สารพิษรั่วไหล ภัยสุขภาพและชีวิตประชาชน
การลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมในโรงงานที่สมุทรสาครจนเกิดเป็นข่าวใหญ่ ตามมาด้วยการตรวจปัสสาวะ 11 คนงานในโรงงาน พบสารแคดเมียมในร่างกายทุกคน และในจำนวนนั้น 8 คนมีแคดเมียมปริมาณสูงเกินเกณฑ์
นอกจากนี้ยังพบกากแคดเมียมในโรงงานที่บ้านบึง ชลบุรี แม้แต่โรงงานในกรุงเทพที่ย่านบางซื่อก็ปรากฏในข่าวขึ้นมาอย่างครึกโครม
มีข่าวรัฐทำการเคลื่อนย้ายสารเพื่อคืนไปยังบ่อที่จังหวัดตาก ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้สำเร็จด้วยดีเพราะขาดความระมัดระวัง ละเลยคำเตือนและขั้นตอนที่จำเป็น ความรวบรัด รีบเร่ง จากที่ตกลงวันเวลาไว้ ก็เลื่อนให้เร็วขึ้นกว่าที่ประกาศ
ที่ว่าจะไม่มีการย้ายหลายขั้นตอน และจะมีการป้องกันอย่างเต็มที่ เช่นการวาง จะวางบิ๊กแบ็กบนพื้นเทคอนกรีตเรียบที่แข็งแรง ไม่ให้เกิดการฉีกขาดของถุงบรรจุ ไม่ให้มีฝุ่นผงสารเคมีรั่วไหล
ไม่มีอะไรตามที่บอกไว้
สุดท้าย บิ๊กแบ็กที่บรรจุกากแคดเมียมแตก!
“ระหว่างที่รถแบคโฮยกถุงแคดเมียมขึ้นยังไม่พ้นจากกระบะ โซ่ได้ขาด 2 เส้น ทำให้ถุงบิ๊กแบ็กร่วงลงบนรถบรรทุกคันเดิม คณะทำงานฯ สั่งให้ยุติทันที และอยู่ระหว่างหารือปรับแผนใหม่”
เนื้อข่าวต่อมาเล่าถึงการที่ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ชุดป้องกันไม่ครบถ้วน มีการสัมผัสกากแคดเมียม ท่ามกลางความกังวลใจอย่างหนักของผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่
และเช่นเคย ข่าวทั้งหมดค่อยๆ เงียบหายไป ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
เบื้องหลังเรื่องนี้ เจ้าของโรงงานไม่เพียงทำผิดกฎหมาย แต่ยังเป็นต่างชาติที่เคยมีคดีทำนองนี้จนได้รับโทษจำคุกมาก่อน ตามมาด้วยรายละเอียดการลักลอบอยู่ในประเทศแบบผิดกฎหมายและเกินเวลาที่ได้รับอนุญาตมานานแล้ว
ความหละหลวมตั้งแต่เบื้องต้นของการปล่อยคนเข้าเมืองทำธุรกิจที่ทั้งผิดกฎหมายและสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายต่อประชาชน มาจนถึงการแก้ปัญหาที่ก่อปัญหาเพิ่ม
นี่แหละคุณภาพชีวิตโลกที่ 3 ที่คนไทยกล้ำกลืนฝืนทนวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า
อย่าฆ่าประชาชนด้วยความปล่อยปละละเลย
โทษภัยของแคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักมีอยู่จริง แม้คนงานที่โรงงานสมุทรสาครทั้ง 11 คนยังคงไม่มีอาการใดๆ แต่ก็อยู่ในการติดตามเฝ้าระวัง เพราะแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าที่หลายคนคิด
เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง เพียงสัมผัส
เข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ฝุ่นแตดเมียมปนเปอยู่ในลมหายใจ
เข้าสู่ร่างกายผ่านไปกับน้ำและอาหาร ไม่ใช่เพียงปนเปื้อนโดยตรง เช่น มีฝุ่นผงตกลงไปในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งจะเกิดพิษแน่ๆ
แต่ยังมีผลสืบเนื่องเป็นห่วงโซ่ เช่น ถ้ากากแคดเมียมหรือแคดเมียมปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ สัตว์น้ำที่เราเอามากินก็จะส่งผ่านแคดเมียมมาถึงเรา
พืชผักที่ปลูกบนดินปนเปื้อน คนเอามากินก็ได้รับพิษผ่านทางพืชผัก
แม้แต่วัวกินหญ้าที่ขึ้นบนดินปนเปื้อน เรารีดนมวัวมาดื่ม แคดเมียมก็จะผ่านเข้าสู่ตัวเราผ่านทางน้ำนม
พิษเฉียบพลัน และเรื้อรัง
ได้พิษเดี๋ยวนั้น ป่วยเดี๋ยวนั้น ปวดศีรษะ มีไข้ ไปจนถึงหายใจลำบากและเจ็บหน้าอก
พิษเรื้อรัง ป่วยทีหลังแต่อาจร้ายแรงถึงชีวิต อาจส่งผลกระทบถึงไต กระดูก เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด (เกิดพังผืดที่ปอด) มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และผู้ที่มีโรคประจำตัว หัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอาจจะกำเริบขึ้นได้
กากแคดเมียมไม่พอ ต่อด้วยไฟไหม้ระยอง
ดับแล้ว คุอีก ไหม้อีก เป็นพิษอีก
เกิดเป็นคนไทย ท่องไว้อดทน เข็งแรง
ปลายเมษานและต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงเก็บกากสารเคมีที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ใช้เวลาดับไฟกว่า 20 ชั่วโมง และมาปะทุขึ้นอีกครั้งในวันที่ 12 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านพ้น เพราะอลูมีเนียมดรอสทำปฏิกิริยากับฝนที่ตกลงมาช่วงนี้ เกิดความร้อนและลุกเป็นไฟขึ้นอีก
13 ปีก่อน โรงงานเดียวกันนี้มีประเด็นสารมลพิษปนเปื้อนลงสู่ดิน
“ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออก เข้าร่วมตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตรวจวัดน้ำจากหลุมฝังกลบ พบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) 37 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมัน และไขมัน 106 มิลลิกรัม/ลิตร จัดเป็นวัตถุอันตรายในลำดับที่ 50 (ของเสียผสมระหว่างน้ำมัน /น้ำ หรือไฮโดรคาร์บอน/น้ำ หรืออยู่ในรูปอิมัลชัน) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย พ.ศ.2538”
ไม่ใช่แค่โรงงานเดียวที่ไฟไหม้
เวลาไล่เลี่ยกัน 9 พฤษภาคม ที่อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง โรงงานเครือข่ายยักษ์ใหญ่เกิดไฟไหม้ถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ มีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
และในเวลาต่อมา ประชาชนโดยรอบรับผลกระทบสุขภาพกายและสุขภาพจิตกว่าร้อยราย
ปวดศีรษะ อาเจียนรุนแรง 67 คน
ผื่นขึ้น เจ็บคอ ไอ แสบตา 43 คน
ทารกอายุ 8 เดือน เม็ดเลือดแดงแตกจากการสูดดมควันพิษสารเคมี อาเจียน ตัวซีด 1 คน ในขณะที่แม่อาเจียนเป็นเลือด
ย้อนกลับไปในปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์หนักหน่วงของโควิด-19 การระเบิดและไฟไหม้รุนแรงโรงงานเคมี หมิงตี้ กิ่งแก้ว ผลิตเม็ดพลาสติกพอลิสไตรีน (Polystyrene)
สไตรีนเป็นอันตรายต่อร่างกาย ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ คาดว่าอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen)
ครั้งนั้นมีการอพยพประชาชนจำนวนมากและต้องเฝ้าระวังการขยายวง
ไม่มีใครไม่วิตกกังวล
ไม่เพียงกังวล พวกเขาอยู่ในความโกรธที่เป็นประชาชนในพื้นที่อุตสาหกรรมต้องจำยอมตลอดมา
ตรวจตรงไหนก็เจอ
นอกจากไฟไหม้โรงงาน โรงงานลอบเก็บกากสารเคมี
ก็ยังมีการลอบทิ้ง
กรมควบคุมมลพิษได้เปิดสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมที่มีการรวบรวมไว้ในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) โดยระบุว่า มีเหตุเกิดขึ้นมากถึง 79 ครั้ง
พื้นที่ที่เกิดปัญหาบ่อยสุด คือ
ภาคตะวันออก 45 ครั้ง
ภาคกลาง 21 ครั้ง
ภาคตะวันตก 8 ครั้ง
สำหรับปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งหมด 10 ครั้ง และมีการปล่อยน้ำเสียทั้งหมด 22 ครั้ง
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยตรวจพบสารโลหะหนัก เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม ฯลฯ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เช่น ไวนิลคลอไรด์ และเบนซีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตามการจำแนกขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC (International Agency for Research on Cancer) และสารมลพิษตกค้างยาวนาน เช่น Short-Chain Chlorinated Paraffins (SCCP) และ Polychlorinated Biphenyls (PCBs) รวมไปถึงสารในกลุ่ม PFAS ซึ่งถูกขนานนามว่า “สารเคมีอมตะ” ในพื้นที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทย
ระเบิดเวลาของคุณภาพชีวิตโลกที่ 3
หนึ่งในภารกิจที่พรรคก้าวไกลต้องการทำให้สำเร็จ คือการถอดชนวนระเบิดเวลา ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน
ไม่ควรมีประชาชนคนไหนต้องแบกรับความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ เพียงเพราะบ้านที่ควรจะเป็นที่อบอุ่นปลอดภัยของเขา กลับแวดล้อมด้วยความเป็นพิษที่เหมือนไร้ผู้เหลียวแล
ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ของพรรคก้าวไกล ยื่นสู่สภาเรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการและการแข่งขันทางการค้าที่ยั่งยืน โดยลดความเสี่ยงภัยจากเคมี สารมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ประชาชนต้องรู้ข้อมูล ท้องถิ่นต้องมีอำนาจจัดการ