free geoip

ต่อชีวิตด้วยไข่ต้มมื้อละฟอง…

ความเจ็บปวดของคนไทยวัยเกษียณที่ทุกวันราวเดินอยู่บนเส้นด้าย

เมื่อ 24 ปีก่อน (พ.ศ.2543) มีเรื่องที่น่าสะเทือนใจเรื่องหนึ่งเกิดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อชายอายุ 69 ปีคนหนึ่งถูกพบเป็นร่างไร้ชีวิตที่ตายมาแล้วกว่า 3 ปี ที่พบก็เพราะค่าน้ำค่าไฟของบ้านซึ่งตัดอัตโนมัติผ่านธนาคารมาตลอดสามปีนั้น ตัดไม่ได้อีกแล้วเพราะเงินหมดเกลี้ยงบัญชี เจ้าหน้าที่จึงต้องหาทางทวงถาม และเมื่อติดต่อวิธีไหนๆ ก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องไปถึงบ้าน

เพื่อจะพบว่าคนที่เขาต้องการทวงหนี้ เหลือเพียงโครงร่างกระดูกเดียวดาย 

… เรื่องหดหู่แบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังเกิดในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ 

และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การตายลำพัง (Die Alone หรือ โคโดคูชิในภาษาญี่ปุ่น และ โกต็อกซาในภาษาเกาหลี) ได้คืบคลานเข้ามาสู่สังคมไทยจนกลายเป็นเรื่องสามัญ  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้เคยศึกษาไว้ในปี 2557 และ พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะตายตามลำพังถึง 4.7 หมื่นคน / ปี หรือราวๆ ชั่วโมงละ 3-4 คน  

ทำไมผู้สูงอายุไทยต้องตายลำพัง

  • สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่กว่า 13 ล้านคน หรือ 20.17% ขาดคนในครอบครัวที่เป็นคนวัยทำงานจะมาทำหน้าที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ กลายเป็นสังคมที่ “คนแก่ดูแลคนชรา”
  • แก่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างโดดเดี่ยว อย่าว่าแต่คนแก่ดูแลคนแก่ด้วยกัน คนไทยมีแนวโน้มไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ในขณะที่ภาพใหญ่ของประเทศ อัตราการเกิดก็ลดต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลดจนต่ำสุดในรอบ 70 ปีในปี 2564   และจำนวนคนตายมากกว่าจำนวนคนเกิดเป็นปีแรก  โดยเฉพาะคนเมืองใหญ่ในระหว่างและหลังสถานการณ์หนักของโควิด-19 
  • ไม่มีเงินพอจะจ้างผู้ดูแล การไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ ทั้งๆ ที่การจ้างผู้ดูแล (Care Givers) นับเป็นการสร้างงานไปในตัว
  • คนวัยทำงานในครอบครัวออกไปหางานในเมืองใหญ่ ความจำเป็นของการหาเลี้ยงชีวิต แยกปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน 

โชคดีที่ตายก่อน?

ปี 2565 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน พรรคก้าวไกลส่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ ระหว่างการเดินหาเสียงตามชุมชน ผู้สูงอายุหญิงท่านหนึ่งบอกวิโรจน์ว่า “ทุกวันกินข้าวกับไข่ต้ม วันไหนได้กินแกงถุงรู้สึกดีใจมากเหมือนได้รางวัล” 

ประเทศแบบไหนที่ดูแลประชาชนที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นแรงงานหาเลี้ยงประเทศมาค่อนชีวิตด้วยไข่ต้มมื้อละฟองเพราะเบี้ยคนชรามีใช้จ่ายได้แค่นั้น ไม่ต้องพูดถึงค่าอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ ไปจนถึงแม้ขนมกินให้หายอยากสักชิ้น ฯลฯ 

สิ่งที่ทำให้คนชราเหล่านี้รู้สึกโชคดีอาจจะมีแค่ยังไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง มิเช่นนั้นไม่รู้จะเอาชีวิตรอดไปได้อย่างไร

7 มิถุนายน 2566 

ลูกสาวคนหนึ่งต้องแบกพ่อป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยไปที่ว่าการอำเภอเพื่อทำบัตรประชาชนใหม่หลังใบเก่าหมดอายุ ที่ต้องทำทั้งๆ ไปไหนเองไม่ได้แล้วเพราะจำเป็นต้องใช้ในการทำเบิกค่ารักษาพยาบาล ลูกสาวต่อรองกับเจ้าหน้าที่เรื่องการทำผ่านการมอบอำนาจ แต่ทางอำเภอในจังหวัดปทุมธานี ยืนยันว่า “ต้องแบกผู้ป่วยมา จะติดเตียง อาการหนัก ใส่รถเข็น รถนอน เดินไม่ได้ ใส่สายมากมาย หรือเครื่องช่วยหายใจ ก็ต้องมาทำบัตรที่อำเภอ”

หลังกลับมาบ้านไม่กี่ชั่วโมง พ่อของเธอก็เสียชีวิต

ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พรรคก้าวไกลยื่นเข้าสู่สภาแล้ว หากผ่านและมีผลบังคับใช้ ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจริงๆ และเท่าเทียมกันทั้งหมด ถือเป็นสิทธิที่ประชาชนสมควรได้รับ ปรับเพิ่มทุก 3 ปีตามเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และพรรคก้าวไกลยังตั้งใจจะทำโครงการต่างๆ เพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ลดปัญหาการอยู่และจากไปเพียงลำพัง

  • งานสร้างเสริมป้องกันสุขภาพ ต้องมีงานเยี่ยมเยียน ติดตามผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
  • อาสาสมัครชุมชนมีประสิทธิภาพ
  • มีกิจกรรมสังสรรค์ในชุมชนที่มีผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
  • จัดระบบข้อมูลสุขภาพชุมชน พิกัดที่อยู่ผู้สูงอายุเปราะบางทั้งหลายต้องแม่นยำ ติดตามได้ง่าย
  • ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องมีสวัสดิการที่ดีขึ้น 

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า