free geoip

ซีรีส์: พลัง(งาน)ประชารัฐ





รับชมคลิปการอภิปราย https://youtu.be/eDqNeCoM9wQ








พลัง(งาน)ประชารัฐ: ต้นเหตุคนไทยใช้ไฟแพง??? (ตอนแรก )





เศรษฐกิจแบบนี้ ลำพังจะอยู่รอดในแต่ละวันยังยากเลย ข้าวยากหมากแพง หลายครอบครัวไม่ใช่แค่หาเช้ากินค่ำ แต่เป็นการหาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ ทำงานสายตัวแทบขาด จำนวนชั่วโมงเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม แต่เงินอาจไม่ได้เท่าเดิม กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาททำไมแสนยากเย็นถึงเพียงนี้ ซ้ำร้ายค่าครองชีพก็ขึ้นสวนทางกับรายได้ ยิ่งโดยเฉพาะค่าไฟก็รู้สึกว่าทำไมแพงเอาแพงเอา จนหลายคนสงสัยว่า เหตุใดค่าไฟแพงจัง?


หลายคนอาจคิดว่าก็ใช้ไฟให้น้อย ค่าไฟจะได้ถูกลง ให้เริ่มต้นที่ตัวเอง แท้จริงแล้วถึงจะใช้ไฟน้อยลง แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าไฟต่อหน่วยแพงอยู่ดี แพงมหาโหด หากทุกท่านรู้แล้วว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาจจะต้องโกรธ และเดือดดาลเป็นอย่างมากกับเรื่องนี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับพวกเราคนไทยทุกคน เป็นการฉ้อฉลระดับนโยบาย ถึงแม้ว่าคนไทยจะใช้ไฟเท่าเดิม หากโครงสร้างระดับนโยบายไม่ได้เป็นแบบที่เป็นอยู่ พวกเราคนไทยทุกคน อาจประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกเป็นจำนวนมาก การประหยัดเงินในส่วนนั้นนั่นอาจหมายถึงข้าวแต่ละมื้อหรือหลายมื้อของคนหลายคน หลายครอบครัวเลยด้วยซ้ำ


ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะที่ดูแลนโยบายด้านพลังงาน และรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้เอกชนรายหนึ่งได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากนโยบายพลังงานและสัมปทานภาครัฐ ท่ามกลางสภาวะที่ประชาชนทั้งประเทศดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ในภาวะเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปเอื้อคนรวยแทนที่จะนำมาดูแลคนจน กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ปล่อยให้กลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติและมาล้วงฉกเงินภาษีในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนไป


โดยมหากาพย์เรื่องนี้เริ่มมาจาก พล.อ.ประยุทธ์จับมือกับทุนพลังงานทำนาบนหลังคนรีดเงินออกจากกระเป๋าพี่น้องประชาชน โดยไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ผลิตโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพียงเจ้าเดียว แต่เราซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอีกหลายเจ้า โดยที่เราต้องรับซื้อไฟฟ้าผ่านการให้สัมปทานโรงไฟฟ้า ซึ่งก็ดูเหมือนจะดี จะได้มีไฟฟ้าพอใช้ ไม่มีไฟดับหรือไฟตก แต่การให้สัมปทานโรงไฟฟ้าของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับถูกบิดเบือน เพื่อให้เอกชนที่รับสัมปทาน ได้กำไรมหาศาล สัมปทานที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากจนเกินปกติเช่นนี้ ทำให้เรามีโรงไฟฟ้ามากจนเกินไป และทำให้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินไปอย่างมากอีกด้วย


ปัจจุบัน “อัตรากำลังไฟฟ้าสำรอง” ของประเทศไทยล้นเกินเป็นอย่างมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 60% ในปี 2563 ทั้งที่อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น ก็พอแล้ว


เรื่องนี้อาจอ้างว่าเป็นเพราะโควิด แต่แท้จริงแล้วกำลังการผลิตมันล้นเกินมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดแล้วด้วยซ้ำ ซ้ำร้ายปัญหานี้ก็ยังจะคงอยู่ไปจนถึงปี 2570 ขึ้นไปหรือจะทอดยาวไปอีกเกือบ 10 ปี พล.อ.ประยุทธ์ได้สร้างปัญหาทอดยาวเอาไว้ แม้ว่าต่อไปตัวเองจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปเร็วๆ นี้แล้วก็ตาม


ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการให้สัมปทานโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้หากดูผ่านๆ ก็จะคิดว่าเป็นเพราะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าผิดพลาดไปมากเกินไป ไร้ประสิทธิภาพ ผิดพลาดล้มเหลว แต่แท้จริงแล้ว PDP ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแผนที่มีการปรับบ่อยมาก แล้วเหตุผลในการปรับคือเพื่ออะไรกัน ตามมาดูกันต่อได้เลย


ปกติ PDP หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า จะใช้แผนละ 5 ปี แต่หลังจากการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำการเปลี่ยนไปแล้ว 3 แผน จนอดคิดไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์แก้แผนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานใช่หรือไม่? นายทุนอยากได้เพิ่ม ก็เลยเติมโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาให้ ใช่หรือไม่?


ซึ่งหากคำตอบคือใช่ ย่อมจะเป็นผลให้ท้ายสุดกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มสามารถสร้างอาณาจักร ขยายฐานธุรกิจ โหมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินจำเป็น ทำให้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน ผลิตไฟมากเกินกว่าที่จำเป็น


จนทำให้เกิดต้นทุนการผลิตไฟที่เกินความจำเป็น ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นทุกปี ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์แจกสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับเอกชนรายใหญ่ หรือ โรงไฟฟ้า IPP มากจนเกินไป นานเกินไป และก็แพงจนเกินไปด้วย


ที่บอกว่ามากเกินไปนั้นจนประเทศไทยเรามีกำลังไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปอย่างไรบ้างดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น ส่วนประเด็นว่านานเกินไป นั่นก็เพราะว่าสัมปทานที่ให้นั้นมันยาวนานถึง 25 ปี ทั้งๆ ที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพวกนี้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น


ส่วนประเด็นที่บอกว่าแพงเกินไปนั้น เพราะเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน จะต้องจ่ายเงิน 2 ก้อน ได้แก่ 1.จ่ายตามจำนวนหน่วยที่ซื้อ หรือค่า EP ซื้อเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ ถ้าซื้อน้อยก็จ่ายน้อย แต่ก้อนที่ 2. เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่าค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP ซึ่งคือรายจ่ายของการไฟฟ้าที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาจะคงที่ทุกปี ไม่ว่าจะซื้อไฟหรือไม่ซื้อไฟก็ตาม คือซื้อหรือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย และสุดท้ายมันก็กลายมาเป็นต้นทุนที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาร่วมกันแบกค่าไฟฟ้าที่มันสูงจนเกินจริง


จริงอยู่ว่าเราต้องจ่ายเพื่อให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมที่จะจ่ายไฟอยู่ตลอดเวลา และประเทศอื่นๆ ก็ทำกัน


แต่ แต่ แต่ สำหรับประเทศไทยค่า AP ที่จะต้องจ่าย ทางโรงไฟฟ้าเหมือนได้เงินลงทุนคืนทั้งหมดพร้อมผลตอบแทน อีก 20% เพราะได้รวมค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ย แล้วก็บวกกำไรให้ด้วย แถมภาษีก็ยังไม่ต้องจ่าย เพราะว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จะเอากันขนาดนี้เลยหรอ?


ยกตัวอย่างเช่น เอกสารสัญญาผลิตไฟฟ้าของบริษัทเอกชนเจ้าหนึ่งที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยตามสัญญาได้ระบุไว้ว่า นายทุนพลังงานผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดห้าร้อยกว่าเมกะวัตต์นี้ จะได้รับการการันตีค่า AP ต่อปีสูงถึงหลักพันล้านบาท ไม่ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะผลิตไฟฟ้า 1หรือ 500 เมกะวัตต์ก็ตาม


ถึงว่าธุรกิจคนขายไฟ นี่รวยฟ้าแลบเลยและเป็นสาเหตุให้นายทุนโรงไฟฟ้าถึงได้รวยอื้อซ่า จนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ แต่สิ่งนี้กำลังหมายถึงอีกด้านหนึ่งด้วยว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลอนุมัติให้มีโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ นั่นหมายความว่ากำลังตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าขยี้ลงไปลงบนหัวใจและคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน และนี่ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยของเราห้ามพัฒนา และไม่เดินหน้าไปไหน เพราะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ในการผลิต เข้ามาลงทุนในประเทศได้อีกด้วย


ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน บ้านใกล้เรือนเคียงกับเราและเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศอื่นๆ มาลงทุนเช่นเดียวกับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน แต่กลับพบว่าประเทศเหล่านี้กลับมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเรามาก โดยประเทศอินโดนีเซียมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.74 บาท ประเทศเวียดนามมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 บาท และประเทศมาเลเซียใกล้ๆ ประเทศของเรามีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 1.96 บาท แต่พวกเราคนไทยต้องแบกรับค่าไฟฟ้าราคาหน่วยละประมาณ 3.8 บาท แพงกว่าทุกประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด


ความจริงแล้วพี่น้องประชาชนสามารถเสียค่าไฟฟ้าได้ถูกกว่านี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ร่วมมือกับนายทุนพลังงาน จนเรามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเกินความจำเป็นไปอย่างมาก






พลัง(งาน)ประชารัฐ: โปรย้ายค่ายได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด (ตอนที่ 2)





จากตอนที่แล้ว ที่เราได้พูดถึงว่าทำไมค่าไฟที่คนไทยใช้ถึงแพงกว่าประเทศอื่นๆ รอบๆ บ้านนั้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีสาเหตุมาจากการอนุมัติของรัฐบาลให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าล้นเกินความต้องการจนทำให้ค่าไฟแพง จะอย่างไรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงอาณาจักรยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มทุนพลังงาน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมเรื่องนี้ถึงเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี?


จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น จำเป็นต้องเห็นภาพรวมการสะสมทุนของกลุ่มทุนพลังงาน โดยบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป ได้คาดการณ์ตลาดธุรกิจพลังงานของไทยไว้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าคือปี 2567 บริษัทที่จะเป็นยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งด้านพลังงาน โดยจะมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 20% คือ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ทั้งๆ ที่จากข้อมูลย้อนหลังปรากฏว่า เมื่อปี 2559 บริษัทกัลฟ์ฯ ยังมีส่วนแบ่งตลาดของตลาดพลังงานในประเทศไทยอยู่ที่ 7.2% เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มธุรกิจพลังงานเท่านั้น


แต่จากการได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าและการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ ส่งผลทำให้บริษัทฯ สามารถขยายตัว จนส่วนแบ่งการตลาดจะโตเกือบ 3 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 8 ปี เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น 8 ปีแห่งความมหัศจรรย์ของการเติบโต แต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วยหรือไม่ ?


ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัท มีทรัพย์สินประเมิน ณ วันที่ 22 เมษายน 2563 อยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท โดยทรัพย์สินหลักๆ คือหุ้นของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และเครือข่ายบริษัทย่อยของกัลฟ์ โดยข้อมูลปรากฏว่าทรัพย์สินของ สารัชถ์ รัตนาวะดี นั้นเติบโตมากกว่า 3 เท่าภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น


นายทุนและกลุ่มทุนพลังงานจำนวนหนึ่ง เติบโตขึ้นมาได้ด้วยการพึ่งพิงโดยการสนับสนุนจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อไปใช้แข่งขันในตลาดอะไรเลย แต่เป็นเพียงธุรกิจที่ต้องหาหนทางช่วงชิงสัมปทานผูกขาด และการเปิดสัมปทานแต่ละครั้ง ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายพลังงานของภาครัฐทั้งสิ้น


หากจะพูดถึงปัจจัยหนี่งที่ทำให้กลุ่มทุนพลังงานอย่างบริษัทกัลฟ์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก็คือการถือครองสัมปทานโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ และหากจะเข้าใจเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องพาย้อนกลับไปสักเล็กน้อยถึงเรื่องราวของสัมปทานเจ้าปัญหาอันนี้


ย้อนไปในช่วงปลายปี 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัทอินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ไอพีดี ที่มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่


เมื่อชนะการประมูลแล้ว บริษัท ไอพีดี ก็จัดตั้งบริษัทสยาม อีสเทิร์น พาวเวอร์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทกัลฟ์ พีดี และจัดตั้งบริษัทชลบุรี เพาเวอร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกัลฟ์ เอสอาร์ซี ทั้งสองบริษัทได้ทำสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการผลิตไฟฟ้าเจ้าละ 2,500 เมกะวัตต์


ต้องให้เชิงอรรถกับทุกคนด้วยว่าหน่วยวิจัยของธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับแปดของโลก ได้ประเมินมูลค่าของโครงการนี้ไว้สูงถึงเกือบ 1.3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว


ก่อนจะไปต่อ ต้องขอเท้าความย้อนไปถึงในช่วงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจคนปัจจุบัน ที่ต้องพูดถึงการรัฐประหารในครั้งนั้นก็เพื่อให้เข้าใจว่า ผลจากการทำรัฐประหารนั้นส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร


ในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าใจดีว่าจะต้องควบคุมนายทุนที่อาจอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนเองให้ได้


ดังนั้น เพียง 4 วันหลังจากรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกตัวนักธุรกิจหลายรายเข้ามาปรับทัศนคติ โดยหนึ่งในนักธุรกิจที่คณะรัฐประหารเข้าใจว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ถูกเรียกตัวเข้ามา “ปรับทัศนคติ” มีรายชื่อของสารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ อยู่ด้วย


อาจเป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบว่าขุมทรัพย์มหาศาลอย่างธุรกิจพลังงานเป็น “ขุมทอง” ของชาติ ดังนั้น ในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับเหล่านักธุรกิจแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 54/2557 แต่งตั้งตัวเองในฐานะหัวหน้าคสช. ให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติด้วย


เท่านั้นยังไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังได้แต่งตั้งตัวเองเข้าไปเป็นประธานอีกหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ล้วนมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานได้ทั้งสิ้น


การรัฐประหารทุกครั้ง มักอ้างว่าที่ต้องทำรัฐประหารสาเหตุมาจากรัฐบาลชุดก่อนมีการทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างมหาศาล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ผู้ก่อการรัฐประหารก็คงต้องไล่หาใบเสร็จเพื่อสร้างความชอบธรรมและยืนยันเหตุผลในการทำรัฐประหารให้กับตัวเอง รวมทั้งอาจใช้โอกาสนี้เริ่มต้นเป็นสะพานสอดส่องและดำเนินยุทธวิธีตีเมืองขึ้นหรือที่ศัพท์ทางการเมืองเรียกสั้นๆ ว่า ‘ตีเมืองขึ้น’ ซึ่งคำนี้หมายความว่า นายทุน นักธุรกิจที่เคยมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลหรือผู้ที่ครองอำนาจก่อนหน้า แล้วอาจจะถูกตรวจสอบกับอดีตที่ผ่านมา ก็มาดูตัว มาเจรจากันว่าต่อไปนี้ ขั้วอำนาจได้เปลี่ยนมือแล้ว เรามาเริ่มต้นกันใหม่ จะไม่กลั่นแกล้ง แต่ต้องย้ายความภักดี ย้ายข้างมาสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อผลประโยชน์ลงตัวเมื่อใด ก็อาจจะร่วมหอลงโรงกันได้ทันที


ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2557 ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 และตั้ง คตร. ชุดที่เรียกได้ว่าเป็นชุดถาวร ขึ้นมาตรวจทุจริตโดยมีทหารเป็นใหญ่ ด้วยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 122/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 แต่งตั้ง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ คนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะนี้ อยากให้ทุกท่านจำคณะกรรมการชุดนี้และรายชื่อคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ คนนี้ไว้ให้ดีๆ เพราะเป็นตัวละครที่สำคัญของเรื่องนี้


ซึ่งต่อมาในช่วงกลางปี 2558 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้นี้เองก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และควบตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย


พล.อ.ประยุทธ์เริ่มต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนก็พังไม่เป็นท่า ทั้งที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทุจริตเองแท้ๆ แต่กลับจบลงอย่างไก่กาปาหี่ มวยล้มต้มคนดู ทำเป็นปราบทุจริตแต่แท้จริงแล้ว…เป็นอย่างไร จะเผยให้ทุกท่านได้ทราบกัน


คงจำกันได้ว่าในยุคคณะรัฐประหาร คสช.เป็นยุคที่ทหารเบ่งบานมากที่สุด แม้แต่ประธาน คตร. และกรรมการ คตร. เองก็มาจากจากทหารทั้งชุด คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ชุดใหม่ที่ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น ทำการตรวจสอบการประมูลโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ และพบว่าการประมูลในครั้งนั้นมีปัญหาโดยสรุปก็คือ รัฐให้สัญญาที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านกับเอกชนไปแล้วแต่รัฐเองกลับยังต้องมาลงทุนอีกเกือบ 6,000 ล้าน โดยผลักภาระค่าก่อสร้างสายส่งให้แก่ประชาชน โดยผู้ชนะการประมูลไม่ต้องรับภาระแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น คตร. จึงมีมติให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน ทำการเจรจากับกลุ่มบริษัทกัลฟ์และทุนญี่ปุ่น เพื่อยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูล 1 โครงการ และแก้ไขข้อความบางส่วนในสัญญา แต่การเจรจาก็กลับไม่เป็นผล


เมื่อเกิดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ก็ทำให้บริษัทที่ต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทที่ถูกตรวจสอบไม่ยอมเจรจาต่อ ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อนุมัติเงินกู้ และมิหนำซ้ำยังถูก BOI ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มบริษัทกัลฟ์ทำการฟ้อง กกพ. กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อศาลปกครองในฐานทำละเมิด เดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้น 19 สิงหาคม 2558 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควบกับประธาน คตร. ที่ขึ้นชื่อว่า แค่กระแอม! ก็สะเทือนไปทั่วปฐพี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้ต่อ


ทั้งนี้ ในระหว่างที่การตรวจสอบและการต่อสู้คดียังเป็นไปอย่างเข้มข้น จู่ๆ พลเอกประยุทธ์ ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าที่ 4/2559 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ให้เปลี่ยนตัวประธาน คตร. ออกกลางอากาศ ก่อนที่อีกไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าอีกฉบับ คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 70/2559 ให้ยุบ คตร. ทิ้งไปเสียโดยอ้างแค่เพียงเหตุผลว่า ซ้ำซ้อน มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันตามที่ พล.อ.ประยุทธ์อ้างมารับเอาคดีที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ของชาติกว่าแสนล้าน ไปดำเนินการตรวจสอบต่อ


ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าหรือว่านี่คือ ยุทธวิธีการตีเมืองขึ้นได้เกิดขึ้นแล้วในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นด้วยใช่หรือไม่ หรือการเปลี่ยนตัวประธานและยุบ คตร. เป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างว่าโครงการโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์จะต้องได้ไปต่ออย่างที่มีเสียงร่ำลือกันใช่หรือไม่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ได้รับมอบหมายให้มาทำอะไรกันแน่? ตั้งเข้ามาเพื่อตรวจสอบทุจริต หรือเพื่อสร้างช่องทางในการเรียกหาผลประโยชน์อื่นๆ จากกลุ่มทุนพลังงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ อย่างไร???


หลังจากคำสั่งฟ้าผ่าเพียงวันเดียว ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อกลุ่มกัลฟ์ โดยไม่ให้กระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบไปใช้ และให้กระทรวงพลังงานส่งเอกสารไปยกเลิกการระงับการส่งเสริมการลงทุนที่เคยแจ้งต่อ BOI ไว้ด้วย


นอกจากนี้ สิ่งที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไปเมื่อปลายปี 2559 เป็นเพียงการตัดสินเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของการประมูลโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2556 เลย ว่าการประมูลครั้งนั้นมีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ศาลไม่ได้พูดถึงความถูกผิดของการประมูล ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงๆ ก็สามารถสั่งการให้เป็นไปตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์จงใจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสำคัญน้อยกว่าประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่และพวกพ้องใช่หรือไม่? พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ทำอะไรเลย


แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องการเอื้อผลประโยชน์ให้ทุนพลังงาน ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำอะไรเลย แต่ทำ ทำถึงขนาดที่ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเคยยกสัมปทานให้สิทธิพิเศษระดับวีวีไอพี กับเอกชนรายหนึ่งไปเลยด้วย






พลัง(งาน)ประชารัฐ: สัมปทานสิทธิพิเศษระดับวีวีไอพี (ตอนที่ 3)





นี่ไม่ใช่เรื่องการประมูลโรงไฟฟ้าไม่โปร่งใส และไม่ใช่เรื่องของการฮั้วประมูล เพราะสัมปทานโรงไฟฟ้าฉบับนี้ ไม่ได้มีการประมูล แต่เป็นการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หน้าใหญ่ใจโตโชว์ป๋า ยกสัมปทานให้สิทธิพิเศษระดับวีวีไอพี กับเอกชนรายหนึ่งไปเลยโดยไม่ต้องมีการเปิดประมูลแข่งขันราคากัน เอาสิๆๆๆ ขนาดไหนกันเชียว!!!




ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีการยกโรงไฟฟ้าหินกอง 2 ชุด กำลังการผลิตชุดละ 700 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 1,400 เมกะวัตต์ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยกให้กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยไม่ต้องเปิดให้มีการประมูลเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาเลย


ทั้งๆ ที่ บริษัท ราช กรุ๊ป ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นบริษัทเอกชน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตถือหุ้นอยู่ 45% ซึ่งยังไม่ได้เกินครึ่งหนึ่งแต่อย่างใด ดังนั้นในเมื่อรัฐถือหุ้นอยู่ไม่ถึงครึ่ง บริษัทราชกรุ๊ป ก็สมควรที่จะต้องถูกปฏิบัติเหมือนกับบริษัทเอกชนทั่วไป และย่อมไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากรัฐ เหมือนกับตัวเองเป็นรัฐวิสาหกิจ


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ให้สัมปทานผลิตไฟฟ้า กับ ราช กรุ๊ป โดยไม่ต้องมีการประมูล ซึ่งมีการประเมินกันว่าโครงการนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 6.4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว โอโห! โครงการมีมูลค่ามหาศาล มากโขจริงๆ


มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกนิด เพราะต่อมาได้มีการตั้งบริษัท หินกองเพาเวอร์ ขึ้นเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โดยที่มีบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง ถือหุ้นโดยบริษัท ราช กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทแม่จำนวน 51% ส่วนหุ้นอีก 49% ถูกถือครองโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท ซึ่งก็เป็นมหาอำนาจด้านพลังงานที่เราได้เคยพูดถึงไปในตอนที่แล้ว


คำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุใด บริษัท ราช กรุ๊ปถึงได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าหินกองมาโดยไม่ต้องประมูล ทั้งๆ ที่ก็เป็นบริษัทเอกชน? และที่น่าติดตามอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อเข้าไปดูจากงบการเงินของบริษัท ราช กรุ๊ป จะเห็นได้ว่าบริษัทมีศักยภาพเพียงพอที่จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าหินกองเองได้ทั้งหมด แต่มีบริษัทกัลฟ์เข้ามาร่วมทุนด้วย


ปรากฏว่า จากการร่วมทุนในครั้งนี้ข้อมูลปรากฎว่า บริษัทกัลฟ์ จะได้ผลประโยชน์โครงการในสัดส่วนที่มีมูลค่าสูงเกือบ 3.2 หมื่นล้านบาท จากการประเมินของธนาคารบีเอ็นพีพารีบาส์


เรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนนั่งหัวโต๊ะในการกำหนดนโยบายพลังงาน แล้วก็ พล.อ.ประยุทธ์อีกนั่นแหละที่นั่งหัวโต๊ะในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็รวมไปถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย






พลัง(งาน)ประชารัฐ: ประยุทธ์สุดกว่าที่คุณคิด (ตอนจบ)





ติดตามกันไปแล้วทั้งหมด 3 ตอน ในตอนนี้เป็นตอนจบที่เราจะมาดูกันว่าเหตุใดถึงได้ถูกตั้งชื่อว่า  ‘ประยุทธ์สุดกว่าที่คุณคิด’ และชวนมาติดตามกันว่ามหากาพย์ พลัง(งาน)ประชารัฐ จะจบลงอย่างไร ?


หากอ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นและเรื่องราวทั้งหมดที่ได้อธิบายไว้แล้วนั้น ทั้งในกรณีของการประมูลโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ที่มีข้อกังขาในการประมูลอยู่ และในกรณีของโรงไฟฟ้าหินกองที่มีการยกผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนโดยไม่มีการประมูล แสดงให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า หรือนี่จะเป็นเป็นโปรย้ายค่ายจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่มอบให้กลุ่มทุน? โดยในภาษาทางการเมืองก็อาจจะเรียกได้ว่า เป็นยุทธการไปตีเมืองขึ้น ของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะเจ้าเมืองที่เข้ามาครองอำนาจใหม่ ก็ต้องล่าเมืองขึ้น เพื่อกดดันข่มขู่ให้เกิดการสวามิภักดิ์จากหัวเมืองต่างๆ โดยทำการเรียกบรรดาหัวเมืองมารายงานตัว ปรับทัศนคติ คุกคามว่าจะตรวจสอบ จะเล่นงานด้วยคดี เพื่อกดดันให้เกิดการเจรจา เพื่อให้เกิดการย้ายค่าย เปลี่ยนเมืองสวามิภักดิ์ เพื่อให้ส่งบรรณาการให้กับเจ้าเมืองใหม่ แลกกับการคุ้มครองและคำสัญญาว่าจะไม่มีการยัดเยียดคดีให้ หลังจากตกลงกันได้ หลังจากสมประโยชน์กัน หลังจากมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันแล้ว ก็ได้แต่งตั้งกันให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลด้วย


ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ผ่านทางมูลนิธิพลังงานไทย เมื่อปี 2559 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ซึ่งถ้ายังจำกันได้ เรื่องนี้ ส.ส. รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล เคยได้อภิปรายไม่ไว้วางใจเปิดโปง ป่ารอยต่อของ พล.อ.ประวิตรไปเมื่อปีที่แล้ว


ดังนั้นหากมีการตีเมืองขึ้นเกิดขึ้นกันจริง นั่นหมายถึงว่าเป็นการใช้ผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน มาเป็นข้อแลกเปลี่ยน กับการค้ำจุนอำนาจของตนเองและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องอย่างปฏิเสธได้ยาก


นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ายังมีข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในการประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของ EEC ของรัฐบาลเช่นเดียวกัน โดยการประมูลในครั้งนั้นเป็นการประมูลในลักษณะร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งฝ่ายรัฐคือการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ต้องการให้เกิดท่าเทียบเรือใหม่ตามแผนของโครงการแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งตามหลักความถูกต้อง รัฐควรที่จะร่วมทุนกับเอกชนรายที่เสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐในอัตราที่สูงที่สุด ในการประมูลครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประมูลอยู่ 2 เจ้า คือกิจการร่วมค้าซึ่งประกอบด้วยบริษัทกัลฟ์ ปตท. และทุนจีน กับกิจการร่วมค้าของกลุ่มบริษัทนทลินและทุนจีน ซึ่งผลปรากฏว่ากลุ่มกัลฟ์เป็นฝ่ายชนะการประมูลไป การที่กลุ่มกัลฟ์ชนะการประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นเพราะเริ่มต้นจากผู้ประมูลอีกเจ้าหนึ่ง คือกิจการร่วมค้าของกลุ่มบริษัทนทลินถูกตัดสิทธิ์จากการเซ็นชื่อลงในเอกสารไม่ตรงช่อง


ยิ่งเมื่อปรากฏตามข่าวว่าข้อเสนอของกลุ่มกัลฟ์นั้นจะให้ประโยชน์กับรัฐเพียงแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กลุ่มนทลินเสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท มันก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งชวนให้น่าสงสัยว่าการตัดสิทธิ์กลุ่มนทลินเนื่องจากเซ็นชื่อไม่ตรงช่องนั้น เป็นเพราะการเซ็นชื่อไม่ตรงช่องมันมีปัญหาในทางกฎหมาย หรือเอาจริงๆ แล้วเป็นเพราะต้องการให้เหลือผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวกันแน่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ต้องชี้แจง


ที่น่ากังขามากขึ้นไปอีกคือ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน EEC และนายกรัฐมนตรีเห็นว่าราคาที่กลุ่มกัลฟ์ เสนอให้กับรัฐนั้นต่ำกว่าที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าถึง 2 หมื่นล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน EEC กลับสั่งให้ใช้การเจรจาเพื่อต่อรองกับกลุ่มกัลฟ์เพื่อขอเงินเพิ่ม แทนที่จะเปิดให้ประมูลใหม่ แถมเรื่องนี้ยังเอาการที่สามารถเจรจาขอเพิ่มเงินได้มาคุยโม้ว่าตัวเองเก่ง สามารถต่อรองกับเอกชนได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศชาติและประชาชนต้องเสียผลประโยชน์


จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายพลังงานที่เอื้อกลุ่มทุน สะสมทุนจากธุรกิจสัมปทานโรงไฟฟ้า จนสามารถขยายรูปแบบธุรกิจไปหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโครงการยักษ์ EEC ถมทะเลพันไร่ ทำที่เก็บแก๊ส LNG มาบตาพุด เฟส 3 มูลค่าลงทุนเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นงานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย อย่างสาย บางปะอิน-โคราช และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าลงทุน 4 หมื่นล้านบาท


ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้เรากำลังพูดถึงโครงการเป็นแสนล้านบาท!!!


การวางนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาด อนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไฟเกินจำเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟที่สูงเกินควร และนี่ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่เลือกมาตั้งฐานการผลิตในประเทศด้วยแต่จะเป็นเรื่องที่แย่ยิ่งกว่า ถ้าหากการวางนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาดนั้น มาจากความตั้งใจที่จะอุ้มชูกลุ่มทุนบางกลุ่มให้ร่ำรวยยิ่งขึ้นไป ตนเองและพวกพ้องได้ประโยชน์ แต่ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ต้องลำบากแสนสาหัส อดมื้อกินมื้อ ต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ไปจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหด


ทั้งหมดนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายพลังงานเช่นนี้ จนประเทศชาติและประชาชนเกิดความเสียหายนั้น เป็นเพราะอะไรกันแน่?


1.เป็นเพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เป็นเพียงหุ่นเชิดนั่งหัวโต๊ะที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีวิสัยทัศน์ ใครกระซิบบอกให้พูดอะไร เซ็นอะไร ก็ทำตามทั้งหมด?


2.เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์หรือคนใกล้ชิดได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่ดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน?


3.เป็นเพราะไม่มีความกล้าหาญในการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่บกพร่อง ผิดพลาด หรือมีส่วนรู้เห็นในการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน?


4.เป็นเพราะไม่มีเจตจำนงในการที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูกต้อง มีสมองและหัวใจที่เล็กจนเกินไป เล็กจนเกินกว่าที่จะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งหมดที่ทำลงไปก็เพียงเพื่อรักษาเก้าอี้ให้ตัวเองยังอยู่ในอำนาจได้เท่านั้น?


ไม่เหตุผลใดก็เหตุผลหนึ่ง หรืออาจเป็นทั้ง 4 เหตุผลนี้รวมกัน เป็นเหตุทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินนโยบายเช่นนี้ แทนที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนทั่วแผ่นดินจากค่าไฟที่สูงขึ้น


แล้วประชาชนคนไทยล่ะ คิดว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเช่นนี้ จนประเทศชาติและประชาชนเกิดความเสียหายนั้น เป็นเพราะเหตุผลข้อไหน?






สามารถติดตามการอภิปรายเรื่องนี้ของ เบญจา แสงจันทร์ ได้ที่ https://youtu.be/eDqNeCoM9wQ



Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า