ข้อกังวลถึง ร่าง พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่ – ห้ามโฆษณากินแล้ว ‘ตาสว่าง’
“ยังไม่เห็นอะไรใหม่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่กลับมีเรื่องการควบคุมโฆษณาอย่างชัดเจนและมีค่าอัตราธรรมเนียมที่สูงมาก จนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าสู่ระบบ คงมีแต่กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถจ่ายเงินตามร่างกฎหมายฉบับนี้ได้”
ในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่ นายแพทย์ วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สะท้อนข้อกังวลในหลายประเด็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมระบุว่า หากผ่านวาระรับหลักการไปแล้วก็จะคงต้องเข้าไปว่ากันต่อในชั้นกรรมาธิการ
“มีการห้ามโฆษณาข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ ตกลงท่านจะควบคุมการโฆษณาอาหารไปจนถึงเรื่องวัฒนธรรมของชาติเลยหรือ แล้วอีกประการหนึ่ง คือ ห้ามมีข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน”
“ลองมาคิดดูว่ามีอะไรได้บ้าง จึงนึกถึงกาแฟยี่ห้อหนึ่งที่มีสโลแกนว่า “ดื่มแล้วตาสว่างทั้งแผ่นดิน รู้ทันเผด็จการ” ต่อไปแบบนี้จะทำไม่ได้ โฆษณาอาหารที่อาจโยงการเมืองจะถูกตีความและห้ามไปหมด ตรงนี้จึงมีคำถามว่าจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์จริงหรือ เพราะการที่คนเขาจะสนับสนุนสินค้า บริการ หรืออาหาร ด้วยจริตของเขา โดยไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพหรือสรรพคุณอาหารก็น่าจะเป็นเรื่องปกติหรือ Fair Trade ที่ทำกันได้”
ในอีกประเด็นหนึ่ง นพ.วาโย ยังมีข้อกังวลถึง ค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากกฎหมายเดิมคือ 10,000 บาท เป็น 100,000 บาท การขึ้นค่าธรรมเนียมขนาดนี้จึงต้องถามว่าเพื่อควบคุมธุรกิจอาหารเพื่อให้มีมาตรฐาน มีประโยชน์ ปลอดภัย หรืออะไรกันแน่ สมมติว่า พ่อค้าทำขนมเปี๊ยะ บางเจ้าอยากจะยกระดับตัวเองให้มีมาตรฐานและอยากไปจดทะเบียนบ้าง แต่ถูกเรียกเก็บค่าใบอนุญาตใบละ 100,000 บาท ต่อไปคนจะเข้าหรือหนีจากระบบมากขึ้น ยังไม่นับข้อสังเกตว่า ตรงนี้เป็นรายได้เงินนอกงบประมาณที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเอาไปใช้อะไรบ้างอีกด้วย