free geoip

ศิริกัญญา: ถ้าไม่กล้าตัดสินใจช่วงวิกฤติ นายกฯ ไม่ต้องมีก็ได้



งบ 65 เสี่ยงทายอนาคต ศิริกัญญาซัดประยุทธ์หั่นงบสวัสดิการ-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชี้ ถ้าไม่กล้าตัดสินใจช่วงวิกฤติโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง นายกฯไม่ต้องมีก็ได้



ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎรในวาระเเรก โดยระบุว่า งบประมาณ 2565

“เมื่อประเทศอยู่ในช่วงรอยต่อของการจบลงของโรคระบาด เราคาดหวังว่ารัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเพื่อปั๊มหัวใจ กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับมา แต่งบประมาณของปี 65 แทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลง”

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ในปี 2565 จากงบประมาณที่ถูกตัดลดลงไป 1.85 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะลงไปถึงประชาชนจริงๆ น้อยลงไปยิ่งกว่านั้นเสียอีกเพราะต้องเอาเงินงบประมาณไปใช้หนี้ ที่ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะ ต้องไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ มากมายที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ต้องใช้ให้เงินทุนสำรองจ่าย 2.4 หมื่นล้านบาท เงินสำหรับชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ภาระเงินชดเชยเงินคงคลังเพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท และมีภาระค่าใช้จ่ายมาประจวบเหมาะในเวลานี้พอดี เช่น ค่าใช้จ่ายคดีข้อพิพาทระหว่างเชฟรอนและรัฐบาลไทย ที่ยื่นฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการ

นอกจากนี้ ยังมีเงินใช้หนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่าง ธกส. บสย. และออมสิน ยอดหนี้รวมตอนนี้คิดเป็น 970,000 ล้านบาท และรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ทำให้งบเบี้ยหวัด บำเน็จ บำนาญ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เบ็ดเสร็จรวมแล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของบประมาณ

ศิริกัญญาย้ำว่าเมื่อต้องเลือกตัดงบรายจ่ายลง แต่รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ ไม่กล้าตัดงบที่ลงตรงๆไปยัง กระทรวง กรม ต่างๆ เพราะงบพวกนี้ มีเจ้าที่คอยคุ้มครองแทบทั้งสิ้น งบที่รัฐบาลเลือกตัด ก้อนแรกคืองบสวัสดิการของประชาชน

  • หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท
  • ประกันสังคมถูกตัดไป 19,000 ล้านบาท
  • กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาเอาไว้ว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศถูกตัดงบไป 20,000 ล้านบาท
  • การเคหะแห่งชาติและกองทุนการออมแห่งชาติถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง
  • งบประมาณด้านการศึกษาถูกตัด 24,000 ล้านบาท
  • งบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมถูกตัด 5,000 ล้านบาท
  • งบกองทุนส่งเสริม SME ถูกตัด 40% ตัดงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50%
  • ตัดงบแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 20%



“ยังไม่ต้องพูดถึง ว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งงบชดเชยความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด ที่ปิดมา 3 รอบยังไม่เคยได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว อย่ามาอ้างว่าให้ไปใช้งบฟื้นฟูจากเงินกู้ 500,000 ล้าน เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะทำได้จริง บทเรียนที่ผ่านมาของเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้าน พออนุมัติจริงกลับทำได้แค่แสนสามหมื่นล้าน หรือเบิกจ่ายจริงไม่ถึงครึ่ง รอบนี้ตั้งงบฟื้นฟูไว้แค่ 170,000 ล้าน จะเอาไปฟื้นฟูอะไรก็ยังไม่รู้ จะใช้จริงแค่ไหนก็ไม่รู้ บอกตรงๆ ว่าถ้าไม่ออกเป็นงบกลางปีแบบมีรายละเอียดยังไงก็ไม่ให้ผ่าน ให้ถอนออกจากสภาไปได้เลย”

ในประเด็นสุดท้าย ศิริกัญญา ชี้ว่า นอกจาก พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ที่มัดตัวเองแล้ว เวลาหน่วยงานราชการจะเขียนโครงการยังต้องเขียนให้ร้อยรัดเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ,แผนแม่บท 23 แผน แผนแม่บทระดับย่อย แผนปฏิรูปประเทศอีก 11 ด้าน ทำให้ถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจึงไม่ให้สามารถขยับปรับเปลี่ยนงบประมาณได้เลย ซึ่งรัฐบาลก็รู้ดีว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีปัญหา เพราะพูดถึงโรคระบาดอยู่ 2 คำ แถมยังไปอยู่ในยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม หลังจากใช้แผนได้เพียง 3 ปีก็มีการสั่งให้รื้อใหม่ สุดท้ายไม่ได้แก้อะไร

“ปัญหาโครงสร้างต่างๆ ต้องถูกแก้ไขผ่านการแก้กฎหมายงบประมาณที่ไม่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อวิกฤต ผ่านการปฏิรูปภาครัฐให้เล็กลง คล่องตัว ไม่เป็นภาระงบประมาณ ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ 60 เพื่อกำจัดอุปสรรคอย่างยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนแม่บทระดับย่อย แผนปฏิรูปประเทศ ที่ร้อยรัดเกลียวแน่นอยู่ที่คอหอยประชาชนจนแทบจะหายใจไม่ออก ถ้ารัฐบาลยังเอาหลังพิงกฎหมาย มัดมือมัดเท้าประชาชน มัดตราสังข์ประเทศ โยนความรับผิดของตัวเองออกจากตัว และเลือกโยนภาระมาให้ประชาชน ดิฉันก็ยังยืนยันว่าเอาข้าราชการมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลได้เลย ไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้”

ศิริกัญญา ยังทิ้งท้ายว่า คำว่า ‘งบประมาณ’ คำว่า ‘ตัวชี้วัด’ ต่างๆ สำหรับรัฐบาล ข้าราชการและเทคโนแครตคงเป็นเพียงคำพูดบนกระดาษ เป็นตารางให้กรอกตัวเลข เป็นข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับประชาชน สวัสดิการที่ถูกตัดไป 3.5 หมื่นล้าน อาจจะหมายถึงเงินค่านมลูกที่จะหายไป หมายถึงค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้ทำมาหากินแต่กำลังจะโดนยึด หมายถึงหลักประกันของคนที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ หมายถึงลูกจ้างอีกเป็น 10 ที่ต้องถูกให้ออกจากงาน อาจจะหมายถึงเจ้าของธุรกิจที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัย เด็กประถมนับแสนคนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามวัยเพราะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง หมายถึงเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพียงเพราะพ่อแม่ตกงาน

“เพียงแค่แก้กฎหมาย ออก พ.ร.บ. งบกลางปีอีกฉบับจากเงินกู้เพื่อจะจัดสรรงบให้ตามที่ควรจะเป็น ชีวิตของผู้คนอีกนับล้านคนจะเปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แทบทั้งสิ้นแต่กลับเลือกที่จะไม่ทำ ดิฉันขอเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ที่กำลังจะเข้าสู่สภา นายกฯ ต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ให้รัฐบาลใหม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจัดทำงบกลางปีเพื่อชดเชยสวัสดิการ การศึกษา และงบประมาณฟื้นฟูประเทศ”


ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการอภิปราย https://www.moveforwardparty.org/wp-content/uploads/2021/05/งบประมาณ_ศิริกัญญา.pdf

รับชมคลิปเต็มการอภิปรายได้ที่นี่ https://youtu.be/q-X3mm_7qsU

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า