free geoip

‘ก้าวไกล’ ย้ำจุดยืนทางออกจากใจกลางวิกฤตคือเร่งทำประชามติ



‘ก้าวไกล’ ย้ำจุดยืนทางออกจากใจกลางวิกฤตคือเร่งทำประชามติ
– ตั้ง สสร. คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่
– ไม่ร่วมสังฆกรรมพลังประชารัฐเล่นละครแก้รัฐธรรมนูญต่ออายุเผด็จการ


“การไปร่วมเล่นเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ พปชร. นำมาล่อ โดยไม่สามารถยกเลิกอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ย่อมมีความหมายเพียงการช่วย ‘ต่ออายุ’ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น พรรคก้าวไกลขอให้ ‘ผู้แทนราษฎร’ ทั้งหลาย ร่วมมือกับประชาชน ยุติรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ยุติการต่ออายุ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง”



จากกระแสข่าวตลอดหลายวันที่ผ่านมาถึงการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ประเด็นนี้กลับมาเป็นที่พูดคุยถกเถียงกันอีกครั้งว่าประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ จะทำอย่างไรต่อไป???

วันที่ 13 มิถุนายน 2564 ที่พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงความเห็นต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐและข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสถานการณ์ปัจจุบัน มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐคือการต่ออายุระบอบ คสช. หัวใจของวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นการออกแบบระบบการเมืองให้มีการเลือกตั้งบังหน้า แต่สร้างกลไกต่างๆ โดยเฉพาะการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่มาจากการคัดสรรของ คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งได้ โดยขัดแย้งกับเสียงและเจตจำนงของประชาชน

2. เมื่อเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ สังคมเรียกร้องต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ที่ผ่านมาพลังประชารัฐได้เตะถ่วงและขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขประเด็นอื่นๆ แต่ปัจจุบันกลับมาแสดงบทบาทนำในการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเสียเอง

3. รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคพลังประชารัฐ ครอบคลุมหลายประเด็นหลายมาตรา แม้ดูเหมือนดี เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่โดยเนื้อแท้เป็นเพียงการทำให้เกิดความสับสน ปะผุให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. เพื่อเบี่ยงประเด็นออกจากปัญหาใจกลางของวิกฤตรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ไม่เปิดทางให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอง และการไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

4. เป้าหมายที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พปชร. มีเพียงสองประการ

>>> 4.1 แก้ไขระบบเลือกตั้ง เพื่อเป็นขนมล่อให้นักเลือกตั้งสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ โดยอาจเปลี่ยนไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน มี ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 คน และลด ส.ส. บัญชีรายชื่อลงเหลือ 100 คนนั้น ซึ่งจะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพราะขนาดเขตเลือกตั้งที่เล็กลง ง่ายต่อการเอาชนะเลือกตั้งโดยอาศัยอำนาจรัฐ อำนาจเครือข่ายอิทธิพล และอำนาจทุน (ประกอบกับเมื่อไม่ต้องนำเสียงของประชาชนทุกเสียงมาคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็จะกลายเป็นคะแนนตกน้ำ เป็นเสียงที่ไม่มีความหมายไปด้วย)

>>> 4.2 การเสนอแก้บทบัญญัติมาตรา 144 และมาตรา 185 เพื่อเปิดช่องให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล สามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณจากภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว(เปิดช่องจัดสรรงบเข้าพื้นที่ฐานเสียง ส.ส.) ได้

“ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองทั้งหลาย อย่าได้ร่วมสังฆกรรมกับละครแก้รัฐธรรมนูญฉากนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ได้นำประเทศออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ ไม่ได้นำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่นำไปสู่อะไรเลยนอกจากการปูทางให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย”

ชัยธวัช ตุลาธน






แล้วข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรรมนูญฉบับพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไร???



1. หันกลับมาสู่แนวทางของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน

>>> 1.1 เริ่มต้นจากการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด จากนั้นจึงผลักดันให้เกิดการลงประชามติขอความเห็นชอบของประชาชน ‘ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีการจำกัดอำนาจสูงสุดของประชาชน

2. ขอคัดค้านหากจะมีการตกลงกันให้เตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วเลื่อนวาระการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญรายมาตรามาพิจารณาก่อนในการประชุมร่วมของรัฐสภา ซึ่งน่าจะมีขึ้นภายในเดือนนี้


“การเปิดทางไปสู่การทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องมาก่อนการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา”



3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องมุ่งเน้นไปที่ ‘การปิดสวิตช์ ส.ว.’ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับแรก การแก้ไขระบบเลือกตั้งหรือประเด็นปลีกย่อยอื่นแม้ดูดี แต่หากไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. ย่อมไม่มีความหมายต่อการยุติการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

4. การผลักดันทำให้เกิดการลงประชามติก่อนการตั้ง สสร. จะเป็นหลักประกันสำคัญหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยุบสภา โดยอาจจะทำประชามติ พร้อมกับเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือ หากรัฐบาลลาออก รัฐบาลที่ทำหน้าที่ชั่วคราวหลังจากนั้นสามารถที่จะทำประชามติได้

5. พรรคก้าวไกลมีประเด็นที่ต้องการผลักดันในรัฐธรรมนูญ ผ่าน สสร. ที่มาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่ควรเป็น, ข้อเสนอยกเลิกวุฒิสภาให้มีสภาเดี่ยว,การปฏิรูปสถาบันตุลาการ องค์กรอิสระรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความยึดโยงกับอำนาจของประชาชน และสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้

“การแก้รัฐธรรมนูญเพียงเเค่เพื่อเเก้ ระบบเลือกตั้ง มาตรา 144 และเเก้เพื่อสิทธิ์บางอย่าง ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเเท้จริง เราคิดว่าการแก้แบบนี้เป็นการสมคบคิดทำลายเสียงของประชาชน เเละทำให้เสียงของประชาชนตกน้ำ ซึ่งคงไม่ใช่ทางออกของประเทศนี้ที่จะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มเเข็ง เราในฐานะ ส.ส.เเละพรรคการเมืองที่ยืนหยัดเพื่อพี่น้องประชาชน เรามีหน้าที่ที่จะหยุดกระบวนการนี้ และเราจะใช้กลไกในรัฐสภา เดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง”

รังสิมันต์ โรม

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า