คนไทยจมอยู่กับความเครียด หัวใจป่วย จิตใจบาดเจ็บ
คำว่า “ตรอมใจตาย” หลายๆ คนอาจคิดว่ามันฟังดูโบราณ ดูละคร ดราม่าที่ไม่มีในชีวิตจริง
ประเด็นคือ “มันมีอยู่จริง” ในประเทศที่สร้างปัจจัยให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้ไม่ยาก กับสังคมที่เครียดและกดดันทุกทาง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยไหน เพศไหน อาชีพอะไร
ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เกิดขึ้นได้จากหลายภาวะ สัมพันธ์กับทั้งโรคทางกายและทางใจ (Physical Stress และ Mental Stress) รวมหมดตั้งแต่เรื่องส่วนตัว งาน เงิน สภาพสังคม ความเจ็บป่วย ฯลฯ แม้แต่ความเครียดจากการเมืองที่คนไทยมีเพิ่มขึ้นสูงมาก
เมื่อเกิดความเครียดรุนแรง ร่างกายจะหลั่งสารกลุ่ม catecholamine เช่น อะดรีนาลีนออกมามาก กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการสะสมประจุแคลเซียมผิดปกติ หลอดเลือดฝอยของหัวใจเกิดการหดตัวเฉียบพลัน
สิ่งที่เกิดขึ้น: ภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง บีบตัวน้อยจนถึงไม่บีบตัว และอ่อนกำลังลง ถ้าตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจจะพบความผิดปกติ และหากอาการรุนแรง หัวใจส่วนล่างซ้ายอาจเกิดการโป่งตัวออก ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ แม้จะมีสถิติน้อย
อาการเริ่มต้น: แน่นหรือเจ็บหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ นอนราบไม่ได้ ถ้าอาการหนักต้องสอดท่อช่วยหายใจควบคู่รักษาภาวะเครียด
นอกจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นหัวใจวาย ยังมีอีกโรคที่เกิดขึ้นได้จากความเครียดสะสม และกำลังคุกคามคนไทยอย่างถึงที่สุด นั่นคือ โรคซึมเศร้า
ซึมเศร้าพรากชีวิตคนไทยปีละกว่า 4,000 คน
สถิติล่าสุด มีผุ้ป่วยซึมเศร้าทั่วโลกราวๆ 300 ล้านคน (จากผู้ป่วยจิตเวชทุกแขนง 450 ล้านคน)
Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บันทึกสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยไว้ดังนี้
คนไทยทุกเพศวัย
- เครียดสูง 8.04%
- เสี่ยงซึมเศร้า 9.47%
- เสี่ยงเลือกจบชีวิตตัวเอง 5.39%
คนไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
- เครียดสูง 24.83%
- เสี่ยงซึมเศร้า 29.51%
- เสี่ยงเลือกจบชีวิตตัวเอง 20.35%
📍ทั้งหมดนี้มีผลสรุปที่น่าตกใจ คือ คนไทยมากกว่า 4,000 คน / ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จจากภาวะซึมเศร้า และถ้าย้อนกลับไปดูสถิติก็จะเห็นว่า เด็กและเยาวชนซึ่งจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศนี้ต่อไปกลายเป็น “เจเนอเรชั่นซึมเศร้า” เกิดภาวะความหดหู่สิ้นหวัง
และนั่นย่อมหมายถึงอนาคตประเทศของเราด้วย
เรากำลังส่งสังคมแบบไหนให้คนรุ่นหลัง
ไม่มีใครอยากอยู่ในสังคมท้อแท้สิ้นหวัง มองเห็นอนาคตได้ยาก
การปรับให้ประเทศไทยเป็นประเทศสดใสน่าอยู่ มีความหวัง ไม่อาจแก้ไขทีละประเด็น วันต่อวัน แต่มีความจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแก้โครงสร้าง
ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ยากเย็นแค่ไหน
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต) และ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายทั้งสองนี้สู่สภา เพื่อสร้างบรรยากาศประเทศที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น แรงงานทุกระดับต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม ออกจากระบบกดขี่ มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้อย่างมีคุณภาพ
ส่วน ร่างบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ยังลดความเครียดให้กับทั้งผู้สูงอายุที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รวมไปถึงคนวัยลูกหลานที่จะไม่ต้องแบกความรับผิดชอบต่อผู้สูงวัยในบ้านจนเกินกำลัง
ไม่ว่าใคร ก็ต้องการชีวิตที่มีคุณภาพ
ไม่ว่าใคร ก็สมควรอยู่ในประเทศที่ดูแลประชาชน