free geoip

8 ข้อสังเกตจากการอภิปราย ‘งบประมาณกลาโหม’ ก่อนเสียงข้างมากโหวตผ่าน 100,000 ล้านฉลุย



ในการพิจารณางบประมาณ 64 วาระ 2 มาตรา 8 กระทรวงกลาโหม สภามีมติโหวตผ่านด้วยคะแนนเสียง 255 ต่อ 78 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ทั้งนี้ ในวาระ 1 ได้มีการเสนอวงเงินเข้ามา 1.15 แสนล้านบาท แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากปรับลดลง 7.7 พันล้านบาท เหลือ 1.07 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี งบประมาณก้อนนี้ยังถือว่ามีการตั้งไว้สูงและมีลักษณะอำพราง อีกทั้งยังไม่สมเหตุสมผลโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังมีวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยในการอภิปรายของ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล สามารถสรุปประเด็นได้ ดังนี้



1) ตั้งงบขุดทองจากรายหัว ‘ทหารเกณฑ์’

ไม่ใช่แค่งบประมาณก้อนใหญ่เพื่อซื้ออาวุธอย่างเรือดำน้ำหรือรถถังล้อยางสไตรเกอร์เท่านั้นที่มีข้อกังขาเรื่องส่วนต่าง กลายเป็นว่ากระทั่งงบประมาณเพื่อดูแลสวัสดิการให้ ‘ทหารเกณฑ์’ อย่างเสื้อผ้า ถุงเท้า หรือกางเกงใน ก็ยังต้องตั้งคำถามไปถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าของเหล่านี้มีไว้ใช้หรือมีไว้กินกันแน่

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายให้เห็นว่า งบในส่วนของโครงการจัดหายุทธภัณฑ์ เเละอาภรณ์ภัณฑ์ สายพลาธิการ กองทัพบก ได้ตั้งงบชุดทหารเกณฑ์ไว้สูงเกินราคาจริงเมื่อเทียบกับราคาตลาด หรือใน Shopee แม้ว่าจะซื้อแบบปลีกก็ยังราคาต่ำกว่าเท่าตัว

“แม้แต่กางเกงในก็ไม่เว้น 100,000 ตัว งบ 6.93 ล้านบาท ตกตัวละ 69.3 บาท ซื้อจาก Shopee 5 ตัว 170 บาท ตกตัวละ 34 บาท ซื้อ 100,000 ตัว แต่แพงกว่า 35.3 บาท หรือแพงกว่าเท่าตัว จึงสงสัยว่าใส่แล้ว มันกันแรงระเบิดหรือยังไง “



ทั้งนี้ โครงการจัดหายุทธภัณฑ์ และอาภรณ์ภัณฑ์ สายพลาธิการ กองทัพบก ถ้าซื้อครบ 7 รายการ ใน Shopee ด้วยราคาขายปลีก จะใช้งบเพียง 59.9754 ล้านบาท ซึ่งการซื้อเป็นแสนตัวยังสามารถต่อรองลดราคาได้อีก 10% จะใช้งบแค่ 53.9779 ล้านบาท เท่านั้น ไม่ใช่ 150 ล้านบาทดังที่เสนอมา



2) งบบุคลากรสูง แต่ชั้นผู้น้อยไม่ได้รับการเหลียวแล

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกใช้ไปกับบุคลากรมากถึงปีละ 103,300 ล้านบาท แต่หากพูดว่า ทหาร คือ รั้วของชาติ ปัจจุบัน รั้วสูงกว่าบ้านไปมาก เพราะความเป็นจริงคือ นายทหารชั้นผู้น้อยไม่เคยได้รับการดูเเล จากข่าวล่าสุดมีทหารเกณฑ์เสียชีวิตภายในกองทัพเกิดขึ้นอีกและนี่ไม่ใช่ครั้งเเรก เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ยังจะอ้างได้อีกหรือว่า ทหารสามารถป้องป้องประชาชนในประเทศ เพราะเเม้เเต่พลทหารในสังกัดของกองทัพเองก็ยังดูเเลไม่ได้



3) ตั้งงบไม่สอดคล้องพันธกิจทหาร

จิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ตั้งคำถามต่อพันธกิจของทหารว่า แม้กระทั่งผงโรยสังคังยังเอามาอยู่ในงบประมาณ ทั้งที่เชื้อราบริเวณซอกขาหนีบทหารไม่น่าจะใช่ปัญหาของประชาชน นอกจากนี้ยังเอาภาษีประชาชนไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเเบ่งตามชนชั้นของทหารทั้งที่ไม่จำเป็น ระดับทั่วไป 5,100 บาท ระดับเเผนก 7,500 บาท ระดับกอง 10,800 บาท จนถึงระดับบริหาร 81,000 บาท

นอกจากนี้ กองทัพยังมีงานหลักที่ไม่ใช่ภารกิจป้องกันประเทศ แต่เป็นงานลักษณะ เช่น โครงการก่อสร้างที่พักราชการจำนวนมาก ที่มาพร้อมกับเครื่องใช้ตกเเต่งบ้านสำเร็จรูป มีระบบเครื่องเสียงที่ครบครัน พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยมูลค่าสูง เครื่องปรับอากาศกว่า 800 เครื่อง เเละค่าไฟที่มาจากภาษีของประชาชน กลับกันหากมองกลับไปดูบ้านพักข้าราชครูที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ส่วนงานอดิเรกกองทัพ เช่น การผลิตหน้ากากผ้า 1,200,000 ชิ้น ผลิตข้าวกล่องแจกประชาชน 4,000 กล่อง เเละรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรใน 14 จังหวัด บริการตัดผมกับประชาชน ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ให้กำลังพลเเละครอบครัว รวมถึงประชาสัมพันธ์กับประชาชนในเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งงานอดิเรกของทหารไทยดังกล่าวมีกว่า 5 หน้าในเอกสารผลงาน ขณะที่เรื่องการซ้อมรบมีเพียงหน้าเดียว



4) ซ่อนงบในงบผูกพัน

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มี 2 โครงการที่ควรต้องตัดในสถานการณ์เช่นนี้แต่ไม่ได้ทำแต่ประการใดคือ โครงการของกองทัพบกที่จัดซื้อรถเกราะ Stryker รวมทั้งหมด 130 คัน มูลค่า 9,125 ล้านบาท โดยมีลำดับการจัดซื้อคือในปี 2562 – 2564 เป็นงบประมาณแบบผูกพันได้จัดซื้อไปจำนวน 47 คัน มูลค่า 3,720 ล้านบาท ซึ่งในการนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาสนับสนุนจำนวน 23 คัน และในปี 2563 – 2565 มีการจัดซื้อด้วยงบประมาณผูกพันอีกจำนวน 50 คัน มูลค่า 4,515 ล้านบาท หมายความว่าถ้าเป็นไปตามแผน กองทัพบกจะมีรถเกราะ Stryker ในปีนี้จำนวนถึง 70 คัน และในปีหน้าก็จะได้รับอีก 50 คัน ในปี 2565 กองทัพบกจะมีรถเกราะ Stryker ทั้งหมดรวม 120 คัน แต่กองทัพบกก็จะมีการจัดซื้อเพิ่มในปี 2564 – 2566 อีกจำนวน 10 คัน ซึ่งมีมูลค่า 900 ล้านบาท



5) มาแปลก จัดซื้อก่อน ของบทีหลัง

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ยังเปิดเผยความผิดปกติในกรณีการจัดซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือ รหัส ทร110 ซึ่งการจัดซื้อไม่ปรากฎในเอกสารงบประมาณปี 2563 แต่เป็นโครงการที่จัดซื้อก่อนไปของบทีหลัง โดยมีลำดับเวลาคือในวันที่ 11 มิ.ย. หน่วยงานมีประกาศแผนจัดซื้อ และในวันที่ 25 มิ.ย.มีการประกาศกำหนดราคากลาง และในวันที่ 10 ก.ค. มีการจัดให้ยื่นซองและเปิดซองเสนอราคา ประเด็นคือระหว่างนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ คำถามคือ เหตุใดหน่วยงานนี้จึงทำได้ จนถึงวันที่ 11 ส.ค. ถึงจะมีหนังสือจากสำนักงบประมาณอนุมัติให้ดำเนินการโอนย้าย เปลี่ยนแปลงงบประมาณ และวันที่ 8 ก.ย. ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา เรื่องนี้จึงเป็นคำถามว่ากองทัพเรือทำผิดระเบียบของทางราชการหรือไม่ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงรู้เห็นเป็นใจหรือไม่



6) งบประมาณซ้ำซ้อน เคลมภารกิจรองให้เป็นผลงานหลัก

อีกหนึ่งโครงการคือ การจัดซื้อสะพานยุทธวิธี 2 ชุดมูลค่า 320 ล้านบาท ตกราคาชุดละ 160 ล้านบาท โดยหน่วยงานชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการมีสะพานคือใช้ข้ามในถนนที่ขาดเพื่อให้สัญจรต่อไปได้เพื่อช่วยบรรเทาสาธารณภัย โดยเมื่อไปเปรียบเทียบกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในภารกิจนี้ พบว่าทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้มีการจัดซื้อสะพานที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันแต่ระยะเวลาในการประกอบอาจต่างกัน โดยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรียกว่า สะพานถอดประกอบ หรือสะพาน Bailey bridge ตกราคาชุดละ 24 ล้านบาท เท่านั้น และเมื่อมาถึงตรงนี้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ หน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นของใคร และทำไมถึงได้งบประมาณที่ต่างกัน



7) ไม่ใช่การตัด แต่แค่เลื่อนงบประมาณไป

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการระบุว่า กระทรวงกลาโหมปรับลดงบประมาณไปได้มากถึง 7,788.5 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 1 แต่ในความเป็นจริงคือตัดไปได้เพียง 1,285.13 ล้านบาทเท่านั้น แต่ใช้วิธีการเลื่อนออกไปเป็นปีหน้าสูงถึง 6,503.37 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้แม้จะปรับเลื่อนออกไป แต่สำคัญมากเพราะจะทำให้หน่วยงานอื่นที่อาจมีความจำเป็นไม่สามารถตั้งงบประมาณได้เพราะมีงบประมาณของกาลาโหมผูกพันอยู่ก่อน



8) กองทัพพาณิชย์ยังคงเป็นแดนสนธยา

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เปิดเผยว่า กองทัพยังคงมีธุรกิจมากมาย ซึ่งธุรกิจหลายแห่งตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ทั้งธุรกิจ ปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด ที่กรมธนารักษ์จัด หมวดหมู่เป็น ‘กรณีปกติทั่วไป’ ไปจนถึง สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และ สถานพักสถานที่พักผ่อน ที่ถูกจัดเป็น ‘กรณีพิเศษ’ จากเอกสารที่พบว่าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 63 ทางกรมธนารักษ์ มีจดหมายถึง ผบ.ทบ. เพื่อขอเอกสารข้อมูลของธุรกิจต่างๆ ในกองทัพบกเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาให้โครงการต่างๆ เป็นไปตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงตามสัญญาปฏิรูปกองทัพ แม้ว่า ต่อมาทางกองทัพบกได้ส่งข้อมูลต่างๆให้ กรมธนารักษ์ ในวันที่ 16 มิถุนายน แต่ปัญหาก็คือเอกสารที่ส่งให้ มีไม่ครบทําให้หลังจากนั้น ทำให้กรมธนารักษ์ ก็ต้องออกจดหมายถึงกองทัพบก เพื่อทวงเอกสารของธุรกิจ สนามมวย สนามม้า สนามกอล์ฟ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า