free geoip

“ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” อย่าเป็นแค่ตราประทับรับรองให้การทุจริตภาครัฐ


“ปกรณ์วุฒิ ก้าวไกล” เสนอตัดงบ 86 ล้าน “ศูนย์ต้านข่าวปลอม” ชี้ 2 สาเหตุ คือ ไม่เป็นกลางและไม่มีมาตรฐาน – พร้อมระบุ 3 ปัญหาสำคัญคือ 1.ใช้ปิดปากประชาชน 2.เลือกปฏิบัติ และ 3.เผยแพร่คำโกหกของฝ่ายรัฐบาล



ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ผู้สงวนความเห็น ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอตัดงบประมาณของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งหมด กว่า 86 ล้านบาท

ปกรณ์วุฒิ ระบุว่า มี 2 สาเหตุ และ 3 ปัญหา ที่เราไม่ควรให้งบกับศูนย์ดังกล่าว

สาเหตุที่ 1. คือ ความไม่เป็นกลาง ขนาดที่องค์กรระดับนานาชาติไม่ให้การรับรอง หรือองค์กรอื่นๆ ที่สร้างฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วโลก หรือ Fact checker ทั้งหมด 378 หน่วยงาน ก็ไม่นับรวมศูนย์ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลไทยนี้เข้าไปด้วย ซึ่งหน่วยงานไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลนี้มีเพียง ชัวร์ก่อนแชร์ และ AFP Thailand เท่านั้น

สาเหตุที่หน่วยงานสากลไม่ให้ความเชื่อถือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่จัดตั้งโดยรัฐบาล ก็เพราะหลักการที่สำคัญที่สุดในการเป็นองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง คือ ความเป็นกลาง และสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลยในมาตรฐานสากลของคำว่าความเป็นกลางนี้ คือ การอยู่ใต้อำนาจของรัฐ

สาเหตุที่ 2. คือ ความไม่มีมาตรฐาน ซึ่งกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนั้น ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Fact Checker ได้ด้วยซ้ำ ต่างจากกระบวนการทำงานของ AFP Thailand ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะในกระบวนการที่จะตรวจสอบข่าวปลอมแต่ละข่าว หลังจากที่ใช้เครื่องมือหาข่าวที่อาจเป็นข่าวปลอมแล้ว กระบวนการที่สำคัญที่สุด คือการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยมีขั้นตอนและใช้เครื่องมือหลายๆ อย่างเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงหรือปลอม

แต่สำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนั้น กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดียว คือ สอบถามไปที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้คำตอบมาแบบไหนก็เผยแพร่ไปตามนั้น ไม่มีการตรวจสอบกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้ง การตรวจสอบเรื่องใดสักเรื่องก็ไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้ไปเอาต้นตอมาจากไหน ไม่มีเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่เผยแพร่บอกว่าเป็นข่าวจริง ก็เหมือนเป็นสิ่งที่มาโฆษณานโยบายให้กระทรวงต่างๆ ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์

ด้วย 2 สาเหตุ คือ ความไม่เป็นกลาง และความไม่มีมาตรฐานนี้ ก็นำมาซึ่ง 3 ปัญหาของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ปัญหาที่ 1. มีไว้เพียงเพื่อดำเนินคดีปิดปากคน ซึ่งมีงานวิจัยอย่างน้อยสามฉบับในช่วงปีที่แล้วให้ความเห็นตรงกันว่า ศูนย์ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลในการจัดการปัญหาข่าวปลอมด้วยการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสื่อ เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล และถ้าเราไปดูในเอกสาร TOR ของศูนย์ก็จะพบว่าบุคลากร 20% ถูกใช้ไปเพื่อทำหน้าที่จัดเก็บหลักฐานสนับสนุนงานคดี และก็มีการประกาศอย่างภาคภูมิใจบนเว็บไซต์ถึงผลงานที่สามารถดำเนินคดีกับประชาชนได้นับร้อยๆ รายด้วย

ปัญหาที่ 2. เลือกปฏิบัติว่าจะตรวจสอบเรื่องใดหรือทำเงียบในเรื่องใด เช่น กรณีที่สำนักข่าว The Matter ได้แจ้งไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทางช่องทางร้องเรียนออนไลน์ ให้ตรวจสอบข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก ศบค. ‘เรื่องแผนการส่งมอบวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ที่ว่าจะส่งให้ประเทศไทย เดือนละ 6-10 ล้านโดส’ ว่า ‘อาจไม่เป็นความจริง’ เพราะในสัญญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับ AstraZeneca ไม่ได้กำหนดตัวเลขการส่งมอบดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่คำขอดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบรับ เมื่อได้สอบถามสำนักปลัดกระทรวงดิจิทัลใน กมธ. ก็ได้รับคำตอบว่า ศูนย์ต้องตรวจสอบไปยังกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาคือบางครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ส่งข้อมูลกลับมา แต่พอถามกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันว่าให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลทุกครั้งที่ได้รับการประสานมา ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายโกหก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความบกพร่องต่อหน้าที่ของศูนย์

ปัญหาที่ 3. เผยแพร่คำโกหกของหน่วยงานราชการ เช่น กรณีที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจการทุจริตโครงการก่อสร้างแท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ในค่ายทหารที่ลพบุรี และศูนย์ได้เผยแพร่ว่า ข่าวที่บอกว่ามีการใช้งบประมาณสร้างแท่น 60 ล้านบาทนั้น เป็นข่าวบิดเบือน พร้อมให้ข้อมูลว่าโครงการนี้ใช้เงินที่ได้จากการบริจาค แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารของกองทัพเอง โครงการนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างและประกาศผู้ชนะการประกวดราคาชัดเจน ซึ่งนี่แปลว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เผยแพร่ความเท็จลงในเว็บไซต์ของตัวเอง และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขข้อมูลนี้แต่อย่างใด

“นี่คือการทำงานที่ไม่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ได้รับมา รับข้อมูลมาจากหน่วยงานอย่างไรก็เผยแพร่อย่างนั้น ทำให้สุดท้ายศูนย์นี้ก็เป็นได้แค่ ตราประทับรับรองให้กับการทุจริตของภาครัฐ เท่านั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ผมจึงขอย้ำเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ควรดำรงอยู่ และไม่ควรได้งบประมาณจากภาษีของประชาชนแม้แต่บาทเดียว ผมจึงขอสงวนความเห็นในการตัดงบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทั้งหมด 86,033,700 บาท”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 19 สิงหาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า