กทม. ทำสัญญาจ้างเอาเปรียบ ‘ครูพี่เลี้ยง’ – ‘มหาดไทย’ อย่านิ่งเฉย
ช่วงวัย 3-6 ปี ของเด็กๆ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากต่อการเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่บีบรัดด้วยค่าครองชีพและเวลา ทำให้พ่อแม่วัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถดูแลลูกด้วยตัวเองได้เต็มเวลา ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน’ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีมาตรฐานและเป็นที่ไว้วางใจ รวมถึงต้องมีบุคลากรที่มีทักษะและเข้าใจการทำงานกับเด็ก แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยบนพื้นฐานของสัญญาจ้างที่กดขี่และไม่เป็นธรรม โดยเรื่องนี้ได้ถูกปล่อยปละละเลย เกิดเป็นการจ้างงานในสภาพเลวร้ายภายใต้การบริหารจัดการของ ‘กรุงเทพมหานคร’ มาอย่างยาวนาน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้ตั้งกระทู้ถามต่อ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย’ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มาตราที่ 123 กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการกำกับดูแล หาก ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เห็นคุณค่าของคน ไม่เห็นคุณค่าของวิชาชีพครูพี่เลี้ยง ไม่เห็นคุณค่าของเด็กตัวเล็กๆ ไม่เห็นแก่อนาคตของชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็จะปล่อยปละเอาไว้ไม่ได้
“ครูพี่เลี้ยงเด็กใน ‘ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน’ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ถูกจ้างในฐานะ ‘อาสาสมัคร’ และต่อสัญญาจ้างกันแบบปีต่อปี ไม่ได้เป็นแม้กระทั่ง ‘ลูกจ้างชั่วคราว’ ไม่มีสวัสดิการใดๆ ทุกๆ ครั้งที่ลางาน ไม่ว่าจะเป็นการลาป่วยก็ตามจะถูกหักค่าจ้างในทุกกรณี ไม่มีความมั่นคงในชีวิต บางแห่งแม้แต่ระบบการจ่ายเงินเดือนของครูพี่เลี้ยงก็ยังไม่เข้าระบบ Payroll ไม่มีการออกเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินเดือนใดๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ ผู้ว่า กทม. ก็รับทราบจากกลไกกรรมาธิการหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยจะแก้ไขแต่อย่างใด”
วิโรจน์ ยังกล่าวย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า ในแวดวงการศึกษาและพัฒนาการเด็กต่างทราบดีว่า การเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงอายุที่เด็กจะสามารถพัฒนาศักยภาพของสมองส่วนหน้า หรือ Executive Function ซึ่งเป็นทักษะการทำงานของสมอง ที่ทำหน้าที่กำกับความคิด อารมณ์ และการกระทำ โดยมีผลต่อความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ทั้งการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ เพื่อจัดการในทุกๆ เรื่องของชีวิต
“ทุกๆ ประเทศที่ใส่ใจในอนาคตของชาติ ต่างมุ่งให้ความสำคัญกับเด็กเล็กๆ ในช่วงปฐมวัยอย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ควรลงทุนกับในทรัพยากรมนุษย์ของชาติที่สุด ถ้ารัฐบาลปล่อยปละละเลย ผ่านไป 1 ปี เด็กก็โตขึ้น 1 ปี ผ่านไป 20 ปี เด็กก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ อยากจะแก้ ก็แก้ได้ยาก”
นอกจาก ปัญหาสัญญาจ้าง ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ครูพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม และอาชีพ ‘ครูพี่เลี้ยง’ โดยหน้าที่และรูปแบบของการปฏิบัติงาน ยังถือว่าเป็นลูกจ้างใน 9 กลุ่มกิจการที่เข้าหลักเกณฑ์ แต่ก็ปรากฏว่า ครูพี่เลี้ยงไม่ได้การเยียวยาจากประกันสังคมใดๆ โดยประกันสังคมแจ้งว่า กทม. จะเป็นผู้ดูแลเยียวยาให้เอง แต่ กทม. ก็ไม่เคยเยียวยาอะไร
“ไม่น่าเชื่อว่า กทม. ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กลับไม่ให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเลย หากเทียบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัด ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ได้รับการใส่ใจดีกว่า กทม. อย่างมาก ครูพี่เลี้ยงบางส่วนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น หรืออย่างน้อยก็อยู่ในฐานะลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้เป็นแค่อาสาสมัครเหมือนกับ กทม.”
“งบประมาณอาหารกลางวันที่ กทม. จัดสรรให้กับเด็กปฐมวัยที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ก็มีอัตราเพียงแค่ 20 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้นโดยรวมค่านมไปแล้ว ซึ่งต่ำกว่างบประมาณอาหารกลางวันของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดสรรให้กับเด็ก ในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน โดยนมแยกต่างหาก กทม. จะให้เด็กเล็กๆ อยู่อย่างอดๆ อยากๆ ขาดสารอาหารไปก่อน โตขึ้นมาแล้วจึงค่อยให้กินอย่างนั้นหรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลคงจะปล่อยปละเอาไว้แบบนี้ไม่ได้”
“ถ้า ผู้ว่าฯ กทม. ใส่ใจผู้ดูแลเด็ก ผมเชื่อว่าสามารถดูแลได้ ในเมื่อไปอุดหนุนรถไฟสายสีม่วงที่ขาดทุนทุกวันได้ ทำไมจะลงทุนกับคนไม่ได้ กรุงเทพฯ ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างแต่คือผู้คน คนสำคัญที่สุด เด็กเล็กๆ ที่กำลังจะโตขึ้นมาสำคัญที่สุดเพราะคืออนาคตของคนกรุงเทพฯ อยากให้ไปดูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. ไปดูสภาพสุขอนามัย ไปความเป็นอยู่ของเด็กๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนอยู่ได้ด้วยสปิริตของชุมชนทั้งสิ้น อยู่ได้ด้วยความเสียสละของครูที่เป็นอาสาสมัครจริงๆ เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ชีวิตจึงอยู่ได้ ทั้งที่ กทม. ควรดูแลพวกเขาได้ดีกว่านี้ แต่กลับเลี้ยงให้เขาโตอย่างแคระแกร็นตั้งแต่ปี 2527 ทุกวันนี้ดีกว่านี้ได้ แต่ไม่ยอมทำ”