free geoip

เมื่อภาครัฐไม่สนองตอบปัญหา อำนาจจึงต้องคืนกลับไปให้ประชาชนมีส่วนร่วม


ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายปีที่ผ่านมาคงยากปฏิเสธว่ามีการตอบสนองต่อปัญหาอย่างล่าช้าและละเลยต่อความต้องการของประชาชน ทางออกในเรื่องนี้จึงต้องย้อนกลับไปที่หลักการใหญ่ นั่นก็คือ การเพิ่มอำนาจของประชาชน ขยายสิทธิและการมีส่วนร่วมโดยตรงให้มากขึ้น

แม้ในรัฐธรรมนูญ 60 มีบทบัญญัติรับรองในเรื่องนี้เอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเผชิญอุปสรรคมากมายทั้งในเรื่องบทกฎหมายและการบังคับใช้ จึงเป็นเหตุให้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะกรรมาธิการคนก่อน สืบเนื่องถึง ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ คนปัจจุบัน สานต่อขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ฉบับ  ซึ่งเสร็จสิ้นและนำเสนอต่อสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่  


สำหรับรายละเอียดการนำเสนอรายการศึกษา วรภพ วิริยะโรจน์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษายกร่างกฎหมายเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้ง 5 ฉบับ เป็นผู้นำเสนอหลักการและเหตุผล ข้อสังเกต รวมถึงแนวทางการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ต่อรัฐสภา 

“ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ เมื่อนำเสนอต่อสภาแล้วจะตั้งเป็นข้อสังเกตเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้มีการแก้ไขและยกระดับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”




พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะ

รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนปฏิรูปประเทศ กำหนดให้มีแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ฉบับเดิมภายใน 2 ปีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ผ่านมาเกือบ 5 ปียังไม่มีความคืบหน้า โดยหลักการ การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะคือสิทธิของประชาชน แต่ยังพบปัญหาภาครัฐที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมาจึงมีการอุทธรณ์จากประชาชนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเพื่อวินิจฉัยมากกว่า 1,900 เรื่อง ต่อมา มีคำสั่งให้เปิดเผยมากถึง 1,500 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80 สะท้อนว่า สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารประชาชนยังไม่เป็นสิทธิโดยทั่วไป ต่างจากคำโฆษณาที่ว่า ‘เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น’  

หลักในการร่างกฎหมาย 

การใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะ เพื่อยืนยันแนวคิดว่า ข้าราชการไม่ใช่เจ้าของข้อมูล หน่วยงานรัฐเป็นเพียงผู้ครอบครอง การปกปิดจะมีเฉพาะเรื่องลับและข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น 


แนวทางในการร่างกฎหมาย

จากศึกษาแนวทางของต่างประเทศ พบว่า จะใช้หลักการคือ เรียบง่ายและชัดเจนว่า ‘ประชาชนต้องเข้าถึงได้ทุกข้อมูลข่าวสาร’ โดยใช้วิธีดังนี้

  • ต้องจัดเก็บข้อมูลเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด 
  • ต้องกำหนดให้ข้อมูลทั้งหมดของรัฐเป็นข้อมูลสาธารณะ จึงต้องเปิดเผยเว้นที่กำหนดไว้เป็นข้อมูลับ

กรณีการกำหนดเป็นข้อมูลลับต้องมีกลไกตรวจสอบและกำหนด รวมถึงข้อมูลลับทั้งหมดต้องมีการกำหนดอายุ จะไม่มีข้อมูลลับใดตลอดกาล เพราะเป็นความไม่โปร่งใส เมื่อหมดอายุนั้นข้อมูลลับจะเป็นข้อมูลสาธารณะ




พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชน

กฎหมายนี้ถูกกำหนดให้มีในแผนปฏิรูปเช่นกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการยกร่าง ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ปัญหาก็คือระเบียบล้าสมัย สร้างความขัดแย้งตั้งแต่โครงการเล็กอย่างสะพานลอยไปถึงโครงการใหญ่อย่างเขื่อน เป็นต้น

แนวทางการร่างกฎหมาย

  • การกำหนดให้มีโครงสร้างมาตรฐานกลางเพื่อให้การมีส่วนร่วมสามารถวางแนวแตกต่างกันได้ ระหว่างโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หรือตามความรุนแรงและผลกระทบจากโครงการ

ทุกหน่วยงานรัฐต้องทำเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรงเป็นประจำ เช่น ระดับกรมอาจปีละครั้ง ระดับท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากอาจ 3 เดือนต่อครั้ง เพื่อเป็นกลไกให้ประชาชนสะท้อนปํญหา ติดตาม และบอกความต้องการไปยังหน่วยงานได้โดยตรง




พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล

มีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในปี 62 ซึ่งกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ดี เพื่อนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัลและการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเข้าหากันได้ แต่มี 2 ประเด็นปัญหาสำคัญในการบังคับใช้

ประการแรก ไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐเมื่อไหร่  ผลลัพธ์คือการรองรับสิทธิประชาชนสู่รัฐบาลดิจิทัลไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่


แนวทางร่างกฎหมาย

กำหนดไว้ภายใน 5 ปี ทุกหน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงระบบสารสนเทศให้ได้มาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐทั้งหมด


ประการที่สอง การสร้างฐานข้อมูลใหม่ของภาครัฐต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลดิจิทัล มิเช่นนั้นจะมีการสร้างฐานข้อมูลใหม่มากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่เชื่อมโยงกัน


ข้อสังเกต

ปัจจุบันการมีส่วนร่วมประชาชนสามารถทำได้ผ่านระบบดิจิทัล จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้รัฐบาลมีศูนย์กลางการมีส่วนร่วมประชาชนผ่านระบบดิจิทัลด้วย เช่น ความเห็นต่องบประมาณ หรือการเสนอกฎหมายต่างๆ เป็นต้น




พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

การชุมนุม คือการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง เป็นกลไกสะท้อนความต้องการหรือคัดค้านความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่การบังคับใช้กฎหมายเดิมรวมถึงตัวบทกฎหมาย ตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมา พบว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 60 และไม่สอดคล้องกับกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งมีการกำหนดว่า “การไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่ควรถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย”

ตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มประชาชนรวมตัวไปยื่นแก้กฎหมายต่อหน่วยงานรัฐ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีความว่าคือการชุมนุมและถูกดำเนินคดีเพียงเพราะไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ลักษณะนี้คือการริดรอนสิทธิของประชาชน


แนวทางร่างกฎหมาย

หลักการสำคัญ คือ ‘การชุมนุมโดยสงบ’ ถ้าไม่แจ้งล่วงหน้าไม่ควรถูกสั่งให้ยุติและแจ้งว่าผิดกฎหมายการชุมนุม ซึ่งต้องอธิบายให้ชัดเจนเช่นกันว่า การชุมนุมตามกฎหมายนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปละเมิดกฎหมายอื่นใดได้ เช่น การปิดถนนใดๆ แต่การแจ้งชุมนุมล่วงหน้าก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางการจราจรเพื่อรองรับการชุมนุมขนาดใหญ่ได้ นี่คือหลักที่สากลโลกทำ



 
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันการแสดงความเห็นหรือการมีส่วนร่วมประชาชนปรากฏในโลกดิจิทัลมากขึ้น แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้ง 2 ฉบับที่ถูกร่างในสมัยรัฐบาลเผด็จการ ทั้งปี 2550 และ 2560 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของทั้งผู้มีอำนาจรัฐและทุนในการฟ้องปิดปากประชาชน ซึ่งผิดเจตนารมณ์การร่างกฎหมายนี้อย่างชัดเจน  ตัวอย่างเห็นชัดเจนได้จากการดำเนินคดีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยข้อหานี้ ปรากฏว่าในเวลาต่อมาศาลพิจารรายกฟ้องทั้งหมด เพราะไม่เข้าเจตนารมณ์ของกฎหมาย 


แนวทางการร่างกฎหมาย

เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ คือการเอาผิดต่ออาชญากรรมทางระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่เข้าตามหลักกฎหมายอื่น เช่น กรณีแฮ็กกิ้ง (เจาะข้อมูล) หรือพิชชิ่ง (หลอกเอาข้อมูล) การแก้ไขกฎหมายนี้ สาระสำคัญที่สุดจึงเป็นการแก้ไขให้กลับไปที่เจตนารมณ์เดิม คือการเอาผิดอาชญากรรมทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เอาผิดต่อการแสดงความเห็นหรือแสดงออกในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งซ้ำซ้อนกับกฎหมายอาญาและแพ่งที่มีอยู่แล้ว

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า