free geoip

งบส่วนกระบวนการยุติธรรม อุ้ยอ้าย ทำงานนอกหน้าที่ ไม่เน้นบริการประชาชน


ไม่ว่าสถานการณ์ประเทศจะเป็นอย่างไร เจอวิกฤตอะไรที่แตกต่างกันในแต่ละปี รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงจัดงบประมาณราวกับไปคัดลอกรายงานงบประมาณของปีเก่าๆ มา เหมือนคนอยู่ไปวันๆ ไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่สนใจจะพัฒนา

งบประมาณส่วนกระบวนการยุติธรรม กิจการศาล และองค์กรอิสระ ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ก็ไม่ต่างจากงบส่วนอื่นที่ไม่ได้ปรับไปตามสถานการณ์

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้เป็นการจัดงบประมาณที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ซ้ำยังให้ความสำคัญกับงบความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สภาความมั่นคงที่ได้รับงบประมาณเพิ่ม แต่งบเพื่อประชาชนกลับถูกปรับลดลงถ้วนหน้า

“สิ่งที่ยืนยันได้ดีว่าภัยความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วอย่างสิ้นเชิงก็คือ การที่ 3 เหล่าทัพประกาศรบกับลาซาด้า พี่น้องร่วมชาติจึงรู้สึกสิ้นหวังเหมือนยืนอยู่ก้นเหวลึก เพราะกฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระถูกครอบงำ ดิฉันจึงขออภิปรายงบประมาณแห่งความหวัง เป็นงบประมาณที่จะเอื้อต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่งบประมาณตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ”



ตำรวจ

ต้นน้ำแห่งความหวังของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณจำนวน 115,000 ล้านบาท แต่พบว่า กว่า 70% หรือคิดเป็นกว่า 80,000 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรหรือเรียกง่ายๆว่างบเงินเดือนประจำ ส่วนที่เหลือราว 20 % งบสร้างและซื้อ โดยงบเพื่อการก่อสร้างอย่างน้อย 6,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างสถานีตำรวจใหม่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างแฟลตตำรวจ สุดท้ายงบประมาณด้านการบังคับใช้กฎหมายและบริการประชาชนเหลือประมาณ 10% เท่านั้น

งบตำรวจที่อุ้ยอ้ายขึ้นทุกวันเกิดจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแบกรับภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจตำรวจ ถึงเวลาที่จะต้องถ่ายโอนภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจออกไป เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาตำรวจในส่วนที่สำคัญจำเป็นกว่าและเป็นงานที่เป็นหัวใจของงานตำรวจอย่างแท้จริง เช่น งานสอบสวน

งบ กอ.รมน.ควรตัดเพราะไม่เห็นว่ามีความสำคัญอะไรนอกจากจะทำหน้าที่เป็นไอโอ ส่วนงบของตำรวจตระเวนชายแดนก็ต้องปรับ เพราะหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อหลอกตาองค์กรระหว่างประเทศในการเลี่ยงใช้คำว่าทหารมาใช้คำว่าตำรวจ คือตัวเป็นตำรวจแต่ปฏิบัติภารกิจทหาร ซึ่งขณะนี้แนวชายแดนมีบริบทที่ต่างออกไปจากยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นยุคของการสู้รบด้วยไอที

ตชด.ได้รับงบประมาณปี 2566 จำนวน 2,782 ล้าน มากเทียบเท่ากับงบหน่วยงานตำรวจขนาดใหญ่รวมกันถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจนครบาลได้ 1,200 ล้านบาท ตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 800 ล้านบาท และภูธรภาค 2 จำนวน 800 ล้านบาท


อัยการและศาล

อมรัตน์ มีความเห็นว่า สำนักงานอัยการสูงสุดควรแก้ระเบียบเกี่ยวกับระเบียบการมารายงานตัวกับอัยการให้สะดวกมากขึ้น เช่น ให้สามารถรายงานตัวหรือแจ้งผลการพิจารณาทางออนไลน์ได้ หรือรายงานตัวทางออนไลน์ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ที่สถานีตำรวจหรือสำนักงานอัยการจังหวัดที่ผู้ต้องคดีสะดวก เนื่องจากที่ผ่านมา สร้างความลำบากให้กับผู้ต้องคดีในชั้นอัยการ เพราะบางครั้งต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อมาฟังคำว่า เลื่อนส่งฟ้องจากอัยการแค่ครึ่งนาที

“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากสำหรับอัยการคือ เมื่อเกิดคดีความกับเยาวชน กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ได้โปรดเดินทางไปพร้อมกัน อย่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปรับตัวเยาวชนจากราชทัณฑ์มาพบอัยการที่สำนักงานและต้องพากลับไปส่งที่ราชทัณฑ์อีก”

นอกจากนี้ ยังควรยกเลิกงบประมาณในส่วนของการจัดทำหลักสูตรคอนเนคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) หรือหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รวมไปถึงการให้ผู้พิพากษาไปเข้าร่วมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ

อมรัตน์ ยังเสนอให้ตัดงบศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพราะงานที่ออกมานอกจากจะไม่สามารถสร้างข้อยุติความขัดแย้งการตีความกฎหมายแล้ว ยังมีคำวินิจฉัยมากมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับและสร้างความขัดแย้งให้สังคม ศาลที่ไม่เข้าใจว่า ‘ปฏิรูป’ กับ ‘ปฏิเสธ’ ว่ามีความต่างกันอย่างไร ไม่เข้าใจว่า ‘ปฏิรูป’ กับ ‘ล้มล้าง’ ต่างกันอย่างไร องค์กรเช่นนี้ไม่สมควรเรียกว่าศาล

“เมื่อมีหน้าที่ตัดสินคดีการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ หากวิจารณ์ไม่ได้ก็ไม่สมควรดำรงอยู่ฉุดรั้งความเจริญของประชาธิปไตยไทยอีกต่อไป” อมรัตน์ กล่าว


เรือนจำ

แม้จำนวนผู้ต้องขังที่ลดลงประมาณ 50,000 คน แต่กรมราชทัณฑ์กลับยังตั้งงบประมาณปีนี้ถึง 14,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มมาเป็นค่าก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ที่จังหวัดลำปาง ส่วนการจัดงบประมาณอีกกว่า 13,000 ล้านบาท เป็นค่าบุคลากร 5,000 ล้านบาท และเป็นค่าควบคุมผู้ต้องขัง 6,000 ล้านบาท ขณะที่ 4,400 ล้านจาก 6,000 ล้าน เป็นงบค่าอาหารผู้ต้องขังเฉลี่ยแล้วตกหัวละ 15 บาทต่อมื้อ ซึ่งน้อยกว่างบค่าอาหารกลางวันนักเรียนเสียอีก


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต. ของบประมาณปี 66 ทั้งสิ้น 9,700 ล้านบาท แต่รัฐบาลโดยสำนักงบประมาณได้เสนอจัดสรรให้เพียง 1,707 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อไปดูงบประมาณสำหรับจัดการเลือกตั้งที่ขอไป 6,900 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรมาเพียง 244 ล้านบาทเท่านั้น การใช้ข้ออ้างว่า กกต.เตรียมงบไว้แล้วตั้งแต่ปีก่อน ก็ไม่ใช่จำนวนที่เพียงพอจะจัดเลือกตั้ง

“หากหาข้ออ้างว่าจะใช้งบกลางมาจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องถามว่ารู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2566 แน่ แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่จัดสรรงบเตรียมการเลือกตั้งให้ กกต. โดยตรงเลย หรือพลเอกประยุทธ์ตั้งใจว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือติดใจจะใช้วิธีปล้นประชาธิปไตยที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 57″

อมรัตน์ ระบุ

นอกจากนี้ อมรัตน์ ยังกล่าวว่า งบประมาณสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนให้ทำหน้าที่สังเกตการณ์เลือกตั้ง ซึ่งเดิมเคยมี แต่หายไปภายหลังการรัฐประหาร กกต. ควรมีหน้าที่จัดหางบประมาณมาสนับสนุนให้มีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งให้ครบถูกหน่วยเลือกตั้งที่มีประมาณ 92,000 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อรับประกันความบริสุทธิ์เที่ยงธรรมของผลการนับคะแนน มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของสังคม ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่อภิปรายมา จึงไม่สามารถยกมือโหวตรับหลักการงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวาระที่ 1 ได้

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า