free geoip

พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ≠ พ.ร.บ.คู่ชีวิต


พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ≠ พ.ร.บ.คู่ชีวิต : คู่รักทุกคู่ทุกเพศ ต้องมีสิทธิและสวัสดิการเท่ากัน ไม่แบ่งแยก

หลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็น Pride Month เราได้เห็นประชาชนแสดงความตื่นตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศและการโอบรับความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความตื่นตัวดังกล่าวจะแปรมาเป็นความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายได้หรือไม่

พรุ่งนี้ (8 มิถุนายน 2565) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล หลังคณะรัฐมนตรีเคยงัดเทคนิคข้อ 118 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 เพื่อชะลอการลงมติ โดยการอ้างว่า “ขอนำร่างไปศึกษาก่อน 60 วัน”

แม้ภายใต้กระแสสังคมที่ส่งเสียงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คณะรัฐมนตรียังคงมีมติเพียงแค่การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยอ้างว่ามีหลักการใกล้เคียงกัน – ซึ่งเราพรรคก้าวไกล ขอยืนยันอีกครั้งว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แตกต่างกัน เพราะหากคำนึงถึงความเสมอภาคของคนและคู่รักทุกเพศ ย่อมชัดเจนว่า ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มีเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากกว่า ทั้งในเชิงหลักการ และ ในเชิงปฏิบัติ


ในเชิงหลักการ:

1.1 ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นแนวทางที่ตรงจุดมากกว่า ในการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสี่ยงจะตอกย้ำการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+ แยกออกไป และเปิดบทสนทนาในการมาไล่พิจารณาว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้รับสิทธิข้อไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากเรายึดหลักการว่าทุกคู่รักควรมีสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันอย่างแท้จริง

1.2 แม้จะมีการเพิ่มสิทธิและสวัสดิการของคู่ชีวิตบางประการ หากเทียบกับร่างฉบับก่อน แต่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด (หากอ้างอิงจากคำแถลงการณ์ล่าสุดและข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากร่างฉบับก่อน) อาจยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิหรือสวัสดิการบางประการที่คู่สมรสตามกฎหมายปัจจุบันได้รับ อย่างเช่น การหมั้น การอุ้มบุญ การขอสัญชาติไทยให้คู่รักที่เป็นชาวต่างชาติ รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิลดหย่อนภาษี ที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่ายัง “มีความแตกต่างกันในบางอย่าง” และ “ไม่เหมือนกับกรณี [คู่สมรส] ชายกับหญิง 100%” (https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_563424)


ในเชิงปฏิบัติ:

2.1 ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ควรจะมีความเรียบง่ายกว่า เพราะจะตัดความจำเป็นในการต้องเพิ่มนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” ในกฎหมายฉบับต่างๆ แต่จะเป็นการทำให้คู่รักทุกคู่ – ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิด เพศสภาพ หรือรสนิยมทางเพศแบบไหน – ถูกนิยามภายใต้คำว่า “คู่สมรส” เหมือนกันหมด จึงมีแนวโน้มที่จะถูกแก้ไขได้เร็วกว่าหรือเรียบง่ายกว่าในเชิงกฎหมาย

2.2 ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตมากกว่า เพราะได้นิยามให้ทุกคู่รักเป็น “คู่สมรส” ทำให้ถ้าในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิหรือสวัสดิการของ “คู่สมรส” ก็จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิหรือสวัสดิการนั้นโดยอัตโนมัติ ต่างจาก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่นิยามให้คู่รัก LGBTQIA+ เป็น “คู่ชีวิต” ทำให้พวกเขาจะได้รับสิทธิหรือสวัสดิการเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายที่ปรับเรื่องสิทธิและสวัสดิการของ “คู่ชีวิต” ควบคู่ไปด้วย



พรรคก้าวไกลหวังว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน จะไม่ปล่อยให้ความตื่นตัวของประชาชนกลายเป็นเพียงสายลมที่ผ่านมาและผ่านไป หรืออ้าง ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ในการปัดตกข้อเสนอ #สมรสเท่าเทียม

พรรคก้าวไกลขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ใช้โอกาสนี้ในการส่งเสียงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม เพื่อร่วมกันยืนยันว่า “สิทธิสมรส” ไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ที่กลุ่มเพศหลากหลายเรียกร้อง แต่เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างถ้วนหน้า และสังคมไทยพร้อมแล้วที่จะรับรองสิทธินี้แก่คู่รักทุกคน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า