จีนปิดด่าน ส่อกระทบมูลค่าส่งออก ‘ทุเรียน-ลำไย’ แสนล้าน
นโยบายโควิดเป็น 0 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ของรัฐบาลจีน นำไปสู่มาตรการ ‘เข้มงวดมาก’ ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด รวมไปถึงการตรวจสินค้าขาเข้าด่านต่างๆ หากตรวจเจอจะมีมาตรการตั้งแต่ตีกลับสินค้า เผาสินค้าทิ้งทั้งตู้คอนเทนเนอร์ หรือปิดด่านระงับการนำเข้าสินค้า ดังที่เกิดขึ้นภายหลังการสุ่มตรวจและพบเชื้อโควิดปนเปื้อนบน ‘กล่องทุเรียนนำเข้าจากไทย’ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แม้ว่าการตรวจดังกล่าวจะเจอในตลาดที่จีนไม่ใช่การตรวจพบที่ด่านหรือระหว่างการขนส่ง แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าไทยต้องมีการปรับมาตรการเกี่ยวกับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างความมั่นใจแก่รัฐบาลจีนให้ได้ว่า จากนี้ไปสินค้า 100% ต้องมีความปลอดภัย รวมถึงต้องเร่งเจรจาให้มีการเปิดด่านอีกครั้ง เพราะถ้ายังทำงานแบบตั้งรับ ปล่อยให้สถานการณ์ทอดยาวออกไปก็อาจไม่ทันฤดูกาลส่งออกทุเรียนซึ่งจะมาถึงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รวมถึงผลไม้อื่นๆ ซึ่งหากคิดมูลค่าความเสียหายรวมกันหากส่งออกไปตลาดจีนไม่ได้อาจสูงถึง 100,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในฐานะ ส.ส. จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนและลำไยมากที่สุด ญาณธิชา บัวเผื่อน นำเสียงสะท้อนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกในพื้นที่มาตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับมือต่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การบูรณาการการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ และการต่างประเทศ เพื่อเจรจาต่อรองให้สินค้าการเกษตรของไทยสามารถผ่านด่านได้ หรือถ้าทำแล้วผลการเจรจาเป็นอย่างไร, แนวทางการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อให้สินค้าไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อโควิดไม่ว่าเชื้อเป็นหรือเชื้อตายทั้งระบบตั้งแต่การปลูก การบรรจุหรือการขนส่ง เพราะยังคงได้รับเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่า ทางจีนยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากสินค้าไทยอย่างมาก ทำให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าผ่านด่านเหลือเพียงหลักสิบคันต่อวัน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปสินค้าที่ต้องระบายมากเป็นวันละหลายพันคันจะตกค้างและจะสร้างความเสียหายและโกลาหลอย่างมาก โดยปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วในกลุ่มลำไย และคำถามสุดท้ายคือจะมีมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบให้กลุ่มเกษตรกรลำไยได้อย่างไร
ขณะที่คำตอบของ จุรินทร์ ได้กล่าวว่า กระทรวงดำเนินการไปแล้วทุกเรื่องทั้งการบูรณาการ การเจรจาทางการทูตที่ทำให้มีมาตรการเริ่มทดลองเปิดด่านให้สินค้าไทยไปจีนได้ภายใต้มาตรการคุมเข้มไม่น้อยกว่า 150 คันต่อวัน และจะเปิดด่านให้ได้ต้นปี 65 ส่วนเรื่องมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนโควิดทั้งทุเรียนและลำไยรวมถึงผลไม้ต่างๆ ได้ดำเนินการคุมเข้มมานานแล้วจึงทำให้การส่งออกโตขึ้น สำหรับเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร ทางกระทรวงมีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ก่อนผลไม่ปีนี้ออกมา เรียกว่า มาตรการ 17+1 เช่น การสนับสนุนล้งเรื่องการรับซื้อไม่ให้ผลไม้กองที่สวน รวมถึงเร่งส่งออกด้วยการเจรจาจับคู่ประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหน้างานของสินค้าเกษตรตามระยะเวลาต่างๆ
“ฟังดูแล้วก็สบายใจ แต่ถ้ามาตรการดีจริงอย่างที่พูด ดิฉันในฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ คงไม่ได้เห็นคราบน้ำตาของเกษตรกร คงไม่ได้ยินเสียงสั่นเครือของผู้ส่งออกโทรมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตายและขอให้ยกเคสของเขามาบอกกล่าว และเท่าที่ดิฉันรับรู้คือปัญหาในพื้นที่ยังมีเยอะมาก” ญาณธิชา ตอบโต้ทิ้งท้ายคำตอบสวยหรูของรัฐมนตรีในช่วงก่อนจบการอภิปราย
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปัจจุบัน
เดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2564 ทุเรียนสด ทำรายได้ถึง 58,343 ล้านบาท ขยายตัว 39% โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่าสูงถึง 51,098 ล้านบาท ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 มูลค่าการส่งออกลำไยอยู่ที่ 16,844 ล้านบาท เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนสูงถึง 12,660 ล้านบาท (ขยายตัว 30.58%)
“ขณะนี้ทางการจีนตรวจสอบการปนเปื้อนเข้มงวดมาก ตรวจเชื้อโควิด 100% ทุกล็อต และไม่ได้ตรวจเฉพาะที่ด่าน แต่ตรวจในทุกขั้นตอน คาดว่าเนื่องจากมาตรฐานการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดของไทยไม่ได้อยู่ในมาตรฐานที่จีนมั่นใจได้ จึงทำให้ปัจจุบันที่ด่านชายแดนของจีน ทั้งทางบก และทางเรือ เริ่มมีการจำกัดการนำเข้าผลไม้จากไทย”
ญาณธิชา ระบุ
- ด่านโหย่วอี้กวน ยังไม่เปิดให้ลำไยเข้า แต่ให้ทุเรียนเข้าได้ โดยใช้เวลาประมาณ 10 วัน
- ด่านโม่ฮานและบ่อเต็น รถติดหน้าด่านประมาณ 3,000 ตู้ มีของไทยอยู่ 200-300 ตู้ ของจากไทยเข้าได้ไม่เกิน 50 ตู้ ปัจจุบันด่านนี้ไม่อนุญาตให้พนักงานชิปปิ้งจีนเข้าไปร่วมตรวจ เพราะกลัวโควิด ทำให้ไม่สามารถรู้สถานการณ์ข้างในและแก้ปัญหาได้หน้างาน ทำให้การทำงานช้าลงมาก หากด่านมีการพบโควิดเขาจะปิดทันที โดยปิดตั้งแต่ครึ่งวันไปจนถึง 10 วัน
- ด่านตงซิน มีการเปิดรับไม่ถึง 10 ตู้ต่อวัน ซึ่งตอนนี้ลำไยต่อแถว 20 วัน ยังไม่สามารถผ่านด่านได้
- ท่าเรือ มีการเปิดรับจำนวน 130 ตู้ต่อวัน
“ปัจจุบัน ปัญหาได้เกิดขึ้นกับชาวสวนลำไยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะในเมื่อการส่งออกลำไยมีข้อติดขัด ล้งจำเป็นต้องชะลอการเก็บเกี่ยวลำไย ทำให้ราคาลำไยตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ราคาเหลือแค่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ลำไยก้นสวนที่ล้งไม่เก็บ ก็ต้องจำใจขายที่กิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับลำไยลูกร่วงเหลือแค่กิโลกรัมละ 3-5 บาท และยังมีลำไยรอเก็บเกี่ยวอีก 40%-50% แต่ยังไม่พบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมใดๆ มาช่วยเหลือชาวสวนลำไย ที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 250,000 ครัวเรือน โดยในนี้เป็นชาวจันทบุรี ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว ถึง 50,000 ครัวเรือน”
ท้ายที่สุดนี้ หากสิ่งที่ จุรินทร์ ชี้แจงต่อสภาไว้อย่างสวยหรูเป็นความคืบหน้าเพียงลมปากหรือขยับตัวล่าช้ากว่าสถานการณ์ มูลค่าสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนสด 25,000 ตู้ ที่ข้ามด่านการค้าของพญามังกรจีนไปไม่ได้ซ้ำรอยสถานการณ์ของลำไย นั่นก็คงจะเป็น ‘หายนะ’ ที่รออยู่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้มาถึง