free geoip

เปิดแผน ‘กินเหนือเมฆ’ ตั้ง ‘บริษัทผีปอบ’ รอสูบกินขุมทรัพย์แสนล้านการเคหะ


หากย้อนเวลากลับไปช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นั่นคือ ช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปิ๊งไอเดีย ‘กินเหนือเมฆ’ เปิดมหกรรมสร้างเพื่อโกง เริ่มมหากาพย์การผลาญภาษีพี่น้องประชาชน ตั้งแต่กินคำเล็กผ่าน ‘โครงการเคหะสุขประชา’ ที่อ้างว่า เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชนได้เช่า ทั้งยังบอกว่าโครงการนี้เพื่อ ‘ถวายเป็นพระราชกุศล’ แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ได้ดำเนินการใดให้คืบหน้าไป นอกจากการถมดินกินหัวคิว ยิ่งไปกว่านั้นยังซ่อนเป้าหมายกินคำใหญ่ ด้วยการรวมหัวกับนักปั่นหุ้นคนสนิท ใช้โครงการเคหะสุขประชาตกแต่งตัวเลขให้สวย เปิด ‘บริษัทผีปอบ’ เป็นประตูสู่ตลาดหลักทรัพย์ไว้สูบกินผลประโยชน์ระยะยาว 

หากทำสำเร็จตามเป้าหมาย เชื่อได้ว่า จุติและเครือข่าย นอกจากจะรวยจากกระบวนการปั่นหุ้นแล้วยังจะสามารถใช้บริษัทแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางแห่งการหักหัวคิวกินผลประโยชน์ไปชั่วลูกชั่วหลาน แม้ในวันนั้นจุติ จะพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม


‘เคหะสุขประชา’ มหกรรมสร้างเพื่อโกง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหนึ่งหน้าสำคัญคือการดูแลความมั่นคงด้านที่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยมี ‘การเคหะแห่งชาติ’ เป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแล แต่ที่ผ่านมา ด้วยความเป็นองค์กรดูแลความเป็นอยู่ของคนตัวเล็กตัวน้อยจึงทำให้การเคหะฯ ไม่ค่อยอยู่ในสปอร์ตไลท์ของสังคมมากนัก ในทางกลับกัน หากประเมินทรัพย์สินในมือแล้วอาจมีมูลค่ารวมกันนับแสนล้านบาท ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างเกือบล้านยูนิตทั่วประเทศ นั่นจึงหมายถึงช่องทางและโอกาสให้หาประโยชน์ได้จากโครงการเหล่านี้มหาศาล 

โครงการเคหะสุขประชา’ คือหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายนี้ เป็นโครงการสร้างบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปีละ 20,000 ยูนิต เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น 100,000 ยูนิต ด้วยเหตุผลว่า ในช่วงโควิด คนไม่มีเงินซื้อบ้าน จึงควรยกเลิกโครงการสร้างบ้านขาย แล้วเปลี่ยนมาเป็นสร้างบ้านเช่าราคาถูกแทน ทั้งยังอ้างถึงความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่วางแผนให้คนไทย 200,000 ครัวเรือน มีอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังอ้างถึง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’  เพื่อให้โครงการเดินหน้าโดยสะดวกโดยบอกว่า โครงการนี้ทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จะเปิดโครงการ 20,000 หลัง ทุก ๆ วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ร.10 เป็นเวลา 5 ปี จนสร้างเสร็จครบ 100,000 หลัง อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า โครงการนี้ได้แจ้งหรือทำคำขอไปถึง ‘สำนักพระราชวัง’ หรือไม่ ในขณะที่การทำโครงการแบบ ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ห้อยท้ายโครงการ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ตัวแทนจากส่วนราชการในพระองค์ฝากไปถึงหน่วยงานต่างๆให้ยกเลิกการกระทำแบบนี้ในห้องการพิจารณางบประมาณ ปี 66 ที่ผ่านมา


โครงการเคหะสุขประชา ยังถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น โดยเฉพาะจากคนในการเคหะแห่งชาติเอง ที่มองว่า ขณะนั้นยังมีบ้านการเคหะที่เหลืออยู่และไม่มีคนเช่าอีกนับหมื่นยูนิต จึงไม่มีเหตุผลที่สร้างบ้านเช่าเพิ่มอีก 100,000 ยูนิต เมื่อมีการคัดค้าน ทำให้มีการเรียก ‘ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ’ และคณะผู้บริหารในขณะนั้นเข้าไปพบที่กระทรวง เพื่อกดดันให้โครงการนี้เดินหน้าต่อ จนนำไปสู่การเชือดไก่ให้ลิงดู ด้วยการหาเหตุตั้งกรรมการสอบผู้ว่าการเคหะแห่งชาติและบีบให้ลาออกได้สำเร็จ จากนั้นจึงแต่งตั้ง ‘ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหรือบอร์ดการเคหะที่ จุติ เป็นคนแต่งตั้งเข้ามา ดำรงตำแหน่งเป็น ‘ผู้ว่าการเคหะคนใหม่’ 



หลังได้ ผู้ว่าการเคหะคนใหม่ ในเวลาถึง 1 เดือน จึงมีการชงโครงการเคหะสุขประชาเข้า ครม. ทันที ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563  แต่เป็นการเสนอเพียงเพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อขอความเห็นชอบ 


นอกจากนี้ ในเรื่องความคุ้มทุน เมื่อมีผลรายงานการศึกษาโครงการรอบแรกออกมา พบว่าต้องใช้เวลานานถึง 200 ปี จึงจะคืนทุน ทำให้มีการสั่งปั้นตัวเลขใหม่ วิธีแรกคือ การลดต้นทุน จากเดิมการเคหะแห่งชาติ ตั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นไว้ที่ 19% พอมาทำโครงการเคหะสุขประชา ก็ลดเหลือแค่ 10% ถึงกระนั้นเมื่อ คำนวณออกมาแล้วก็ยังต้องใช้เวลาถึง 25 ปีกว่าจะคืนทุน    



จึงทำให้ต้องใช้วิธีต่อมาเพื่อทำให้ค่า EIRR ของโครงการดูสูงขึ้น ด้วยการเพิ่มรายได้หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าไปในโครงการ ด้วยการบอกว่า หากมีโครงการนี้ประชาชนจะมีรายได้จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกผัก ปลูกเมล่อน แล้วเอารายได้จากการขายผักขายไข่มาคำนวณเป็นรายได้ของโครงการเคหะสุขประชา ข้อสังเกตคือการชงโครงการปั้นตัวเลข EIRR แบบนี้เคยทำมาแล้วในโครงการอื่น เช่น ‘โครงการเคหะสุขประชาร่มเกล้า’ ด้วยการบอกว่ารายได้ประชาชนในโครงการจะเพิ่มขึ้นได้จาการพับถุงกล้วยแขกและถุงกาแฟ


ถึงปัจจุบัน โครงการเคหะสุขประชา ยังไม่เคยมีการขอให้ ครม.อนุมัติ เนื่องจากมีการอ้างว่าเป็นเพียงโครงการนำร่อง อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องเช่นนี้ก็มีบทเรียนความล้มเหลวมาแล้วก่อนหน้านั้นจาก เคหะร่มเกล้า และ เคหะฉลองกรุง ซึ่งเมื่อมีประชาชนเข้าอยู่แล้ว นอกจากพบปัญหาจำนวนมาก บรรดาเศรษฐกิจสุขประชาหรือเศรษฐกิจใหม่จากการพับถุงกล้วยแขกพับถุงกาแฟที่ใช้อ้างเพื่อทำโครงการก็ไม่มีอยู่จริง  

แต่โครงการเคหะสุขประชายังพบสิ่งที่เน่าเฟะกว่ากระบวนการผลักดันโครงการ นั่นคือ กระบวนการจัดทำโครงการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการถมดิน-ก่อสร้าง ที่ส่งกลิ่นการทุจริตแบบหนักข้อ เพราะเป็นครั้งแรกที่การเคหะแห่งชาติ แยกโครงการถมดินกับโครงการก่อสร้างออกจากกัน ผลที่ตามมาคือ โครงการนี้ในหลายพื้นที่มีแต่การถมดินทิ้งไว้โดยไม่มีการก่อสร้าง ปล่อยทิ้งไว้นานนับปีจนหญ้าวัชพืชขึ้นเต็มพื้นที่ สาเหตุที่ทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะต้องการกินเร็ว เนื่องจากเวลาการเป็นรัฐมนตรีเหลือน้อย หากกินรวบทั้งถมดินและก่อสร้างคงไม่ทันการจึงถมไปก่อนทุกโครงการ จึงเลือกหยิบชิ้นปลามันกินไปก่อนให้ทันสมัยที่ จุติ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรี ส่วนจะได้ก่อสร้างหรือไม่ ไว้ค่อยว่ากันอีกที


ปฐมบทแผนกินเหนือเมฆ 

เป้าหมายของ จุติ ไม่ได้หยุดเพียงแค่การหากินรายโครงการเท่านั้น แต่หวังไปถึงกินระยะยาวจากมูลค่าสินทรัพย์นับแสนล้านในการเคหะ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมาย จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ด้วยการแปลงสินทรัพย์เหล่านั้นให้อยู่ในมือของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้วนำไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหวังกำไรครั้งใหญ่จากกระบวนการปั่นหุ้น และทำให้การรับประโยชน์ทำได้จากภายนอก แม้หลังจากนี้ จุติ จะหมดวาระไปแล้วก็ตาม เนื่องจากมีการวางเครือข่ายรวมถึงวางมือปั่นหุ้นคนสนิทข้างกายไว้ในตำแหน่งสำคัญของการเคหะฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ตั้งแต่ปี 2562 หลังจุติ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2562 จึงเริ่มแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั่งเป็นกรรมการหรือบอร์ดการเคหะแห่งชาติ


หนึ่งรายชื่อสำคัญที่เป็นกรรมการในการแต่งตั้งครั้งนั้น คือ นาย จรร. ที่มีชื่อเสียงในวงการการเงิน ว่าเป็นมือปั่นหุ้น และเป็นคนนำบริษัทหลายๆบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบุคคลเดียวกันนี้เคยมีประเด็น เป็นที่เพ่งเล็งของ กลต. ในยุคที่ จุติ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ปี 53 โดยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา คดีนั้น จุติ ถูกกล่าวหาว่ามีปัญหาพัวพันเรื่องการทุจริต ประมูล 3จี แต่รอดมาได้อย่างหวุดหวิดด้วยการโยนทุกอย่างให้บอร์ดรับ แต่กระบวนการส่อเจตนาหาประโยชน์จากการเคหะฯ ในครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าบอร์ดส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่ จุติ ตั้งเข้ามา จึงยากที่จะเลี่ยงความผิดชอบได้ 


มหากาพย์ภาคแรก หวังดัน CEMCO เข้าตลาดหลักทรัพย์

ความจริงแล้วหากแผนแรกนี้สำเร็จคงไม่มีการตั้ง บมจ.เคหะสุขประชา ในภาคถัดมา เดิมที จุติ และเครือข่าย ต้องการปั้น บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ เซ็มโก้ (CEMCO) เป็นหัวขบวนของโปรเจ็คนี้ เพียงแต่ในช่วงท้ายไม่เป็นไปตามแผนที่คาด แผนการใช้เซ็มโก้จึงต้องพับไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำมาหากินของ จุติ และเครือข่ายผ่านเซ็มโก้ คือโมเดลต้นแบบของ ‘บริษัทผีปอบ’ ที่ฉายให้เห็นภาพใหญ่ของขบวนการนี้

เซ็มโก้ เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของการเคหะแห่งชาติ ที่การเคหะถือหุ้น 49% อีก 51% ที่เหลือเป็นบริษัทเอกชนถือ บริษัทนี้ตั้งตามมติ ครม. ปี 2537 มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อดูแลนิติบุคคลหมู่บ้าน คอนโด หรือคอยเป็นตัวแทนเก็บค่าเช่าค่าส่วนกลางให้กับการเคหะแห่งชาติเท่านั้น แต่อยู่ๆบริษัทนี้กลายเป็นบริษัทที่ได้รับงานรับเหมาถมดินของการเคหะแทบทั้งหมด ทั้งที่ไม่เคยรับงานก่อสร้างถมดินมาก่อนเลย ไม่มีทั้งวิศวกร รถตักหรือรถไถสักคัน เฉพาะปี 63 ปีเดียว บริษัทเซ็มโก้ รับงานถมดินจากการเคหะฯไป 821 ล้าน โดยไม่ต้องผ่าน e-bidding แข่งกับบริษัทใด

การเคหะฯ อ้างเหตุผลในเรื่องนี้ว่า ตัวเองถือหุ้นเซ็มโก้ มากกว่า 25% เลยเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกฎกระทรวงปี 61 ให้สามารถจ้างบริษัทเซ็มโก้แบบเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายอย่างศรีธนญชัย เพราะการที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจจ้างบริษัทลูกได้แบบเฉพาะเจาะจง ต้องเป็นการจ้างในกรณีที่บริษัทลูกมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งตรงตามเนื้อหาของงานที่จะจ้าง หรืออธิบายได้ว่า จะจ้างบริษัทลูกแบบเฉพาะเจาะจงได้ก็ต่อเมื่อเป็นงานที่บริษัทลูกทำเองอยู่แล้วจริง ๆ ไม่ใช่จ้างบริษัทลูกที่ต้องไป ‘จ้างช่วง’ บริษัทอื่นเพื่อกินหัวคิวต่อ

เรื่องนี้ การเคหะฯ รู้ดีว่ากำลังทำผิด จึงพยายามหาทางออกให้ตัวเอง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การเคหะฯ ส่งหนังสือไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยตั้งคำถามว่า “ถ้าจะให้เซ็มโก้รับงานจากการเคหะแห่งชาติ ที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ก่อนหรือไม่” ซึ่ง สคร. มีหนังสือตอบกลับมาว่าถ้าจะทำก็ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน อย่างไรก็ตาม การเคหะฯ กลับเลือกที่จะไม่เคยขอ ครม. แต่เลี่ยงไปหา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทในหนังสือบริคณห์สนธิที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้สามารถรับเหมาถมดินหรือก่อสร้างด้วย 

แต่การบิดกฎหมายทลายทุกข้อจำกัด เพื่อประเคนงานให้กับบริษัทเซ็มโก้ ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะผู้ว่าการเคหะฯ ที่เป็นเครือข่ายของ จุติ ยังได้ไปแก้ระเบียบเพื่อเอื้อให้เซ็มโก้สามารถรับงานของการเคหะ ไม่ต้องมีผลงานก่อสร้างมาก่อนก็ได้ แถมยังให้เซ็มโก้รับงานการเคหะพร้อมกันกี่ร้อยสัญญาก็ได้ ไม่ถูกจำกัดไว้ที่ 3 สัญญา เหมือนผู้รับเหมารายอื่น มิหนำซ้ำ ยังให้เซ็มโก้เบิกเงินล่วงหน้าได้ 15% ก่อนส่งงวดงานด้วย  


อย่างไรก็ตาม การที่เซ็มโก้ไม่ใช่บริษัทก่อสร้างมาแต่แรก ทำให้สุดท้ายก็ต้องไปจ้างช่วงบริษัทรับเหมาเจ้าอื่นมาทำงานแทน ทำให้มีค่าหัวคิวอีกต่อหนึ่ง ทั้งที่หากการเคหะฯ จ้างบริษัทที่สามารถทำงานถมดินได้จริงตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้ ไม่ต้องผลาญภาษีพี่น้องประชาชน ไปให้บริษัทจำกัด




อีกหนึ่งข้อสังเกต เนื่องจากการเข้าไปรับงานก่อสร้างถมดิน ปกติจะต้องมีการวางเงินประกันอยู่ที่ 5% หากนำมาคำนวณจากรายได้ 821 ล้านบาท หมายความว่าเซ็มโก้จะต้องมีงบเพื่อวางเงินประกันราว 40 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ณ สิ้นปี 2562 เซมโก้มีเงินสดรวมเงินฝากแค่ 50,000 กว่าบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า การเคหะฯ ยังใช้วิธีซอยงานถมดินแบบแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ซึ่งผิด พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยการทำให้ทุกโครงการเซ็นสัญญากันไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นในอำนาจของผู้ว่าการเคหะฯ เซ็นเองได้ เพราะหากสัญญาเกิน 50 ล้านบาท จะต้องให้บอร์ดการเคหะแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า 


ความพยายามในการประเคนโครงการให้เซ็มโก้เป็นไปตามเป้าหมายในการแต่งหน้าแต่งตัวเสริมสวยให้งบการเงินของบริษัทเซ็มโก้ ซึ่งไม่ใช่เพื่อกินเร็วผ่านการหักหัวคิวเท่านั้น เพราะเป้าหมายใหญ่คือการปั้นตัวเลขรายได้ให้มีกำไรมากพอผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรอโอกาสเข้าไปถือหุ้น เก็บดอกเก็บผล สูบกินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการรับเหมาก่อสร้างต่าง ๆ ของการเคหะ  

หนึ่งหลักฐานที่สะท้อนถึงความพยายามจะเอาเซ็มโก้เข้าตลาดหลักทรัพย์ คือบันทึกการประชุมวิสามัญ บริษัท เซ็มโก้ ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่มี นาย จรร. คนสนิทของ จุติ เข้าไปประชุมในฐานะตัวแทนของ ผู้ว่าการเคหะฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ว่าจะขอเพิ่มทุนของบริษัท จากเดิม 20 ล้าน เป็น 1,000 ล้านบาท  โดยเอา ‘โครงการเคหะสุขประชา’ ที่ชงกันมาตั้งแต่เริ่มต้น ขายฝันในที่ประชุมว่า หลังจากนี้เซ็มโก้จะได้งานจากการเคหะเป็นพัน ๆ ล้าน เพราะนอกจากการถมดินแล้ว ยังมีงานก่อสร้างในโครงการเคหะสุขประชา 3,440 ล้านบาท งานบริหารนิติบุคคลหมู่บ้าน และงานรับตรงจากการเคหะ รวมกันแล้ว 4,367 ล้านบาท รออยู่  

อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ถือหุ้นไม่เชื่อมั่นต่อการขายฝันดังกล่าว จึงโหวตคว่ำเรื่องการเพิ่มทุน แผนที่ตั้งใจไว้จึงล้มไม่เป็นท่า 


มหากาพย์ภาคต่อ ตั้ง ‘บมจ.เคหะสุขประชา’

หลังความพยายามแรกไม่เป็นผล จุติ และ จรร. ยังไม่ท้อถอยและมาด้วยไอเดียใหม่ นั่นคือ การตั้งบริษัทใหม่ เตรียมถีบหัวส่ง เลิกประเคนงานให้เซ็มโก้ ซึ่งในโปรเจ็คครั้งใหม่นี้ สิ่งแรกที่จุติสั่งการคือ การให้แจกแจงสินทรัพย์ทั้งหมดของการเคหะแห่งชาติออกมา เพื่อเลือกหยิบเฉพาะชิ้นงามๆ เตรียมการที่จะยักย้ายถ่ายโอนไปบริษัทแห่งใหม่


9 พฤศจิกายน 2564 จุติ นำเรื่องเข้า ครม. เพื่อขออนุมัติจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่ชื่อว่า ‘บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด มหาชน’  เป็นบริษัทลูกอีกหนึ่งแห่งของการเคหะแห่งชาติ เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบ การเคหะฯจึงได้จดจัดตั้ง บมจ. เคหะสุขประชา แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติถือหุ้น 49% ส่วนที่เหลือเป็นเอกชน ขณะที่วัตถุประสงค์และพันธกิจ ของ บมจ.คือการลอกเซ็มโก้มาทั้งหมด แม้กระทั่งโครงการก่อสร้างเคหะสุขประชา 100,000 ยูนิต 


เช่นเดียวกันแผนธุรกิจของ บมจ. เคหะสุขประชา ล้วนมีหน้าตาเหมือนกับแผนในการเอาเซ็มโก้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ทำอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิมโดยคาดการณ์รายได้ไว้ถึง 120,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งจะมาจากงานก่อสร้าง 100,000 ยูนิต ในโครงการเคหะสุขประชา อีก 1 ใน 4 บอกว่าจะมาจากรายได้พัฒนาเศรษฐกิจในโครงการซึ่งได้แก่ โครงการเลี้ยงไก่ เลี้ยปลา ปลูกเมล่อน พับถุงกล้วยแขกขาย โดยคาดว่าจะทำเงินได้ปีละ 2,000 ล้านบาท  

ด้วยแผนธุรกิจแบบนี้จึงชัดเจนว่ายากที่จะเป็นไปได้จริง ประกอบกับโครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ในการเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย จึงทำให้ข้อสงสัยที่ว่ามีความพยายามการปั้นเรื่องเพื่อหาประโยชน์จากการปั่นหุ้นและเป็นหนทางนำไปสู่การกินยาวในอนาคตเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นทุกที


ประชาชนเสี่ยงแบกหนี้สาธารณะเพิ่ม 

วิธีทำงานของ บมจ.เคหะสุขประชา ยังคงเป็นภาพเดียวกันกับเซ็มโก้ โดยล่าสุด บมจ.เคหะสุขประชา กำลังเปิดลงทะเบียนผู้รับเหมา รับงานก่อสร้าง ทำให้หลังจากนี้การแข่งขันเพื่อรับงานของการเคหะฯ จะไปเกิดขึ้นที่ บมจ.เคหะสุขประชา แทน ผลที่ตามมายังคงเป็นการเคหะฯ ที่ต้องจ่ายเงินแพงขึ้น กำไรลดลง เพื่อให้ บมจ.แห่งใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการกินหัวคิวกันอย่างเป็นขบวนการ 

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามช่วยเหลือด้านการเงินให้กับ บมจ.เคหะสุขประชา ด้วยการออกข้อบังคับใหม่ที่มาจากการเคหะ เพื่อให้การเคหะฯสามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ บมจ.เคหะสุขประชาได้ ซึ่งหากไปดูแผนการสร้างหนี้ของ บมจ.เคหะสุขประชา จะพบว่าอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ทำให้ ถ้าหากมีการค้ำประกันหนี้ก้อนนี้จริงก็จะเป็นการก่อหนี้สาธารณะจากภาษีประชาชนครั้งใหญ่  

ปัจจุบันเฉพาะหนี้สินของการเคหะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐวิสาหกิจจะถูกนับเป็นหนี้สาธารณะด้วย ดังนั้น การเข้าไปค้ำเงินกู้ให้กับ บมจ.เคหะสุขประชา จึงเป็นการเพิ่มหนี้รายหัวต่อประชากรที่จะส่งผ่านไปถึงลูกหลานในอนาคต ซึ่งร่างข้อบังคับนี้ ครม. มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 หรือไม่ถึง 1 เดือน หลังจากที่มีมติเห็นชอบ ให้ตั้ง บมจ.เคหะสุขประชา


อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยข้อสังเกตจาก อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่เห็นด้วยและได้ให้ความเห็น ร่างข้อบังคับการเคหะแห่งชาติฉบับนี้ไว้ว่า  

“เห็นว่า กคช. ยังไม่มีความจำเป็นในการออกข้อบังคับดังกล่าว … เห็นควรให้ กคช. กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทในเครือให้ … สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นภาระกับ กคช.”

จึงสรุปได้ว่า บมจ.เคหะสุขประชา  คือ มหกรรมสร้างเพื่อโกง มหากาพย์การผลาญภาษีพี่น้องประชาชน เป็นแผนการตั้งบริษัทเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วเสพสุข กินกันชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งยังได้ผ่องถ่าย สูบเอาสินทรัพย์ต่าง ๆ ของการเคหะ ทั้งบ้านเช่า ที่ดิน บ้านเอื้ออาทรต่าง  ไปอยู่ในความดูแลของ บริษัทใหม่ ที่ จุติและเครือข่ายตั้งขึ้น เพื่อให้บริษัทปอบแห่งนี้ไปสูบกินหาประโยชน์จากสินทรัพย์ของการเคหะฯ ไปตลอดกาล


*แถมปฏิกิริยาของ รมว.พม. ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมบทตอกกลับ โดย ส.ส.กาย



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า