“ศาลทหารคือกระบวนการยุติธรรมภายในหน่วยงานของกองทัพ จึงไม่มีสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเรื่องอาญาบ้านเมืองที่มีกระบวนการพิสูจน์และบทกำหนดโทษรองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพยังได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมองค์กรที่มีชนชั้น ผู้ใต้บังคับบัญชา ทหารเกณฑ์หรือทหารยศต่ำถูกกระทำย่ำยี มีการซ้อมทรมานในค่ายทหารจนเสียชีวิตก็แทบไม่เคยต้องมีใครรับผิดชอบ แล้วแบบนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผลที่ออกมาได้อย่างไร”
จากกรณีศาลมณฑลทหารบกที่ 15 อ่านคำพิพากษาคดีนายทหารชั้นสัญญาบัตรสังกัดค่ายธนะรัชต์ พยายามฆ่าอดีตภรรยา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก คดีจึงเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหาร และมีเพียงศาลเดียว ต่อมา ศาลพิจารณาว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหาย เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ข้อหาอาวุธปืนนำสืบไม่ได้ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ข้อหาชิงทรัพย์ ไม่สามารถนำสืบได้ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ศาลจึงพิพากษาให้ จำคุกผู้ก่อเหตุ 1 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิด จึงให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ปรับ 12,500 บาท
ร.ท. ธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตทหารแห่งกองทัพ กล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการรัฐประหารที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมในสังคมบิดเบี้ยว กฎอัยการศึกทำให้คดีที่ควรต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมปกติ ต้องไปสู้กันใน ‘ศาลทหาร’ ซึ่งชื่อบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นศาลเพื่อความยุติธรรมของคนกลุ่มใด
“ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาล แต่มีข้อสังเกตว่ากระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร ควรเป็นเรื่องของทหารที่ไม่ใช่คดีอาญาบ้านเมือง เพราะกระบวนการยุติธรรมของระบบทหารไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับคดีอาญาอย่างรอบคอบรัดกุมเพียงพอ หากมีการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ต่อให้ทหารเป็นผู้กระทำก็ควรเข้าสู่ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งมีทั้งการปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ การเปิดโอกาสให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ และสามารถอุทธรณ์คำตัดสินได้จนเป็นที่สิ้นสงสัย รวมถึงยังเปิดกว้างต่อการตรวจสอบทางสาธารณะมากกว่ากระบวนการยุติธรรมแบบศาลทหารที่เป็นเรื่องภายในของกองทัพ เช่น คดีประเภทการผิดวินัยหรือขัดคำสั่งทางการทหาร”
“นี่จึงเป็นคดีที่น่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ถูกอดีตสามีซึ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น แต่เธอยังถูกกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเพราะการรัฐประหารทำร้ายอย่างแสนสาหัสด้วย หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ สีหน้าฝ่ายจำเลย ผ่อนคลาย แต่เธอกับแม่จับมือกันแน่น น้ำตาไหลอาบ 2 แก้ม ไม่มีคำพูดใดๆ แล้วพากันจูงมือเดินลงจากศาล ขึ้นรถกลับบ้าน
“ความยุติธรรมคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ มีความสำคัญไม่ต่างจากอากาศหายใจ ผลการพิจารณาคดีในศาลทหาร ต่อผู้ ‘บันดาลโทสะ’ ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน จบลงที่ค่าปรับหลักหมื่น โทษจำคุกหนึ่งปียังรอลงอาญาจึงไม่ต้องติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร ไม่มีกฎอัยการศึก และไม่ใช่การสู้กันในกระบวนการยุติธรรมแบบทหาร ผลของคดีที่ออกมาคงใกล้เคียงกับคำว่าความยุติธรรมของผู้ถูกกระทำมากกว่านี้อย่างแน่นอน”