free geoip

อย่าอ้างกรณี TRUE-DTAC ว่า “เป็นปกติของธุรกิจ”


อย่าปล่อยเกียร์ว่าง กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ดูบทเรียน ตปท. การแข่งขันลด ค่าบริการแพงขึ้นแน่

การควบรวมระหว่างบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ ทรู-ดีแทค ที่จะทำให้ประชาชนมีตัวเลือกน้อยลง จนค่าบริการอาจเพิ่มขึ้นจากการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกลับพยายามปัดความรับผิดชอบออกจากตัวกันพัลวัน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จึงตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อนายกรัฐมนตรีโดยได้มอบหมายให้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบแทน ในกรณีนี้


📌 หน่วยงานเกียร์ว่าง เกิด ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’


ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “ขณะนี้กำลังเกิด ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’ เพราะองค์กรที่ สามารถระงับยับยั้งการควบรวมกิจการได้ ต่างบอกว่าไม่มีอำนาจ กขค. บอกว่าไม่สามารถพิจารณาการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมได้เพราะมีกฎหมายเฉพาะ แต่กฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.กสทช. กลับไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมกิจการ”

“ถ้าตีความแบบนี้ก็จะแปลว่า ‘ธุรกิจโทรคมนาคม’ เป็นธุรกิจที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดเลยที่สามารถระงับการควบรวมกิจการที่อาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดได้ เรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้ กลับไม่มีองค์กรใดเลย ที่บอกว่าตนเองมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งความจริงก็มีความเห็นจากอาจารย์นิติศาสตร์ว่า ถ้ากฎหมายของ กสทช. ทำงานไม่ได้ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า ก็มีมาตราที่ว่าด้วยการใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิด และการห้ามทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขัน ที่อาจจะพอจะเอามาใช้ตรวจสอบการควบรวมได้ เข้าใจดีว่า ทั้งสององค์กรมีลักษณะที่เป็นองค์กรอิสระที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่อาจจะอิสระมากไป จนน่าสงสัยว่าเป็นอิสระจากประชาชน เป็นอิสระจากการตรวจสอบด้วยหรือเปล่า”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะผู้ที่รักษาการตาม พ.ร.บ.กสทช. คือ นายกรัฐมนตรี และผู้ที่รักษาการตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คำถามก็คือ รัฐบาลจะเรียกหน่วยงานมาชี้แจง เพื่อพูดคุยเจรจาหาทางออก หรือเพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปสรุปให้ได้ว่า กรณีนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ หรือทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องร่วมกันดูแลตรวจสอบในส่วนที่ต่างกัน หรือจะมีมาตรการใดๆ ในการหาทางออกในการตีความกฎหมาย 2 ฉบับนี้หรือไม่ หรือรัฐบาลจะปล่อยเกียร์ว่างให้เกิดสุญญากาศแบบนี้ ปล่อยให้เกิดการควบรวมโดยที่ไม่มีการตรวจสอบ หรือประเมินผลกระทบใดๆ และถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ในอนาคตอาจจะมีการควบรวมที่อาศัยสุญญากาศทางกฎหมายเกิดขึ้นอีก โดยรัฐบาลปล่อยให้ประชาชนรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเอาเองเช่นนั้นหรือ

ชัยวุฒิ ตอบว่า นายกฯ ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาติดตามดูว่ามีอำนาจอะไรไปยับยั้งได้บ้าง แต่ตอนนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการควบรวมกิจการเท่านั้น และเป็นการรวมเฉพาะในส่วนผู้ถือหุ้น ยังไม่ได้รวมในบริษัท บริษัททั้งสองยังแยกไปทำธุรกิจอยู่แต่มีเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน และธุรกิจสื่อสารถือเป็นสาธารณูปโภคที่ลงทุนสูงและมีความเสี่ยงสูง จึงมีผู้ประกอบการน้อยรายอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องแข่งขันกันทั้งความเร็ว ทั้งราคา แต่โดยหลักคือต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงาน กรณีนี้คือ กสทช. แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นรวมธุรกิจ



📌 เหลือแค่ 2 ราย ทำ ‘ดัชนีผูกขาด’ พุ่งทะยาน


ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เข้าใจดีว่าการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นเป็นส่วนผู้ถือหุ้น แต่ในคำสั่ง กสทช. ก็มีระบุอำนาจไปถึง ‘ผู้ควบคุมกิจการ’ ซึ่งหมายถึง บริษัทแม่ ผู้ถือหุ้น หรือ เจ้าของ ก็คือ ผู้ควบคุมกิจการเจ้าเดียวกัน เกิดสภาพความเป็นจริงว่าทั้ง 2 ราย จะกลายเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเดียวกัน ทำให้ประชาชนจะเหลือค่ายมือถือให้เลือกเพียง 2 เจ้าเท่านั้น และเข้าใจดีว่า ธุรกิจนี้ต้องลงทุนสูงไม่สามารถมีผู้แข่งขันจำนวนมากในตลาดได้ แต่มันมีดัชนีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความผูกขาดอยู่ เรียกว่า HHI เป็นการนำตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของผู้เล่นแต่ละรายในอุตสาหกรรมมาคำนวณ ยิ่งตัวเลขสูงก็แปลว่าตลาดผูกขาดมาก

“ปัจจุบันที่มี 3 เจ้าใหญ่ ค่า HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทย อยู่ที่ประมาณ 3,600 แต่การควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ตัวเลขพุ่งไปอยู่ที่ 5,012 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก จากสภาวะการแข่งขันที่น้อยอยู่แล้วจะยิ่งน้อยลงไปอีก สภาวะการผูกขาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า ตลาดที่มีผู้เล่นเพียง 2 ราย เมื่ออยู่ในจุดที่ทั้งคู่พอใจในส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง จะทำให้ไม่มีการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นเลย ขอให้ลองนึกย้อนไป 20 กว่าปีที่แล้ว ที่เราเคยมีค่ายมือถือเพียง 2 ค่าย ทั้งที่มีแค่การสื่อสารด้วยเสียง ไม่มีแม้กระทั่ง internet แบบ GPRS แต่ค่าบริการรายเดือนสูงถึง 500 บาท ขั้นต่ำโทรหาเบอร์ที่จดทะเบียนข้ามจังหวัด เสียนาทีละ 8- 10 บาท ในขณะที่ข้าวจานละ 20 บาท

ก่อนหน้านี้ ชัยวุฒิ ให้สัมภาษณ์สื่อ ว่า “จะผูกขาดอย่างไร เรื่องมือถือมีการแข่งขันอยู่แล้ว ธุรกิจนี้มีหลายเจ้า ไม่ใช่เจ้าเดียว บางประเทศยังมีแค่เจ้าเดียว” แต่ การผูกขาด ไม่ได้แปลว่า ถ้ามีมากกว่า 1 ราย จะไม่ผูกขาด มาตรการการป้องกันการผูกขาด คือการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การครอบงำตลาด’ และป้องกันไม่ให้สภาวะการแข่งขันต่ำเกินไป จนเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งแม้มีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่หากมีรายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งไป 70-80 % ก็ถือว่า ครอบงำตลาดได้”

“ที่รัฐมนตรีบอกว่า บางประเทศมีแค่เจ้าเดียว หากดูแค่ในเอเชียมีแค่ 2 ประเทศ คือ หมู่เกาะโซโลมอน และ เกาหลีเหนือ และถ้าดูทั่วโลกจริงๆ ประเทศที่มีผู้ประกอบการด้านนี้รายเดียว เกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยมาก หลักแสนหรือไม่เกิน 1-2 ล้านคน การให้ความเห็นแบบนี้ของรัฐมนตรีจึงขอถามว่า สิ่งที่พูดถือเป็นความเห็นของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ใช่หรือไม่ แปลว่ารัฐบาลมองว่าการควบรวมครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาด และไม่มองว่าจะเกิดกระทบต่อประชาชนเลยหรือ”

ชัยวุฒิ ตอบคำถามนี้ว่า สิ่งที่อยากสื่อสารคือ เราไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว แต่มี AIS ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่ และมีรัฐวิสาหกิจหรือ NT ที่แข่งอยู่ห่างๆ เพื่อบริการประชาชนด้วย แต่จะมีกี่รายก็ การแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ มีโอกาสฮั้ว หรือมีอำนาจเหนือตลาดกดดันผู้บริโภคอยู่แล้ว จึงต้องมีการกำกับดูแล ทุกวันนี้ก็มี กสทช. ดูแล ตนได้หารือผู้บริหาร กสทช. ที่กำลังศึกษาวิธีการไม่ให้มีการขึ้นราคา หรือลดบริการคุณภาพ จะติดตามใกล้ชิดอย่างแน่นอน

การที่เอกชนวางแผนธุรกิจ อาจไปรวมกันเพื่อลดต้นทุน รัฐบาลไม่สามารถไปห้ามได้ การที่เอกชนตัดสินใจจะระดมทุนแบบไหนเป็นเสรีภาพ เป็นสิทธิของเขา รัฐบาลไม่ควรไปยุ่ง แต่ควรกำกับดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผล กระทบเป็นหัวใจสำคัญ



📌 ผลศึกษายุโรป ชี้ชัด เหลือน้อยรายยิ่งกระทบ ‘ผู้บริโภค’


ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า จากผลการศึกษา ของ The European Regulators for Electronic Communications ที่ศึกษา “จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ใน 3 ประเทศ ที่เกิดการควบรวมธุรกิจนี้ จาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ปรากฏว่า 3 ประเทศนี้ หลังจากมีการควบรวมใน 1 ปี เยอรมนี ค่าบริการเพิ่มขึ้น 30% ไอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 12.5% ออสเตรีย เพิ่มขึ้น 25% และการศึกษาของ บัณฑิตยสภาฮังการี ข้อมูลระหว่างปี 2003-2010 จาก 27 ประเทศในยุโรป พบว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคม จาก 5 ราย เหลือ 4 ราย จะไม่ค่อยมีผลมากนัก แต่การควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นในระยะยาวโดยเฉลี่ย 29% และในรายงานนี้ ยังเสนอว่า “ผู้กำกับดูแลไม่ควรอนุญาตให้ควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย เพราะมี ‘ความเสี่ยงสูง’ ที่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นในระยะยาว

”4 เหลือ 3 เขาก็ไม่แนะนำให้ทำแล้ว แต่เรากำลังจะทำจาก 3 เหลือ 2 ขอร้องว่า ไม่ต้องนับ NT ที่ส่วนแบ่งการตลาดปีล่าสุดแค่ 3% เข้าไปเพื่อบอกว่ายังมีการแข่งขัน เพราะส่วนแบ่งตลาดเท่านี้ เอกชนก็ไม่นับว่าเป็นคู่แข่งและแทบจะไม่มีผลอะไรเลยกับสภาวะการแข่งขัน แม้กระทั่ง ตัว NT เองยังเคยพูดใน กรรมาธิการงบประมาณ ปีล่าสุดว่า เน้นการรับงานจากพันธมิตร ซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ ไม่ได้คิดจะแข่งขันกับเอกชน”

ที่ ชัยวุฒิ บอกว่า การควบรวมเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการควบรวมเป็นเรื่องปกติก็จริง หากเป็นการควบรวมระหว่างรายเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน เพื่อแข่งกับรายใหญ่ได้ แต่การควบรวมของรายใหญ่มันมีแต่การผูกขาด

ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า ในโลกในยุคนี้ การสื่อสารโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องความฟุ่มเฟือย เป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนใช้ในการขยับสถานะของตัวเอง ทั้งในการหาความรู้ และในการหารายได้ ต้องมีอินเทอร์เน็ตติดตัวเราทุกที่ทุกเวลา แต่สุดท้าย สิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชน ซึ่งรัฐบาลประกาศไว้ในนโยบายว่าเป็นเรื่องสำคัญกลับกลายเป็นมีความเสี่ยงว่าประชาชนต้องจ่ายต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว รัฐบาลเหมือนเข้าใจกลุ่มทุนหรือเกิน แต่ฟังแล้วไม่มั่นใจว่าท่านเข้าใจหัวอกกประชาชนแค่ไหน

“เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะมีกรณีที่คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้น คือการควบรวมธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ เป็นคำครหาที่มีมาตลอดกับรัฐบาลและองคาพยพของ คสช. ในองค์กรรัฐต่างๆ ถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งหลาย การออกกฎหมายและการดำเนินนโยบายต่างๆ หรือแม้กระทั่งการวางเฉยกับบางเรื่องก็มีคำครหาอยู่เสมอ ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน มากกว่าการเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชน ในกรณีนี้ สังคมก็กำลังตั้งคำถามว่ารัฐกำลังทำเพื่อเอกชน เพื่อกลุ่มทุน เมื่อการตัดสินใจของท่านเกิดคำถามต่อสังคมก็ต้องตอบให้ได้”

“ในคำถามนี้ ผมขอมอบพื้นที่ให้ท่านรัฐมนตรี ตอบคำถามกับพี่น้องประชาชนว่า สิ่งที่รัฐบาลจะกระทำใดๆต่อไปในกรณีนี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือประโยชน์ของกลุ่มทุน หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริงและเกิดผลกระทบกับประชาชนตามที่คาดไว้ รัฐบาลคิดเอาไว้หรือไม่ว่า จะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาให้กระทบน้อยที่สุดอย่างไร”

ชัยวุฒิ ตอบคำถามสุดท้ายว่า นี่ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง แต่กลุ่มทุนวางแผนของเขาเอง รัฐบาลไม่ได้ไปทำเพื่อเกิดประโยชน์กับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ธุรกิจโทรคมนาคมมีต้นทุนสูง แต่ทุกอย่างมีความเสี่ยง ต้องให้โอกาสให้เขาได้คิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของเขา แต่สิ่งที่เราต้องคิด คือการกำกับดูแล ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กสทช. ติดตามเรื่องนี้อยู่ และมีอำนาจควบคุมกำหนดราคาขั้นสูง การกำหนดบริการขั้นต่ำ เท่าที่ทราบจะมีออกมาหลายมาตรการแต่ยังไม่เวลาที่ต้องได้ข้อสรุปตรงนี้ เพราะทั้งหมดเพิ่งเริ่มจะต้องติดตามศึกษาต่อไป





Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า