จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีโพสต์ยินดีที่ไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทะลุร้อยล้านโดสได้ตามเป้า ราวกับลืมไปแล้วว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจำนวน 21,355 ราย ซึ่งเป็นความตายที่เกิดมาจากการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้ก็พลาดมาตลอด ตั้งแต่การจัดหาวัคซีนเข้ามาล่าช้า การสั่งซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เพราะต้องการ ‘แทงม้าตัวเดียว’
ความสูญเสียของประชาชนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น ล้วนเกิดจากความชะล่าใจของรัฐบาล ตั้งแต่แรกๆ ที่มีการแพร่ระบาด เพราะมองว่า โควิด-19 เป็นแค่ ‘ไข้หวัดธรรมดา’ และ ‘กระจอก’ จนโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก จนคนเจ็บป่วยล้มตาย กิจการล่มสลายกันไปจำนวนมาก แต่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังพูดในลักษณะว่าโควิด-19 กระจอก ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ไปพร้อมๆ กับ ‘เดลต้า’
แม้ความเชื่อว่า โอมิครอนระบาดได้รวดเร็วว่าเดลต้า แต่ไม่อันตรายเท่า แต่จากการศึกษาของอิมพีเรียลคอลเลจ ที่อังกฤษ ระบุชัดว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ว่า โอมิครอนอันตรายน้อยกว่าเดลต้า ดังนั้น เราจึงไม่ควรที่จะประเมิน โอมิครอนเอาไว้ต่ำเกินไป
ปัจจุบัน ประชากรไทยที่ฉีดแอสตร้าเซเนก้ามีถึง 13 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย แต่มีการวิจัยระบุว่า การฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม 25 สัปดาห์มีประสิทธิภาพสู้โอมิครอนได้เพียง 5.9% เมื่อเทียบกับไฟเซอร์ 2 เข็มที่ 34% ขณะที่การศึกษาของฮ่องกงพบว่า วัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพที่จะโอมิครอนได้เลย ดังนั้น ประชาชนไทยจะต้องเร่งรัดการฉีดเข็มที่ 3 เสริมภูมิกันอีกจำนวนมาก
หลายประเทศเร่งจัดหาวัคซีน mRNA มาฉีดเสริมภูมิให้กับประชาชนแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงกับออกโรงต่อสายเร่งรัดการส่งมอบวัคซีน กับซีอีโอของไฟเซอร์ โดยตรง เพื่อนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชน ขณะที่ประเทศเยอรมนี ก็ได้ตัดสินใจสั่งซื้อเพื่อสำรองวัคซีนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่วัคซีนเริ่มขาดแคลนมากขึ้น ประเทศในกลุ่ม EU ก็ได้ตัดสินใจ เปิดคำสั่งสั่งซื้อวัคซีนรุ่นที่มีการปรับปรุงเพื่อรับมือกับ Omicron ไว้แล้วถึง 180 ล้านโดส ยืนยันได้ว่า ไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไหน ที่มองว่า Omicron กระจอก
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แนะนำให้รัฐบาลปรับแผนการรับมือโอมิครอน ไว้ว่า รัฐบาลไทยควรเร่งรัดติดตามการส่งมอบวัคซีนในเดือนธันวาคมนี้ ให้สามารถส่งมอบได้ครบ 10 ล้านโดสตามแผนการจัดหา และต้องทบทวนการสำรองวัคซีนไฟเซอร์เพื่อการฉีดเสริมภูมิให้มากกว่า 30 ล้านโดสที่วางไว้เดิม ลดการสำรองวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าลงจากเดิมที่ตั้งสำรองไว้ถึง 52 ล้านโดส รวมถึงจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 4 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนที่มีความกังวลในวัคซีนชนิด mRNA เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลยังควรพิจารณาฉีดเข็มที่ 4 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีความมั่นใจในการให้บริการด้านสาธารณสุข หากโอมิครอนระบาด เพราะงานวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจชี้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 3 ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่ง ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ ก็ฉีดเข็มที่ 3 ไปกว่า 4 เดือนแล้ว
นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว รัฐบาลยังควรเร่งจัดหายารักษาให้เพียงพอ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และอัตราการเสียชีวิต จากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ฟาวิพิราเวียร์, โมโนโคลนัล แอนตี้บอดี้, โมลนูพิราเวีย และแพ็กซ์โลวิด นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาโควิด-19 ขนานใหม่ๆ ที่คาดว่ามีประสิทธิผลในการรักษาที่สูงขึ้น อยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลจำเป็นต้องติดตาม และพิจารณาจัดหาเพื่อสำรองเอาไว้ใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน ให้มีความเพียงพอ
ยาอีกหลายประเภท รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องสำรองไว้อย่างเพียงพอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ยาที่ใช้รักษาภาวะปอดอักเสบของผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง และยาที่จำเป็นต้องใช้ในงานวิสัญญี สำหรับผู้ป่วยหนัก ซึ่งปัจจุบัน มีการรายงานจากแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่า มีการขาดคราวอยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลจำเป็นต้องติดตามสต๊อก และการกระจายสต๊อกของยา เหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า แพทย์จะสามารถเบิกจ่ายเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยตามการวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที
“ผม และคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของพรรคก้าวไกล ทราบดีว่า ยารักษาโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัส หรือยารักษาภาวะปอดอักเสบ นั้นมีราคาแพงมากๆ แต่ก็ต้องยืนยันให้รัฐบาลตระหนักว่า ต่อให้ยาจะแพงอย่างไร ก็ไม่แพงไปกว่า “ชีวิตของประชาชน” และ “ความสูญเสียของครอบครัว” ที่ประเมินค่าไม่ได้
“การสำรองยาเอาไว้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อก็คือ การนำเอายาดังกล่าวบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมทั้งมีกำหนดข้อบ่งชี้ในการใช้ยาในแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ให้มีหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่แพทย์สามารถเบิกใช้ได้ตามการวินิจฉัย ให้มีความชัดเจน มีการกระจายสต็อกของยาอย่างเหมาะสมครอบคลุมพื้นที่การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่ามีเฉพาะกลุ่มคน VVIP เท่านั้น ที่จะได้รับสิทธิการมีชีวิตรอด จากยาที่มีคุณภาพเหล่านี้”