วิโรจน์ถามสาธารณสุข : “Omicron ระบาด ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน ?”
การเกิดขึ้นของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ โอมิครอน (Omicron) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความกังวล และจากประสบการณ์การรับมือกับโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา คงมีน้อยคนนักที่จะปล่อยให้รัฐบาลบริหารจัดการตามตามอำเภอใจได้
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ที่เกาะติดประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ได้ตั้งคำถามถึงกระทรวงสาธารณสุขว่าได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นแล้วหรือไม่
“แม้ว่าประเทศในทวีปแอฟริกา ที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Omicron จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 63 ประเทศ ที่เข้าประเทศของเราโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องไม่ลืมว่า ภูเก็ต นั้นเปิดรับทุกประเทศทั่วโลก และยังมีความกังวลในกลุ่มผู้โดยสารที่ต่อเครื่อง หรือเปลี่ยนเครื่อง รวมทั้งกลุ่มผู้โดยสารที่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดก่อนหน้า ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย”
“มีข่าวระบุว่า หากพบสายพันธุ์ Omicron ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนตัดสินใจ ทั้งที่เรื่องนี้ คนที่ตัดสินใจควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่มีความรู้ ครั้นจะเอาไปให้ พล.อ.ประวิตร ก็คงจะตอบ “ไม่รู้ ไม่รู้” ท่าเดียว หรือถ้าเอาไปให้ท่านรองวิษณุ ก็คงจะยกเว้นเสียทุกอย่าง”
นอกจากนี้ วิโรจน์ยังฝาก 3 คำถามให้กับ สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข ฝากไปถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี
📌 ข้อแรก รัฐบาลได้เตรียมจัดซื้อยาต่างๆ ที่จำเป็นไว้แล้วหรือยัง ปัจจุบันมียาตัวใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
🔘 Call Center 1668, 1669, 1330 ได้รับการปรับปรุงหรือยัง ?
🔘 ระบบในการหาเตียง และส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลต่างสังกัดกัน ได้มีข้อตกลง อย่างเป็นระบบแล้วหรือยัง ?
🔘 ระบบการกักตัวรักษาตัวเองที่บ้าน หรือ Home Isolation ที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องทำงานอย่างหนัก ต้องรอลงทะเบียนนานถึง 2-3 วัน ได้รับการปรับปรุงให้รวดเร็วแล้วหรือยัง ?
🔘 รพ.สนาม ศูนย์รักษาผู้ป่วยประจำชุมชน หรือ Community Isolation Center ที่ยุบไปแล้ว หากมีความจำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นใหม่ นั้นมีความพร้อมหรือไม่ ?
🔘 อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในโรงพยาบาลอย่างเช่น เครื่อง Oxygen High Flow เครื่อง Hemoperfusion นั้นได้จัดซื้อ และแจกจ่ายไปแล้วใช่หรือไม่ ?
“หากรัฐบาลไม่มีความพร้อม ผู้ที่เสียชีวิต ไม่ใช่แค่ผู้ที่ติดเชื้อโควิดนะครับ แต่เป็นผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ที่ไม่ได้รับโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงที อีกด้วย”
📌 ข้อสอง คณะกรรมการร่วม ด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน หรือ JCVI ที่อังกฤษได้ปรับระยะเวลาของการฉีดวัคซีนเสริมภูมิจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือนแล้ว เนื่องจากพบว่าคนที่ฉีด AstraZeneca 2 เข็ม จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ตกลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป 10-14 สัปดาห์
สำหรับประเทศไทย (ณ วันที่ 1 ธันวาคม) การฉีดวัคซีนในภาพรวมทำได้ดีขึ้น โดยรวมฉีดสะสมได้ประมาณ 94 ล้านโดสแล้ว โดยอัตราการฉีดเข็มแรกอยู่ที่ 72% เข็มที่ 2 อยู่ที่ 62% แต่หากพิจารณาคนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม มีอยู่ทั้งสิ้น 10.3 ล้านคน แต่ปัจจุบันฉีดเข็ม 3 ไปเพียง 3.5 ล้านคนเท่านั้น
รัฐบาลมีแผนการฉีดเข็ม 3 อย่างไร จะลดเวลาจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน แบบที่อังกฤษหรือไม่ แล้วตกลงระบบคิวจะเป็นอย่างไร ต้องใช้แอปฯ ไหน ในการลงทะเบียนฉีดเข็ม 3 ?
📌 ข้อสุดท้าย ปัจจุบัน WHO มีโครงการที่ชื่อว่า ACT Accelerator ซึ่งเป็นโครงการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ใน 3 ด้าน คือ ‘วัคซีนรุ่นใหม่ๆ’ ที่ใช้รับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ‘เครื่องมือตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ’ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ‘ยารักษาใหม่ๆ’ ที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งมีแผนในการลงทุนที่สูงถึง 31.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
“ถ้าประเทศไทย ยังไม่ยอมเข้าร่วมโคแวกซ์ ก็จะเสียโอกาสในการได้รับการสนับสนุน ให้เข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้”
“ตกลงประเทศไทยจะเข้าหรือไม่เข้า โคแวกซ์ กันแน่ จะเข้าเมื่อไหร่ แล้วไม่กังวลว่าประเทศไทยจะพลาดโอกาสที่จะได้รับนวัตกรรมใหม่ๆ จากโครงการ ACT Accelerator ของ WHO เลยหรือ ช่วยอธิบายด้วยครับ ???”
สาธิต ยัน ไทยพร้อมรับ โอมิครอน แผนฉีดวัคซีน ยังกั๊กไม่เข้าร่วม โคแวกซ์
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลุกขึ้นตอบคำถามโดยเริ่มจากการขอบคุณคำถามของวิโรจน์ พร้อมยืนยันว่าระบบสาธารณสุขไทยมีความพร้อมรับมือหากมีการระบาดครั้งใหม่
“เรามียุทธศาสตร์การถอยแบบแสตนบาย เรามีนักคณิตศาสตร์มาประเมิน เราคำนวณฉากทัศน์ และเราเตรียมความพร้อม ผมประชุมทุกวันศุกร์ ถ้าท่านวิโรจน์ อยากไปร่วมก็ยินดีเพราะเราเปิดออนไลน์”
“แผนการเรื่องยา เรามีความพร้อม 100% ท่านนายกรัฐมนตรีเตรียมเงิน เงินกู้หรืองบกลาง ถ้ามีความพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถจะจัดซื้อและลงนามในสัญญาได้เลย แต่อาจมีปัญหาในแง่ของการสั่งซื้อ จากขั้นตอนการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา”
ส่วนในแผนการฉีดวัคซีน แต่ละประเทศมีความคิดที่ต่างกัน ซึ่งกระทรวงเราใช้คณะกรรมการวิชาการตัดสินในในเรื่องเหล่านี้ นอกจากเรารับข้อมูลจากต่างประเทศแล้ว คณะกรรมการในประเทศก็ตัดสินใจประกอบกับวัคซีนที่เรามีอยู่
“ถ้าสถานการณ์ Omicron มีการแพร่ระบาดเข้ามา เข็ม 3 ที่ต้องลดเวลา 3 เดือนให้เร็วขึ้นก็ต้องทำให้เร็ว”
“ส่วนจะตัดสินใจเข้าร่วม COVAX หรือไม่ก็เป็นดุลยพินิจเพราะมันมีด้านบวกด้านลบ แต่สิทธิหรือความร่วมมือกันเราได้ทำอยู่เพื่อผลประโยชน์ของคนไทย” สาธิตกล่าวทิ้งท้าย