free geoip

เสนอ ‘งบแบบก้าวไกล’ ไม่รับหลักการ ‘งบช้างป่วย’ แบบ ‘ประยุทธ์’



วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้รับหน้าที่เป็นผู้อภิปรายสรุปวาระงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่า ทำไมพรรคก้าวไกลจึงไม่สามารถสนับสนุน งบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉบับนี้ได้ นั่นก็เพราะเป็นงบประมาณที่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะก่อนมีวิกฤต เริ่มวิกฤต วิกฤตหนัก หรือปี 66 ที่สถานการณ์คลี่คลายควรเป็นปีแห่งการฟื้นฟู แต่งบประมาณของรัฐบาลก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง



“ร้อยละ 40 ยังคงเป็นงบข้าราชการ เงินเดือน สวัสดิการ บำนาญของข้าราชการ งบที่เหลือ ยังเป็นงบประมาณสำหรับผู้รับเหมา งบก่อสร้างสูงถึง 146,000 ล้านบาท และยังคงเป็นงบประมาณโครงการเบี้ยหัวแตกกว่า 26,000 รายการ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของงบประมาณ เป็นงบที่มูลค่าน้อยกว่า 10 ล้านบาท และยังคงเป็นงบประมาณที่ไม่มีตัวชี้วัดความคุ้มค่าของการใช้ภาษีของประชาชนเลยแม้แต่ตัวชี้วัดเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่ 4 ปีแต่เป็นแบบนี้มา 8 ปีแล้ว เป็นข้อสรุปง่ายๆดังที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เปรียบเทียบไว้ว่างบประมาณของรัฐบาลนี้เป็น งบประมาณแบบช้างป่วย”

หลังโควิดสังคมไทยจะเหลื่อมล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดจะยิ่งเติบโตเหมือนวิกฤตไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปีที่แล้วอภิมหาเศรษฐี 50 รายแรกของไทยรวยเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท แต่ประชาชนคนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ มีทั้งตกงาน ปิดกิจการ ต้องกู้เพิ่ม หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท สินเชื่อทุนใหญ่เพิ่มขึ้น 15% แต่สินเชื่อ SMEs ลดลง 1% เป็นการฟื้นตัวแบบ K Shape ที่เหลื่อมล้ำสุดโต่ง สังคมไทยหลังจากนี้จะมีสองโลกที่เหมือนจะยิ่งอยู่กันคนละโลกเดียวกัน ทั้งๆที่อยู่ห่างกันแค่หน้าปากซอย

“เราอยากจะอยู่กันแบบเดิมๆ แบบนี้จริงๆ หรือมันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ผมจึงต้องการนำเสนอภาพของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ว่าถ้าเราทำจะแตกต่างจากรัฐบาลชุดนี้อย่างไร”

การศึกษาหลังโควิด เป็นวาระระดับโลกที่ทุกประเทศพูดถึง แต่งบประมาณการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้ลดลง 4,526 ล้านบาท และลดลงต่อเนื่องมาแล้วเป็นปีที่ 5 ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ต้องใช้งบสำหรับการฟื้นฟูการศึกษา 26,320 ล้านบาท อย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อทั้งการฟื้นฟูสุขภาพจิต, ขยายช่วงเวลาเรียนนักเรียนที่ตามเพื่อนไม่ทันและเพิ่มศักยภาพการสอนของครู และเพิ่มงบรายหัวนักเรียนที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา อีก 13,562 ล้านบาท เพื่อให้เรียนฟรี 15 ปี เรียนฟรีได้จริง


และหากมองไปในอนาคต ก็ต้องเพิ่มงบอุดหนุนอาชีวะ ส่งเสริมสหกิจศึกษา ให้นักเรียน นักศึกษา เรียนไปทำงานไป รัฐช่วยเอกชนจ้าง จบมาแล้วจะได้มีงานทำทันที 100,000 ตำแหน่งต่อปี โดยใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาทต่อปี และถึงเวลาเริ่มต้นกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ หรือ LifeLong Learning Platform งบประมาณ 20,000 ล้านบาท รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สวัสดิการประชาชน ต้องเปลี่ยนจากสวัสดิการอนาถา หรือสวัสดิการสงเคราะห์พิสูจน์ความจน เป็นสวัสดิการประชาชนถ้วนหน้า เพราะพิสูจน์มาแล้วในช่วงวิกฤต ว่าสวัสดิการถ้วนหน้าคือตาข่ายขั้นต่ำที่จะรองรับประชาชนทุกคนโดยไม่มีการตกหล่น และหมายถึงความยั่งยืนของสวัสดิการประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกเต็มใจที่จะเสียภาษี เพราะรู้ว่าภาครัฐใช้ภาษีทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนอย่างคุ้มค่า

“ที่มาของงบประมาณฟื้นฟูการศึกษาและสวัสดิการถ้วนหน้า ในปี 66 ที่ใช้งบทั้งหมด 105,311 ล้านบาท พวกเรายืนยันว่าทำได้ใน ปี 66 นี้ ได้เลย เพราะสิ่งที่รัฐบาลควรจะเปลี่ยน คือ ลดงบกลาง ลดงบกองทุนประชารัฐ และลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เลิกโครงการเบี้ยหัวแตกต่างๆ ก็จะได้งบประมาณเพียงพอ”

นอกจากนี้ วรภพ ยังกล่าวถึง วิธีการหารายได้ใหม่ๆ เพื่อไปทำสวัสดิการประชาชน ว่า สามารถทำได้ด้วยการแก้ไขภาษีที่ดิน ให้เป็นภาษีที่ดินแบบรวมแปลง เพื่อเก็บจากกลุ่มทุนที่เลี่ยงภาษีปลูกกล้วย ปลูกมะนาว ประเทศไทยจะมีงบประมาณเพิ่มถึง หนึ่งแสนล้านบาทต่อปี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ใหม่ที่เป็นธรรม คนที่ใช้ทรัพยากรมาก ก็ย่อมควรจะเสียภาษีมาก เสียค่าส่วนกลางมากซึ่งเป็นเรื่องปกติ ยังมีตัวอย่างการหารายได้อื่นๆ เช่น เอาหวยขึ้นบนดิน เพิ่มเงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจ ลดเงินนอกงบประมาณจากการปฏิรูปกองทัพ ยุติกองทัพพาณิชย์ แล้วนำส่วนเพิ่มงบประมาณประจำปีมาทำเป็นสวัสดิการประชาชน รวมทั้งหมดแล้วจะได้งบประมาณเพิ่ม 585,000 ล้านบาท

ด้านเศรษฐกิจ งบประมาณของรัฐบาล ยังคงละเลยการฟื้นตัวของ SMEs 3 ล้านราย แต่พรรคก้าวไกล มองว่าเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้เกิดการจ้างงานต่อถึง 10 ล้านคน งบประมาณแบบก้าวไกล จะสลับงบประมาณ ระหว่างงบ SMEs กับ งบ EEC ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม เพื่อเพิ่มงบให้ บสย. ปล่อยกู้ SMEs ได้เพิ่มขึ้นสองเท่า รองรับการกลับมาเปิดธุรกิจของ SMEs และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่ SMEs ต้องการทุน ต้องการโอกาสในการกลับมาสู้ต่ออีกครั้งหลังวิกฤตผ่านพ้นไปต้องยกระดับ SMEs ให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่อีก 3 ล้านเครื่องจักรให้ได้

อีกประเด็นที่สำคัญ คือการจัดงบประมาณแบบรวมศูนย์ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ที่ตั้งสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาล ไว้เหมือนเดิมที่ 29% มาตลอด 8 ปี มีถ่ายโอนภารกิจให้แต่ไม่โอนงบประมาณมาด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนของปีนี้ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. ที่ สมัครใจโอนมาท้องถิ่น 3,384 แห่ง แต่อนุมัติงบให้เพียง 512 แห่ง นี่คือขบวนการที่บั่นทอนและฉุดรั้งการกระจายอำนาจมาตลอด 8 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

“ถ้าเป็นงบประมาณก้าวไกล คือโอนงบประมาณของ กรมทางหลวงชนบท 47,160 ล้านบาท ให้ท้องถิ่น เพื่อดูแลและซ่อมแซม ถนนกว่า 600,000 ตร.กม.ของท้องถิ่น ที่ประชาชนใช้เดินทางบ่อยที่สุด ฟื้นฟูงบเส้นเลือดฝอยของท้องถิ่นที่ถูกละเลยมาตลอด และงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 21,727 บาท ควรจะไปอยู่ที่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ เมื่อรวบงบประมาณ 2 ก้อนนี้ ที่ถ้าเป็นงบประมาณก้าวไกล ท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มเติม 68,887 ล้านบาท เพื่อทำงบประมาณที่ ตรงกับความต้องการของคนแต่ละท้องถิ่นได้มากที่สุด และถ่ายโอนภารกิจไปพร้อมๆกับการถ่ายโอนงบประมาณ ตามหลักการที่ว่า งาน เงิน คน ต้องกระจายไปพร้อมกัน”

วรภพ ยังย้ำว่า เป้าหมายของรัฐบาลก้าวไกลชัดเจนสัดส่วน รายได้ท้องถิ่น ต่อ รัฐบาลส่วนกลาง ต้องเพิ่มเป็น 50 : 50 เพราะงบประมาณที่ออกแบบโดยท้องถิ่นที่ประชาชนเลือก เป็นคนพื้นที่ ย่อมแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดตัวเองได้ดีกว่าราชการส่วนกลางที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพแล้วคิดแทนคนทุกๆจังหวัด ถ้าเป้าหมายนี้บรรลุได้ ท้องถิ่นมีรายได้ที่เพียงพอในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอีก 7,580 เครื่องทั่วประเทศ คนทุกๆจังหวัด ไม่ต้องเดินทางเข้ามาหางานกระจุกตัวที่กรุงเทพและจังหวัดรอบๆอีกต่อไป

“ประเด็นสุดท้าย บางทีความแตกต่างสำคัญที่สุดของงบประมาณ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ งบประมาณก้าวไกล อาจจะอยู่ที่วิธีคิดและกระบวนการจัดทำงบประมาณ พวกเราใช้เวลา 4 ปี จากปีแรกที่เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลงบประมาณในรูปแบบ Excel แต่ไม่เคยได้ รัฐบาลยังอยู่ในกรอบชุดความคิดที่ว่า ข้อมูลงบประมาณเป็นข้อมูลของราชการ จนถึงปีนี้ที่พวกเราเชิญชวนภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ทีม Wevis อาสากลุ่มก้าว Geek และ อีกมากมายให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี OCR เพื่อแปลงข้อมูลจาก ไฟล์ PDF 28 เล่ม 40,383 รายการ ให้กลายเป็นข้อมูลเปิด CSV ที่ภาคประชาชนเป็นร้อยๆคนสามารถมาช่วยกันวิเคราะห์และเสนอแนะงบประมาณได้ภายในไม่กี่นาที เมื่อมีข้อมูลเปิด บวก พลังจากการมีส่วนร่วมของประชาชน มันคือการระเบิดศักยภาพของการทำงบประมาณ ให้เป็น งบประมาณของประชาชน ได้ภายในไม่กี่วัน”

วรภพ ทิ้งท้ายว่า กล่าวโดยสรุป ข้อเสนองบประมาณก้าวไกล คือ เปลี่ยนงบประมาณ จาก สวัสดิการอนาถา สวัสดิการพิสูจน์ความจน เป็น ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ เติมพลังให้ประชาชน ‘เติมอนาคตให้การศึกษา’ เปลี่ยนจาก เศรษฐกิจแบบเสือนอนกิน กลุ่มทุนพวกพ้องไม่กี่ตระกูล เป็น ‘เครื่องจักรเศรษฐกิจรายย่อยและSMEs 3 ล้านเครื่องจักร’ เปลี่ยนจาก ช้างป่วย ราชการรวมศูนย์ เป็น ‘ท้องถิ่นก้าวหน้า’ 7,850 เครื่องยนต์ เปลี่ยนจาก งบประมาณของราชการ เป็น ‘งบประมาณของประชาชน’ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของภาษีและงบประมาณ

“พวกเราเชื่อและยืนยันว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้ และ ผมขอเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกลตอบสรุป คำท้าท่านนายกฯ เมื่อวานนี้ว่า ยิ่งพวกเราเข้าใจ พวกเรายิ่งมั่นใจว่า พรรคก้าวไกลพร้อมและมาเพื่อเปลี่ยนแน่นอน เพราะสิ่งที่ประเทศไทยต้องการตอนนี้ คือ ผู้นำอย่าง พิธา ที่มีเจตจำนงที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และ พรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล ที่กล้าหาญพอที่จะชนกับระบอบ นายทุน ขุนศึก ศักดินา เพื่ออนาคตใหม่ของประชาชน และเพื่อประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า