางย่อยเหล่านี้จะพาดผ่านที่ดินของใครบ้าง รวมถึงมีการให้สิทธิที่จะปฏิเสธก่อน (First Right of Refusal) ในกรณีที่ รฟท. ต้องการพัฒนาโครงการต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภาถึงระยอง หากเอกชนคู่สัญญาปฏิเสธจึงจะนำไปเปิดประมูลให้เอกชนรายอื่นต่อได้


การปรับแก้สัญญาร่วมลงทุนยังรวมไปถึงการปรับแก้ให้ลดค่าปรับในส่วนต่างๆ ลงไปจากร่างสัญญารวมกันถึง 60% โดยเฉพาะค่าปรับหากไม่ชำระค่าสิทธิ ARL พญาไท – สุวรรณภูมิ 10,671ล้านบาท ตามกำหนด จากที่ต้องจ่ายค่าปรับ 3 ล้านบาทต่อวัน เป็นไม่มีค่าปรับเลย


สรุปได้ว่า โครงการนี้มีปัญหา 4 ข้อ ได้แก่

1. โครงการฯ นี้ มีความผิดปกติตั้งแต่ขั้นก่อนการเริ่มประมูล

  • เห็นได้จากการกำหนด รูปแบบการประมูลเพื่อให้แน่ใจว่า เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูล จะได้รับสิทธิในการเข้าบริหารที่ดินมักกะสัน 140 ไร่
  • การกำหนดค่าสิทธิในการบริหาร ARL ก็เรียกได้ว่าเป็นการผลักภาระให้กระทรวงคลัง รับผิดชอบหนี้ 22,000ล้านบาท ในขณะที่เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูล จะได้รับสิทธิ 50 ปี ด้วยราคา 1 ใน 3 ของการลงทุนที่รัฐใส่ไปแล้ว

2. หลังเปิดซองประมูล ได้รับผู้ชนะแล้ว

  • กินเวลาเกือบปี กว่าที่จะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุน
  • แล้วก็ปรากฏ การแก้ไขสัญญาแบบ ลด แลก แจก แถม ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการลดค่าปรับต่างๆ โดยเฉพาะค่าปรับ 3 ล้านบาทต่อวัน หากไม่ชำระค่าสิทธิARL 10,671ล้านบาท ตามกำหนด

3. หน่วยงานรัฐมีความพยายามปกปิดข้อมูล

  • ตั้งแต่การประชุมของ บอร์ด EEC ที่มี ประยุทธ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แม้จะมีการเผยแพร่หัวข้อการประชุมในเว็บไซต์ของ EEC แต่หัวข้อเรื่องข้อเรียกร้อง หรือ ข้อหารือ ของเอกชนคู่สัญญา กลับไม่ปรากฏให้เห็น
  • ซีพี ส่งหนังสือขอหารือ ด้วยข้อเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณะได้รับรู้ บอกแต่เพียงเหตุว่าได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ทำให้ผู้โดยสารลดลง หรือมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเท่าไร จนต้องได้รับการเยียวยา
  • จนกระทั่งสาธารณชนมารับรู้ ก็เมื่อ สำนักงาน EEC ชงเรื่องนี้ให้ ครม. รับหลักการ ในวันที่ 19 ตุลาคม แล้ววันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 ก็มีการเซ็นต์ MOU เลื่อนการชำระเงินออกไปก่อน สามเดือน

4.  เจตนาที่จะใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน

  • ไม่พบความพยายามที่จะหาทางออกก่อน 24 ตุลาคม
  • จะไม่มีการพูดคุยนอกรอบก่อน วันที่ 4 ตุลาคม เพื่ออย่างน้อย ให้ รฟท. หาทางรับมือ ในการเดินรถต่อไปได้
  • รอให้ครบกรอบเวลา ทำเสียว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยืดเวลาการชำระเงินให้เอกชน เพื่อให้การบริการไม่หยุดชะงัก จึงต้องลงนาม MOU



สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ ผลการพิจารณาของคณะทำงานที่ประกอบด้วย รฟท. สำนักงาน EEC คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ว่าจะเป็นอย่างไร ให้ตามเอกชนขอมาหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายมาแล้ว 10% หรือ 1,067ล้าน ประเด็นคือ แล้วอีก 90% หรือ 9,600 ล้านบาท จะจ่ายอย่างไร จะเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเอกชนหรือไม่

หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเอกชนที่มีสื่อมวลชนได้นำเสนอคือ ขอผ่อนจ่าย 6 งวด เป็นเวลา 6 ปี โดยงวดแรกจะขอจ่ายเมื่อโควิดจบแล้ว แล้วงวดแรก ทยอยจ่าย 5% 7% 10% แล้วค่อยไปโปะเดือนสุดท้าย 58%หากจ่ายแบบนี้ แปลว่า กลุ่มทุนนี้แทบจะไม่ได้ควักเงินจากกระเป๋าตัวเองมาจ่าย ค่าสิทธิที่เหลือ 9,600 ล้านบาทเลย แต่เป็นการนำเอารายได้ที่ได้จากการเดินรถมาจ่าย


พรรคก้าวไกลจะตามติดเรื่องนี้ต่อ

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. จากพรรคก้าวไกลเป็นประธาน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนคู่สัญญา เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ

ด้าน พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีราย และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ยื่นขอเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่

  1. หนังสือหารือของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่ยื่นต่อภาครัฐเพื่อขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ
  2. บันทึกการประชุม และรายงานการประชุม (ชวเลข) ของคณะกรรมการEEC ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ว่าด้วยมติเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
  3. บันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับดำเนินการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง ที่มีการลงนาม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ เอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
  4. รายละเอียดความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่
    • การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนของ ดอนเมือง ถึง พญาไท
    • การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนของ สุวรรณภูมิ ถึง อู่ตะเภา
    • เวนคืน และรายละเอียดของมูลค่าการเวนคืนที่ดินแต่ละแปลงของประชาชนที่ได้รับไปแล้วทั้งหมด
    • การเพิ่ม-ลด จำนวนของสถานีรถไฟความเร็วสูง : เอกชนคู่สัญญามีการเพิ่มจากข้อกำหนดของ การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ถ้ามี ขอรายละเอียด
    • การเปลี่ยน หรือ ย้าย ที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง
    • แผนการพัฒนาโครงการฯ, แบบการก่อสร้าง, มูลค่าโครงการ และรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในส่วนของการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์
    • ที่ดิน 140 ไร่ บริเวณมักกะสัน
    • ที่ดิน 25 ไร่ บริเวณศรีราชา

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า