
‘ปกรณ์วุฒิ’ อาสาเป็นตัวกลางถกปัญหา คนกลางคืน กับ ศบค. ผ่าน กมธ.
นักดนตรี และผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิดกิจการโดยมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการคลายมาตรการ ถึงขณะนี้ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำมาหากินได้และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลต่อธุรกิจกลางคืนว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างปกติได้เมื่อไหร่ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน อย่างเช่นนักดนตรี ที่ถึงแม้ว่าจะเริ่มกลับมาประกอบอาชีพได้บ้าง แต่ก็ยังไม่กลับมาปกติ 100% หลายคนยังกลับมามีรายได้เพียงแค่ 30-40% ของช่วงปกติเท่านั้น และความเสียหายที่ผ่านมายาวนานก็ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยแม้แต่น้อย
การที่ภาครัฐยังคงดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างตกหล่นไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการเรียกร้องทวงคืนความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่มที่เดือดร้อน ซึ่งนอกเหนือจากที่พรรคก้าวไกลชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมกันยื่นฟ้องแบบกลุ่ม หรือ Class Action เพื่อให้รัฐชดใช้ค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งห้ามเปิดสถานบันเทิง จนเกิดความเสียหายในวงกว้าง ต่อทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานภาคกลางคืนต่างๆ พรรคก้าวไกลมองว่า ยังจำเป็นต้องหาทางเจรจาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและรัฐบาลต่อไป
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นนักดนตรีกลางคืน ได้รับฟังปัญหาจากเพื่อนนักดนตรีและผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนมาโดยตลอด จึงพยายามจะผลักดันให้มีการพูดคุยเจรจาระหว่างฝั่งภาคธุรกิจกลางคืน และ ฝั่งภาครัฐ เช่น ศบค. กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบ เหตุผลของแต่ละฝ่าย หาทางออกที่เหมาะสม และเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ตนได้ผลักดันวาระนี้ เข้าสู่กรรมาธิการ 2 ชุด คือ คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณเงินกู้ 5 แสนล้าน ซึ่งตอนนี้ได้มีการบรรจุวาระเข้าสู่กรรมาธิการติดตามงบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้าน เรียบร้อยแล้ว และมีการจะเชิญทั้งสองฝ่ายเข้าหารือพูดคุยในกรรมาธิการในวันพฤหัสบดี ที่ 2 ธันวาคม ต่อไป