free geoip

เสนอตั้ง กมธ.ศึกษา ‘ควบรวมทรู-ดีแทค’ – หวั่นเอื้อกลุ่มทุน ประชาชนไร้ทางเลือก


ไม่เชื่อมั่นองค์กรกำกับดูแล! ‘ศิริกัญญา’ ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบควบรวม ‘ทรู – ดีแทค’

“หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 รายเท่านั้น โดยที่ทั้ง 2 รายจะกินส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 98% กลายเป็นตลาดที่มีระดับการผูกขาดที่เรียกได้ว่าเป็นอันตราย และง่ายต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค”

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบ กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

“การประกาศความร่วมมือ (Equal partnership) และมีข่าวการควบรวมกิจการทำให้สังคมเกิดความกังวล เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้มีบริษัทลูกเป็นผู้ถือใบอนุญาติให้บริการกิจการโทรศัพท์มือถือด้วยทั้งคู่ โดยที่กิจการโทรศัพท์มือถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนในปัจจุบัน จึงน่ากังวลว่า โครงสร้างตลาดเดิมของธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีความกระจุกตัวอยู่แล้ว คือมีผู้ให้บริการหลักเพียง 3 ราย ส่วนรายที่ 4 นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย

“ทั้งนี้ มีผลการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกว่า แม้แต่การควบรวมเพื่อลดขนาดจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าบริการที่จะสูงขึ้น หรือแม้ต่อหน่วยอาจจะถูกลงแต่ก็จะถูกบังคับขายในแพ็คเกจที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งการควบรวมจาก 4 รายไป 3 ราย มีบางกรณีที่องค์กรผู้กำกับดูแลหลายๆ ประเทศห้าม เพราะจะทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด แต่ทว่า สำหรับการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น แทบจะไม่มีเกิดขึ้นเลย ในระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มี 2 กรณีในยุโรป แต่องค์กรกำกับดูแลก็ไม่ได้ให้การอนุญาต”


สำหรับเหตุผลที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตั้ง กมธ.วิสามัญ ขึ้น เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ คือ

  1. มีความกังวลของภาคประชาชน เรื่องการกำกับดูแลที่ย่อหย่อน ของทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สภาแห่งนี้จำเป็นต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะแทบเป็นเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ในการกำกับตรวจสอบองค์กรอิสระต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการอื่นๆ
  2. กรณีนี้มีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมใน 2 เรื่อง คือ เรื่องธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความซับซ้อน และ เรื่องกฎหมายทางการค้า
  3. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรกำกับดูแล ทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างการควบรวมกิจการค้าปลีกระหว่างซีพีกับเทสโก้ ส่วน กสทช. กว่า 10 ปี ที่กรรมการชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่มา มีหลายกรณีที่ทำให้เกิดความกังวล ไม่ว่าจะเป็นกรณีล่าสุดอย่างการยืดหนี้ค่าประมูล 4G ให้กับผู้ได้รับใบอนุญาติ 10 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ยจากเดิมที่ต้องผ่อนชำระใน 4 ปี หรือการยกหนี้ที่กระทรวงการคลังใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. เป็นต้น

“กรณีการยืดหนี้ อาจจะไม่ใช่บอร์ดเป็นคนตัดสินใจ แต่เป็นกรณีที่บอร์ดเองถูกแทรกแซงโดยคำสั่งมาตรา 44 ที่ 4/2562 ให้ผ่อนชำระค่าประมูลได้ และยังมีการให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. ข้ามหัวบอร์ด กสทช. อีกทีหนึ่ง ซึ่งบอร์ดกลับเพิกเฉยยอมให้ถูกกระทำ โดยไม่ออกมาปกป้องผลประโยชน์รัฐและประชาชน และยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือด้วย เพราะเป็นการแก้ไขกติกาหลังประมูล จึงไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ หรือเอกชนที่มีศักยภาพที่เข้าร่วมประมูล”

“คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ยังมีการยกหนี้ที่กระทรวงการคลังใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนาของ กสทช. โดยมีการใช้ประกาศคำสั่ง คสช. 80/2557 แก้ พ.ร.บ. กสทช. เรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน จนล้วงเอาเงินกองทุนให้กระทรวงการคลังไปใช้ ต่อมาปี 2562 ก็ใช้คำสั่ง คสช. ในการยกหนี้ให้กระทรวงการคลังไม่ส่งต้องคืน จึงเป็นอีกครั้งที่บอร์ด กสทช. ยอมให้ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นแทรกแซงกิจการตนเองโดยไม่ป้องประโยชน์ประชาชน”

“เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่องค์กรกำกับดูแลไม่ได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างภาคภูมิ จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญครั้งนี้ ตรวจสอบคู่ขนาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ”

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า