free geoip

ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน โดนเตะถ่วงอีกฉบับ


ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน “ก้าวไกล” คืนอำนาจตรวจสอบให้รัฐสภา ถูกรัฐบาลเตะถ่วงอีกฉบับ!

เป็นอีกครั้งที่ร่างกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.)  “เตะถ่วง” ด้วยการขอนำกลับไปพิจารณา 60 วัน ก่อนที่จะมีการลงมติในขั้นรับหลักการ ว่าจะให้มีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) หรือไม่?

กำลังพูดถึง ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ…. ที่เสนอโดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และคณะ ที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2563 และกว่าจะได้มาพิจารณาก็ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้คือปี 2565 เพิ่งได้มีการอภิปรายนำเสนอหลักการและเหตุผล ซึ่งเจ้าตัวอธิบายสั้นๆ ว่า หลักการคือให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับใหม่ เหตุผลก็โดยที่กฎหมายการบริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมา โดยได้รับการละเว้นตรวจสอบถ่วงดุลย์โดยสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรตุลาการ ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สามารถประกาศและขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปได้โดยไม่มีองค์กรอื่นใดคัดค้านได้ และเจ้าพนักงานสามารถใช้บังคับข้อกำหนดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนจนเกินความจำเป็น

รังสิมันต์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีในการสั่งการ และออกข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพตามปกติ ซึ่งอยากชี้ให้เห็นปัญหา 3 ข้อ คือ

(1) แม้จะให้อำนาจ แต่ข้อกำหนดบางอย่างที่กำหนดไว้นั้น แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป เช่น ห้ามเสนอเผยแพร่สื่อที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว กระทบความมั่นคง ความสงบ หรือศีลธรรมอันดี ซึ่งการกำหนดอย่างนี้ หมายความว่าต่อให้ข่าวที่ถูกเสนอนั้นเป็นข่าวจริง ก็ผิดใช่หรือไม่ หรือกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายร้ายแรง อำนาจจับควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัย โดยควบคุมได้นาน 7 วัน และอาจขยายได้นานสุดถึง 30 วัน ในสถานที่กำหนดแต่ต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ทัณฑสถาน เรือนจำ ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจถูกคุมตัวไปยังสถานที่ซึ่งญาติหรือทนายความไม่อาจเช้าถึงได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการซ้อมทรมาน บังคับสูญหาย หรือถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งมีกรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างที่ชัดเจนคือ กรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ห่างจากสายตาญาติเพียง 2 วันก็ตกอยู่ในสภาพโคม่า และในที่สุดก็เสียชีวิต

(2) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีพิจารณาความการปกครอง ตัดอำนาจศาลปกครองมาตรวจสอบ ซึ่งการกำหนดเอาไว้แบบนี้เกินกว่าเหตุหรือไม่ กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือไม่ ศาลปกครองไม่สามารถตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้ หรือการที่ให้ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง อาญา และวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เราเห็นหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะในการสลายชุมนุมประชาชน มีการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัว มีการกระทำเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ เช่นนี้ก็กลายเป็นเกราะคุ้มกันให้รอดพ้นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจริงอยู่ที่กำหนดว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นต้องโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินกว่าเหตุ แต่นั่น ก็เท่ากับโยนภาระการพิสูจน์ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เดือดร้อนจากการใช้กฎหมายไม่พอ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองอีก

(3) ซ้ำเติมประชาชน กระบวนการที่เกี่ยวกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะตั้งแต่เริ่มประกาศ ขยาย หรือแม้แต่สิ้นสุด คือตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการใช้อำนาจอยู่ในเฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจตรวจสอบอะไรเลยเหรอ นายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีอำนาจ นั่นเท่ากับทำให้รัฐบาลสามารถอ้างเหตุอะไรบางอย่างที่ไม่สมเหตุก็ได้แล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีใครแย้ง ไม่มีองค์กรใดแย้งได้ว่าที่ประกาศนั้นฟังไม่ขึ้นหรือแม้แต่การประกาศสถานการณ์ของพวกคุณนั้นควรยกเลิก ดังนั้น ผลก็คือ อย่างที่เราเห็น รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการฉุกเฉินเอง ต่ออายุเองมาแล้วถึง 16 ครั้ง ลากยาวจนปัจุบัน และถ้าจะต่ออายุต่อไปอีกก็ทำได้อยู่ฝ่ายเดียว ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องถามผู้มีอำนาจอธิปไตยตัวจริงอย่างประชาชนแม้แต่น้อย นี่คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วใช้ความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ใช้การล้มตายประชาชน ปิดปากประชาชนและปกป้องตนเอง


กล่าวสำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 และต่ออายุเรื่อยมาจนกระทั่งตอนนี้นั้น พรรคก้าวไกลได้เคยออกมาเตือนตั้งแต่แรกๆ แล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า หัวใจปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอ่อนแอหรือรัฐบาลมีอำนาจน้อยเกินไป หากแต่อยู่ที่รัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ชัดเจน ไร้ประสิทธิภาพ วางแผนไม่รอบคอบ ขาดการประเมินผลกระทบ ขาดการเตรียมความพร้อมรับมือ ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการสื่อสารประชาชนมากกว่า ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็ได้ เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในระบบก็สามารถจัดการได้ ซึ่งก็จริง เพราะช่วงหนึ่งเราไม่พบผู้ป่วยใหม่ในประเทศ แต่ทว่าสิ่งที่น่าเศร้าคือ กลับพบว่าการใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความรู้สึกว่าเป้าหมายหลักการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาด หากแต่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายกับกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่างๆ โดยรัฐบาลชุดนี้ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเล่นงานประชาชน ทั้งนี้ มีข้อมูลศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ถึง 31 มกราคม 2565 พบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ไม่ต่ำกว่า 1,428 ราย จากการชุมนุม ไม่น้อยกว่าใน 617 คดี

“และเมื่อไปดูก็พบว่าการชุมนุมไม่ได้สร้างคลัสเตอร์การแพร่ระบาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องชื่นชมการชุมนุมที่มีมาตรการป้องกันลดโอกาสติดเชื้อ แต่แม้มีข้อมูลว่าการชุมนุมไม่ใช่แหล่งแพร่ระบาดของโควิด หากแต่รัฐบาลก็ยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น สรุปคือเพื่อปกป้องตัวเองหรือป้องปกประชาชนกันแน่ ที่อ้างเรื่องป้องกันการแพร่ระบาด สุดท้ายคือปกป้องอำนาจในมือตนเองใช่หรือไม่”

รังสิมันต์ ตั้งคำถาม



สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ รังสิมันต์ และพรรคก้าวไกล นำเสนอฉบับนี้ มี 4 เรื่องหลัก คือ


1. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่เกิน 30 วัน และต้องเห็นชอบจากสภา

ให้มีการแก้ไขจากเดิมประกาศใช้ไม่เกิน 3 เดือน เป็นไม่เกิน 30 วัน และต้องเห็นชอบจากสภา มีการนำเสนอเหตุผล มาตรการ และกระบวนการยุติ ซึ่งหากสภาไม่เห็นชอบก็ให้การประกาศนั้นสิ้นสุดลงทันที นอกจากนี้การขยายระยะเวลา จากเดิมขยายได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน เหลือ 30 วันเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนในกรณีที่มีการประกาศในช่วงไม่มีสภา ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยระยะเวลาประกาศไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ ขยายได้ไม่เกิน 30 วัน และหากในภายหลังมีสภาชุดใหม่ในประกาศนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ก็ขอความเห็นชอบทันที เมื่อประกาศสิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีต้องนำเสนอรายงานการการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวต่อสภาใน 30 วัน


2. ตัดอำนาจการควบคุมสื่อ

เรื่องการออกข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ให้ตัดอำนาจการออกข้อกำหนดห้ามการเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวออกไป เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ข่าวสารที่ประชาชนควรได้รับมากที่สุดไม่ใช่ด้านเดียวจากรัฐ หากแต่ต้องหลายภาคส่วน ให้เห็นทุกแง่มุม เพื่อให้ประชาชนเท่าทันและตรวจสอบการทำงานรัฐบาลได้


3. ศาลปกครองสามารถตรวจสอบประกาศหรือคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายได้

ตัดข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ไม่ให้อยู่อำนาจศาลปกครอง และเจ้าหน้าที่ไม่มีความผิดในการใช้อำนาจตามประกาศ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ก็ต้องตัดออกไปด้วย เพื่อยืนยันการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องอยู่ในการตรวจสอบองค์การตุลาการเสมอ


4. ควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

กรณีสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีความจำเป็นร้ายแรงที่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตัวบุคคลได้ จากเดิมสามารถคุมได้นานสูงสุด 7 วัน และขยายได้ 30 วัน และไม่ให้คุมตัวที่สถานีตำรวจ เรือนจำ หรือทัณฑสถานนั้น ในร่างใหม่นี้ ระบุให้ต้องดำเนินด้วยกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญา คือ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ญาติทนายความเข้าถึงได้ เมื่อครบกำหนด หากจะคุมต่อไป ก็ต้องดำเนินด้วยกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น และต้องไม่กระทบสิทธิของญาติในการเยี่ยมด้วย

“ร่างนี้ไม่ใช่ร่างใหม่หรืออะไรที่ซับซ้อนเลย ทำความเข้าใจง่ายมาก เพราะคือการเพิ่มอำนาจให้สภา ให้อำนาจผู้แทนประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ เพิ่มอำนาจให้ศาลปกครองเข้ามาดูว่ารัฐบาลมีการใช้อำนาจละเมิดประชาชนหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์จะพิเศษแบบไหน หลักการเหล่านี้จะต้องมีอยู่ต่อไป วันนี้ ผมกำลังเสนอกฎหมายที่เพิ่มอำนาจพวกท่าน เพื่อไม่ให้รัฐบาลกลายเป็นเป็นรัฐบาลทรราช ถึงเวลาคืนอำนาจตรวจสอบรัฐบาลให้กับสภา ด้วยร่างกฎหมายฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส. จะช่วยทำหน้าที่อย่างมีกระดูกสันหลัง จะยืนยันในสิ่งที่ยืนยันอยู่ ทำหน้าที่อย่างมีความผู้รับผิดชอบ ซื่อตรงกับประชาชน”

รังสิมันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปรายโดยเพื่อสมาชิกอย่างกว้างขวาง นานกว่า 1 ชั่วโมง ก็มีกระแสข่าวคณะรัฐมนตรีจะขอให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณา 60 วัน ก่อนส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติขั้นรับหลักการ

รังสิมันต์ อภิปรายสรุปเชิญชวนเพื่อสมาชิกเห็นด้วยกับการโหวตรับหลักการอีกครั้ง ตอนหนึ่งว่า ขอบคุณหลายพรรคการเมืองที่เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เราใช้อยู่นี้มีปัญหา แต่คำถามคือเมื่อเห็นว่ามีปัญหาแล้วเราจะดำเนินการอย่างไร การนำเสนอหลักการและเหตุผลของตนและพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ รายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่ปรับแก้ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยการเอาความคิดของแต่ละคนมาปรับใช้ในขั้นกรรมาธิการ แต่น่าเสียดาย แทนที่จะให้กระบวนการที่ทำกันมาแบบในญัตติเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาล พอเป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดย ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน รัฐบาลกลับใช้กลไกในการรับไปพิจารณาก่อน 2 เดือน ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทำแบบนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร

“ถ้ามีการลงมติและตั้ง กมธ.ตั้งแต่วันนี้ นี่คือประโยชน์สูงสุดที่หลายคนที่อภิปรายให้เห็นปัญหาจะได้เร่งแก้ไขทันที เพราะหากปล่อยให้เนิ่นนานต่อไป แสดงว่าจะมีพี่น้องในสามจังหวัดใต้ถูกรังแกไปอีกนานขึ้น แสดงว่าจะปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้าง พ.ร.ก. โหนเชื้อโรครังแกผู้เห็นต่างต่อไป ตนเห็นว่าควรโหวตรับวาระ 1 วันนี้และไปคุยกันในชั้น กมธ. เพื่อปรับแก้ต่อไป และถ้าเห็นว่าสมบูรณ์แล้วก็โหวตรับในวาระที่ 3 นี่จะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์”

รังสิมันต์ กล่าว


แต่ อย่างไรก็ตาม อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ได้ขอให้ส่งร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ…. .ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปพิจารณาก่อนเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าจะรับหลักการต่อร่างกฎหมายหรือไม่ภายใน 60 วัน  ทำให้ สุชาติ ตันเจริญ ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ต้องขอมติจากที่ประชุม โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 394 เสียง, เห็นด้วยให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา 227 เสียง, ไม่เห็นด้วย 157, งดออกเสียง 10 เสียง

นี่เป็นอีกครั้งที่ ร่างกฎหมายจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ถูกกลเม็ดเด็ดพรายของ “คณะรัฐมนตรี” เล่นงาน ซึ่งจะเรียกว่า “เตะถ่วง” หรือ “อุ้ม” หรืออะไรก็ตามแต่…แต่ที่แน่ๆ ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแน่นอน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า