“คดียาเสพติด เป็นปัญหาของประเทศมาช้านาน เป็นวาระแห่งชาติที่ควรให้ความสนใจ กฎหมายที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายที่สูงสุด เพราะต้องยอมรับว่า เขียนมาเพื่อให้สังคมยอมละเมิดข้อจำกัดอีกหลายมาตราตามกฎหมายปกติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นั่นด้วยเหตุผลเพื่อมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในที่นี้คือเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นั้นต้องใช้อย่างระมัดระวัง รัดกุมเป็นอย่างยิ่ง”
การพิจารณาเรื่องด่วนในสภาวันนี้ เป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามา 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ…. และ ร่างประมวลยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…) พ.ศ…. พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายวาระนี้ระบุว่า โดยหลักการแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นนวัตกรรมที่ดีของรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้ยกเลิกกฎหมาย 20 ฉบับ 3 ประกาศ และ 1 คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด เพื่อมาประมวลรวมกันเก็บไว้ให้เข้าใจในที่เดียว
“อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าในหลายมาตราของร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายส่วนที่เป็นปัญหา ยังไม่ชัดเจน และควรจะต้องมีการเพิ่มเติม อาทิ เกี่ยวกับคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องและคืนทรัพย์ให้เจ้าของและผู้ครอบครอง กรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตควรต้องคืนทายาทหรือไม่ และไม่ควรจำกัดเวลาว่าให้ต้องมารับคืนใน 1 ปี, เกี่ยวกับกองทุนที่บริหารโดย คณะกรรมการ ป.ป.ส. ซึ่งมีทั้งเงินและทรัพย์สินต่างๆ มากมาย รวมถึง เงินค่าปรับ ทรัพย์สินคดียาเสพติดที่ยึดเข้ากองทุนด้วย ตรงนี้แม้ไม่ส่งคลังให้เป็นรายได้แผ่นดิน แต่ต้องรายงานให้ประชาชนได้รับทราบ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร”
พล.ต.ต.สุพิศาล อภิปรายต่อไปว่า ยังมีประเด็นเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ซึ่งเรื่องนี้สาระสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของ ป.ป.ส. อีกเช่นกันว่าใครเข้าข่ายองค์กรอาชญากรรม ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการสืบสวนต้องมีพยานหลักฐานมั่นคง รวมถึงควรระวังเจ้าพนักงานสร้างความต้องการเทียมด้วย, เกี่ยวกับโทษของบุคคลที่ยุ่งเกี่ยวคดียาเสพติดที่ความผิดเป็น 2 เท่า ซึ่งระบุเพียงว่า ส.ส., ส.ว., องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่น ตนเห็นว่าควรบัญญัติคณะรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้องเพิ่มไปด้วยจะได้ครบถ้วนมากขึ้น
ส่วนที่เกี่ยวกับการให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมมีหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุนั้น ควรระมัดระวังเรื่องการใช้คำที่บัญญัติในกฎหมายฉบับนี้ที่ว่า “ผู้ติดยาหรือผู้ผ่านการบำบัด” การใช้คำแบบนี้เป็นการประจานทางกฎหมาย ดังนั้น เห็นว่าควรแก้เป็น “ผู้ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม”
สุดท้าย เรื่องทื่สำคัญมากคือใน มาตรา 3 เพิ่มเติม 2/1 เรื่องของการสอบสวน ต้องพึงระมัดระวังการใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี มีส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการนี้ เพราะ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ธรรมดา ไม่ใช่มีแค่ความรู้ แต่ต้องทั้งเก่ง ทั้งฉลาด เข้าใจบริบท มีคุณธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ หรือถ้าจะพูดโดยนิยามว่า “เหาะได้” ก็น่าจะใช่ เพราะนี่จะเป็นผู้ที่ละเมิดข้อจำกัดกฎหมายปกติเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างที่ได้กล่าวมา
“คำถามคือ วันนี้ได้เคยมีการติดตามพนักงานเหล่านี้หรือไม่ ทหารกว่า 2,000 นาย ที่ถือบัตร ป.ป.ส. เคยได้มีการตรวจสอบ ประเมินผลสัมฤทธิ์ในการทำหน้าที่หรือไม่ เพราะเหล่านี้คือคนที่สามารถเข้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น และค้นได้โดยเหตุอันควรเร่งด่วน คือกลางคืนก็สามารถเข้าค้นได้ ยังรวมถึงอำนาจในจับกุม ขังเพื่อสอบสวนถึง 3 วัน”
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวทิ้งท้ายว่า เราต้องไม่ลืมว่า ผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน เกี่ยวกับคดียาเสพติดในเรือนจำตอนนี้ นั่นคือผลผลิตของเจ้าพนักงานที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ดั้งนั้น ขอให้พึงระมัดระวังการแต่งตั้งพนักงาน ป.ป.ส. เป็นอย่างยิ่ง กระบวนการคัดเลือกคัดสรรต้องเข้มข้น และนอกจากนี้ต้องทบทวนคนที่มีอยู่เดิมด้วย เพราะนี่เป็น ‘มนุษย์พันธุ์ใหม่’ ที่จะต้องให้ความคุ้มครองประชาชนอย่างเต็มที่ในเรื่องยาเสพติด