จากการสำรวจขององค์กรอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ตลอดสิบปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 19,733 คนต่อปี (ประมาณ 54 คนต่อวัน) ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ย 240,044 คนต่อปี (ประมาณ 657 คนต่อวัน)
‘ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์’ เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ เพราะเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด จากฐานข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแสดงให้เห็นว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คิดเป็น 74.5% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และในปี 2565 กว่า 86.82% เป็นผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกนิรภัย
แน่นอนว่าอุบัติเหตุหลายครั้งก็เกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจร หรือไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่ถ้าเรากลับไปตั้งคำถามที่ระดับฐานราก ว่าทำไมคนไทยถึงต้องใช้มอเตอร์ไซค์ (หรือรถยนต์ส่วนตัว) คำตอบที่ได้ย่อมเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวในการสร้างบริการขนส่งสาธารณะ เพราะเมื่อระบบขนส่งไม่มี หรือมีแต่ไม่สะดวก ไม่ได้คุณภาพ การซื้อมอเตอร์ไซค์ไว้ติดบ้านจึงเป็นทางเลือกหลักของหลายๆ บ้าน เมื่อจำนวนการขับขี่บนท้องถนนเยอะ ประกอบกับการสร้างถนนที่ไม่มีการวางแผน เน้นเพียงได้งบประมาณมาใช้จ่าย อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นเล่า การสูญเสียคนรักบนท้องถนนก็กลายเป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นจนแทบจะกลายเป็นปกติในสังคมไทย