ทางออกของปัญหาการจัดการลุ่มน้ำไม่ใช่คุณพ่อรู้ดีแจกโครงการจากส่วนกลาง แต่ต้องคิดเป็นทั้งระบบ กระจายอำนาจสร้าง ‘เส้นเลือดฝอย’ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
หนึ่งในรายงานที่น่าสนใจที่สภาพิจารณาในสัปดาห์นี้ คือ รายงานการพิจารณา ‘ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’ ซึ่งเป็นรายงานศึกษาที่เรียกได้ว่านักการเมืองทุกแทบพรรค ‘ทั้งสภา’ ตั้งตารอคอยเพราะหวังจะบรรจุโครงการเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่
กรรมาธิการชุดนี้ ใช้ความเพียรพยายาม “รวบรวม” ข้อมูลจาก 25 ลุ่มน้ำ เดินทางลงพื้นที่ ศึกษาดูงานร 34 ครั้ง ได้ผลผลิตออกมาเป็นรายงานฉบับนี้ 172 หน้า ภาคผนวกอีกหนาเตอะ และมีโครงการที่เสนอมากถึง 731 โครงการ เรื่องที่เสนอมาดูเผินๆ ก็เหมือนดี
แต่เดี๋ยวก่อน… การเสนอให้จัดทำโครงการลงทุนด้านแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ ดีต่อประเทศจริงหรือไม่ ???
เรื่องนี้ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาติดผ้าเบรกให้สภาว่า ในการพิจารณาสนับสนุนให้ทำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใดก็ตามนั้น “ต้องมีการกลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ ‘บนข้อจำกัดของงบประมาณที่เป็นไปได้จริง’ ไม่ใช่แค่การขายฝัน
ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดที่จะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการผันน้ำยวม มูลค่ากว่า 71,290 ล้านบาท ซึ่งในรายงานไม่ได้ระบุมูลค่าโครงการ ต้องไปหามาเองจากรายงาน EIA ของกรมชลประทาน
“ลองคิดดูว่านี่เป็นเพียง 1 โครงการ หากรวม 731 โครงการตามข้อเสนอจะเป็นกี่แสนล้านหรือกี่ล้านล้าน ก็ไม่มีความชัดเจนใดๆ นอกจากบอกให้ ‘ต้องทำ’ ‘ต้องเร่ง’”
การเสนอแบบนี้ ไม่ใช่การแก้จน แต่เป็นการส่งเสริมความยากจนให้กับเกษตรกรและประเทศ
- ทราบหรือไม่ว่าต้นทุน ‘การจัดหาน้ำ’ จากการทำโครงการขนาดใหญ่สูงถึง สูงถึง ลูกบาศก์เมตรละ 5.51 บาท
- และข้าว 1 ตัน ต้องใช้น้ำถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตร
- นั่นหมายถึงการผลิตข้าว 1 ตัน คิดแค่ต้นทุนน้ำเพียงอย่างเดียว สูงถึง 16,530 บาท (ยังไม่รับรวมค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเกี่ยว)
นี่แหละคือต้นเหตุของวงจรแห่งความจน “รัฐก็จน เกษตรกรก็จน” เพราะเราเดิน “ผิดทิศ” แล้วสุดท้าย เกษตรกรต้องแย่งกันสูบน้ำ แย่งกันปลูกข้าวมากๆ ผลผลิตออกมาล้นตลาด รัฐก็ต้องเข้าไปประกันรายได้ ชดเชยราคา หรือให้มีการจำนำข้าวอีก ต้องใช้งบประมาณอีกหลายแสนล้านบาทต่อปี เราจะปล่อยให้ประเทศของเราเดินแบบนี้ต่อไป จริงๆ หรือ ???
กุญแจของปัญหา ไม่ใช่การเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นกระจายอำนาจ ‘พัฒนาการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่น’
ปัญหาหลักเรื่องน้ำของไทยคือ “การบริหารจัดการ” ประเทศเราตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้แย่ แค่บริหารจัดการห่วย เราจึงต้องต้องคิดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง
จะเล็งแต่ผลาญงบประมาณไปกับโครงการขนาดใหญ่… ไม่ได้
จะคิดแบบรัฐราชการรวมศูนย์ทำตัวเป็นพ่อรู้ดีเอาโครงการไปแจก… ไม่ได้
จะเลี้ยงไข้ความยากจนหมดเงินไปกับการเยียวยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ… ไม่ได้
แทนที่จะทำแต่โครงการขนาดใหญ่จนไม่มีเงินเหลือไปทำเส้นเลือดฝอย เราควรให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยมากขึ้น ต้อง “ตั้งสมดุล” ระหว่างงบประมาณที่จะลงไปกับเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยให้ดี แล้วเส้นเลือดฝอยนี่แหละที่จะมีผลต่อรากหญ้าอย่างแท้จริง
แทนที่จะผันน้ำไปมาระหว่างแม่น้ำหรือเอาแต่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญและงบประมาณไปกับบ่อน้ำขนาดเล็ก ริมนาของเกษตรกรโดยตรง ด้วยเงินที่เท่ากัน จะคุ้มค่าและทั่วถึงกว่ามาก
“เราเห็นด้วยกับการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่ข้อเสนอของรายงานฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ ในขณะที่ทุกคนพูดถึงการสร้าง การพัฒนา การดึงทรัพยากรเข้าสู่พื้นที่ของตัวเอง เราไม่เคยพูดถึงสัดส่วนที่สมดุลของโครงการใหญ่และโครงการย่อย ของอำนาจรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราต้องคิดใหม่ ตั้งหลัก ตั้งทิศทางให้ดี คิดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังถึงจะแก้ปัญหาน้ำได้อย่างตรงจุด”
สุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย