‘โรม’ ทวงความคืบหน้ากรณี ‘ตั๋วช้าง’ ด้าน รมช.กลาโหม ตอบ ยังไม่พบเอกสารในระบบ
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรีถึงความผิดปรกติเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายตำรวจ กรณี ‘ตำรวจราบ’ และ กรณี ‘ตั๋วช้าง’ โดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ก่อนเข้าสู่การอภิปราย รังสิมันต์ เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มาตอบกระทู้ในสภาด้วยตนเองแต่จะมอบหมายให้ผู้อื่นมาตอบแทน โดยเฉพาะในครั้งนี้กลับมอบหมายรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการตำรวจเลยมาเป็นผู้ตอบ หมายความว่า หากผู้มาตอบไม่สามารถตอบได้เพราะนอกเหนือจากคำตอบที่เตรียมมา ตอบไม่ดี หรือตอบไม่ตรงคำถามก็จะถือว่าเป็นคำตอบของนายกรัฐมนตรีที่ไม่สนใจใยดีต่อชีวิตพี่น้องตำรวจและครอบครัวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพียงแค่จะใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของตนเองเท่านั้น
จากนั้น รังสิมันต์ จึงได้ถามคำถามถึง ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายตำรวจและการคัดเลือกตำรวจราบในพระองค์ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ตนได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากข้อเท็จจริงที่มีนายตำรวจบางคน เช่น พล.ต.ท. ‘ต.เต่า‘, พล.ต.ต. ‘จ.จาน’ มีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องกับราชเลขานุการในพระองค์ และผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งมีตำแหน่งในคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ซึ่งนายตำรวจบางคนที่ว่านี้ เอาหลักสูตรจิตอาสาฯ ไปเป็นข้ออ้างในการออก ‘ตั๋ว’ หรือหนังสือขอสนับสนุนแต่งตั้งนายตำรวจคนอื่นๆ ที่อยู่นอกหน่วยบังคับบัญชาของตัวเอง
“เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ถึงแม้จะได้กระทำการเช่นนี้ รวมถึงมีข้อครหาอื่นๆ เกิดขึ้น พวกเขากลับได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์และได้เลื่อนขั้นเร็วกว่าที่กำหนดตามกฎหมายหลายครั้ง ทั้งในชั้นของ ก.ตร. และในชั้นของคณะรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงกรณีตำรวจราบ คือมีหนังสือจากราชเลขานุการในพระองค์ส่งมาขอคัดเลือกนายตำรวจ แล้วฝ่าย สตช. ก็ตอบรับให้มีการคัดเลือกนายตำรวจไปโดยไม่แจ้งให้ทราบตั้งแต่แรกว่าจะให้ไปอยู่ในสังกัดใด เพิ่งมาเปิดเผยภายหลังว่าจะคัดไปเป็น ‘ตำรวจราบในพระองค์’ นอกสังกัด สตช. เมื่อมีนายตำรวจส่วนหนึ่งขอถอนตัว ก็ถูกสั่งนำตัวไปธำรงวินัยเป็นจำนวนถึง 97 คน ต้องห่างไกลครอบครัวนานถึง 9 เดือน ใช้งบประมาณไปกว่า 12 ล้านบาท เมื่อเสร็จกลับมาก็ยังถูกดองไม่ให้ได้เติบโตในหน้าที่การงาน”
“เพราะเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงปล่อยให้มีนายตำรวจอ้างหลักสูตรจิตอาสาฯ ไปออกตั๋วขอสนับสนุนแต่งตั้งนายตำรวจคนอื่นนอกหน่วยตัวเองได้ และเมื่อมีการกระทำเช่นนี้เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ยังยกเว้นหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นให้อีก มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามดำเนินการอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเพราะอะไรทุกวันนี้ตำรวจที่ออกตั๋วนายนี้จึงยังได้เป็นใหญ่เป็นโต ล่าสุดกำลังจะเลื่อนขั้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.”
“การออกตั๋วแบบนี้ตกลงแล้วไม่ใช่เรื่องผิดใช่หรือไม่ และปัจจุบันนี้ยังมีการออกตั๋วโดยอ้างหลักสูตรจิตอาสาเกิดขึ้นอีกหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ในการตอบของ พล.อ.ชัยชาญ ระบุเพียงว่า นายกฯ เน้นย้ำให้การโยกย้ายตำรวจดำเนินการไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องเคร่งครัด คำนึงถึงหลักอาวุโส และขีดความสามารถ เนื่องจากตำรวจเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม มีการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนจนถึง ก.ตร. ในการปรับย้าย สิ่งที่ถามมาว่าไม่เป็นไปตามนี้ได้หรือไม่ ก็มีระเบียบที่ระบุว่าให้ ก.ตร.พิจารณาดำเนินการได้ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ความสามารถ ความอาวุโส และความเหมาะสมตำแหน่งหน้าที่ สำหรับการปรับย้ายออกนอกหน่วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น มีการสัมภาษณ์ตรวจสอบ ฝึกและสอบถามความสมัครใจส่วนเรื่องการธำรงวินัย ต้องถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในข้าราชการทหารตำรวจ เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนเพื่อให้มีวินัยและสำนึกในหน้าที่
รังสิมันต์ สวนกลับอย่างทันทีว่า “ฟังแล้วผิดหวัง ถ้าสัมผัสเลือดของท่านได้คิดว่าคงไม่ค่อยอุ่นแล้ว ถ้าท่านไม่รู้เรื่องกิจการตำรวจก็เข้าใจ แต่ควรจะตอบว่าท่านไม่รู้ กรณีที่มีการแต่งตั้งและยกเว้นหลักเกณฑ์ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งตัวย่อเหล่านั้นคิดว่าท่านทราบดีว่าเป็นใคร เขาอยู่ลำดับอาวุโสท้ายสุดเลย แต่ได้รับการยกเว้นสูงถึง 10 ปี บางคนสูงถึง 8 ปี นี่คือความไม่เป็นธรรม ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงคนหนึ่งหรือสองคนที่ท่านยกเว้นแล้วได้ดี แต่ผมกำลังพูดถึงคนที่ได้รับความอยุติธรรมจากการข้ามขั้นแบบนี้โดยไม่สนความอาวุโสตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าท่านไม่ได้ดูตรงนี้อย่างแท้จริง”
“สำหรับกรณีตำรวจราบ 97 คนที่ถูกธำรงวินัย ถามตรงๆ ว่าเขาผิดอะไร ทำไมต้องเอาเขาไปอยู่ภาคใต้ ต่อด้วยหนองสาหร่าย ต้องห่างครอบครัวเป็นเวลาถึง 9 เดือน เพียงแค่เขาไม่ยอมย้ายไปสังกัดตำรวจราบ แล้วท่านเคยไปดูข้างในหรือไม่ว่าหน่วยงานนี้เป็นอย่างไร ทราบหรือไม่ว่าเขาแค่เอาไปตัดหญ้า ไปเฝ้ายาม นี่คือตำรวจที่มีคุณภาพและควรได้รับใช้ประชาชน แต่สุดท้ายเขาไม่ได้ทำ ท่านเคยไปดูให้เห็นกับตาไหมว่าเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไร แล้วขอโทษ พอมีเรื่องตำรวจราบเข้ามา ตำรวจหลายคนตัดสินใจลาออก นี่ไม่ใช่การฝึก ไม่ใช่การทำให้มีวินัยเพิ่มขึ้น แต่คือการทำลายล้างเอาให้ตาย หลังจากที่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพวกท่าน”
จากนั้น รังสิมันต์ จึงได้ถามคำถามในประเด็นที่สองว่า อีกความผิดปกติในการแต่งตั้งนายตำรวจที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งแผ่นดิน คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ตั๋วช้าง’ หรือหนังสือที่ราชเลขาธิการในพระองค์รับเรื่องมาจาก ผบ.ตร. แล้วมาทำเรื่องเมื่อเดือนมกราคม 2562 ขอรับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งนายตำรวจจำนวน 20 คน ท้ายหนังสือนี้มีช่องสำหรับขอพระปรมาภิไธยเพื่อรับรองรายชื่อนายตำรวจที่ได้เสนอขอมา ซึ่งทั้ง ผบ.ตร. และเลขาธิการพระราชวัง ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการเช่นนี้
“การแต่งตั้งนายตำรวจตามตำแหน่งที่ขอมาในตั๋วช้างนี้ ‘ไม่ต้อง’ และ ‘ต้องไม่’ นำมาให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรอง การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการเอาพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างในเรื่องที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสถานะที่ขัดต่อหลักการ ‘ปกเกล้าไม่ปกครอง’ ตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศและผู้คุมกิจการตำรวจ จะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้โดยเด็ดขาด
“จึงขอถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยให้ ผบ.ตร. ส่งหนังสือไปหาราชเลขานุการในพระองค์ได้โดยตรง เพื่อขอให้นายตำรวจคนนั้นคนนี้ได้เลื่อนตำแหน่งกันแบบนี้ จะอธิบายการทำหนังสือขอรับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ว่าเป็นกระบวนการอะไร อาศัยอำนาจจากอะไรมากระทำการ และเมื่อมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการดำเนินการนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือ ผบ.ตร. และราชเลขานุการในพระองค์ มาสอบสวนและมีมาตรการลงโทษอย่างไรบ้าง หรือว่าไม่เคยทำอะไรเลย ปล่อยให้เรื่องเงียบไปหมด แล้วในปัจจุบันนี้ยังคงมีการออกตั๋วช้างแบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่”
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ตอบคำถามนี้เพียงว่า เอกสารดังที่นายรังสิมันต์กล่าวถึงนั้นมีการตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นจึงได้ตอบเกี่ยวกับการปรับย้ายนายตำรวจไม่แตกต่างจากคำตอบครั้งแรก จึงทำให้ รังสิมันต์ กล่าวแนะนำก่อนจบการอภิปรายว่า
“ในกรณีที่รัฐมนตรี เห็นว่า หนังสือเอกสารนี้เป็นของปลอมหรือไม่อยู่ในระบบก็ควรเรียกผู้เกี่ยวข้องกับลายเซ็นมาถาม เวลามาตอบสภาคราวต่อไปจะได้ตอบว่าเกี่ยวกับเอกสารนี้ถามแล้ว ไม่มีการเซ็น ไม่ใช่ของจริง จะได้ชัดเจน ไม่ใช่ตอบแค่ว่าไปตรวจสารบบแล้วเท่านั้น”