โครงการผันน้ำยวม ไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีส่วนร่วม ผมขอคัดค้านการผ่าน EIA โครงการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมนี้
เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ ประวิตร เป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 70,675 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านและข้อท้วงติงจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน
เมื่อผมได้อ่านรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเงินของโครงการ ผมมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ โดยก่อนอื่นผมต้องเท้าความก่อนว่า โครงสร้างพื้นฐานจะมีการประเมินทั้งความคุ้มค่าทางการเงินและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยความคุ้มค่าทางการเงินของโครงสร้างพื้นฐานมักจะติดลบเป็นเรื่องปกติ แต่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจควรจะเป็นบวก ซึ่งจะหมายถึงว่าโครงการไม่คุ้มค่าทางธุรกิจแต่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยจากหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการของสภาพัฒน์ระบุว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงสร้างพื้นฐานควรจะมากกว่า 12%
ดังนั้น ข้อสังเกตประการแรกของผมคือ ซึ่งทางอาจาร์เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันก่อนที่รายงาน EIA ของโครงการจะได้อนุมัติ คือโครงการนี้ตั้งสมมุติฐานให้ตัวเลขมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยอนุมานว่าเกษตรกรจะเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูกจากข้าวนาปรังเป็น ข้าวโพด แตงโม บ่อปลา และไม้ผล หากมีน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วหากรัฐบาลทุ่มเงินลงไป 7 หมื่นล้านบาทแล้วเกษตรกรไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ 7.04% เท่านั้นคือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ตัวเลขต้องถึง 12%
การอนุมานว่าประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนโครงการจึงจะคุ้มค่าก็คงเปรียบได้กับการสร้างสนามฟุตบอลราคาแพงในชุมชนที่เยาวชนเล่นบาสเก็ตบอล แล้วคาดหวังว่าเด็กจะเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอล
ข้อสังเกตประการที่สองของผมคือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานนี้ประเมินความคุ้มค่าจากมูลค่าปัจจุบัน (NPV) โดยใช้ Discount rate เพียง 8% เท่านั้น ซึ่งถึงแม้ในรายงานจะให้เหตุผลว่ามาจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ต่ำ แต่การใช้ Discount rate สำหรับโครงสร้างพื้นฐานโดยปกติจะใช้ตัวเลขที่ 12%
จากข้อสังเกตทั้งสองประการ ถ้าการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการคำนวนอย่างตรงไปตรงมาทั้งหมด ไม่ได้มีการอนุมานว่าพฤติกรรมของเกษตรกรจะเปลี่ยนไป และใช้ Discount rate ที่ 12% เช่นเดียวกันกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของโครงการในด้านเศรษฐกิจจะติดลบถึง 19,284 ล้านบาท
ผมขอย้ำนะครับว่ามูลค่าที่อาจจะติดลบ 19,000 ล้านบาท ไม่ใช่มูลค่าทางการเงินของโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดทุนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของโครงการที่ได้ประโยชน์น้อยกว่าต้นทุน เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าชดเชย ต่างๆ ทั้งหมด
นอกจากนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำ EIA ของโครงการก็มีข้อน่ากังขาอยู่มากมาย ดังที่ปรากฎในข่าวว่าเมื่อปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมแต่ผู้แทนชุมชนได้ปฏิเสธไปเนื่องจากจัดประชุมในฤดูฝนทำให้การเดินทางด้วยถนนลูกรังบนภูเขามีความอันตราย แต่ต่อมาก็ปรากฎในรายงาน EIA ว่ามีการนำรูปบุคคลกลุ่มหนึ่งมาใช้ โดยทำให้เข้าใจในรายงานว่ามีการหารือกับประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่บุคคลที่ถูกอ้างถึงในรายงานได้ให้สัมภาษณ์การสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า ในภาพเป็นเพียงการนัดพบตามร้านกาแฟหรือร้านลาบเท่านั้น และได้ยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลมาใช้ในรายงาน EIA จนเกิดเป็นสมญานามของรายงานฉบับนี้ในสื่อมวลชนว่า “EIA ร้านลาบ”
โครงการนี้จะกระทบพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 2,735 ไร่ กระทบวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนโดยรอบอย่างมหาศาล กระทบวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่มีที่ดินตามแนวขุดอุโมงค์ผันน้ำ ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงเลยในรายงาน โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ควรจะมีกระบวนการพิจารณาที่ละเอียด รัดกุม ตรงไปตรงมาไม่มีเล่ห์กลของตัวเลข และมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด
ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่าโครงการผันน้ำยวม 7 หมื่นล้านบาทนี้ ควรมีการทบทวนความคุ้มค่าของโครงการ ที่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และควรมีการทบทวนรายงาน EIA ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และขอคัดค้านโครงการที่จะเข้าสู่การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีถ้าหากโครงการนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าจะมีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง และประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง