free geoip

ค่าไฟแพงเพราะนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน


ปัญหาค่าไฟฟ้าของคนไทยที่ขึ้นเอาขึ้นเอา เป็นปัญหาที่สร้างภาระให้แก่ประชาชนคนไทยมาปีกว่าได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ได้เปิดโปงสาเหตุที่มาของเรื่องนี้มาโดยตลอด และล่าสุดก็ได้ยกขึ้นมาในการอภิปรายตามมาตรา 152 ครั้งนี้ด้วย

หากดูภาพรวมการขึ้นค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา เราจะพบว่าภายในปีเดียว มีการขึ้นค่าไฟฟ้ามาแล้วถึง 30% คือ 1.09 บาท/หน่วย สำหรับบ้านเรือน และ 47% หรือ 1.7 บาท/หน่วย สำหรับภาคธุรกิจ

เมื่อถูกทวงถาม รัฐบาลก็พยายามอธิบายมาตลอดว่าเป็นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ ก๊าซ LNG ที่ต้องนำเข้ามีราคาแพงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของค่าไฟที่แพงขึ้นตลอดปีกว่าที่ผ่านมา แต่คือการบริหารนโยบายพลังงานที่ล้มเหลว เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานของรัฐบาล 


ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LNG ราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าแต่อย่างไร เพราะประเทศไทยมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ที่เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ได้ แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานแย่งเอาก๊าซธรรมชาติราคาถูกไปใช้ได้ก่อน ขณะที่ให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟราคาแพงจากราคาก๊าซนำเข้า รวมเป็นความเสียหายที่ประมาณการได้ถึง 140,000 ล้านบาทต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน เป็นที่ชัดเจนว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย ในปี 2565 ผลิตได้วันละ 2,758 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่วันละ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต นั่นเท่ากับว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพียงพอกับการใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว 

ที่สำคัญคือต้นทุนการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้น อยู่ที่ 233 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งถ้าคำนวนแปลงมาเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าจริงๆ จะอยู่ที่ประมาณ 2 บาท/หน่วย เท่านั้น ขณะที่าคาก๊าซนำเข้า LNG ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงนั้น อยู่ที่ 895 บาท/ล้านบีทียู บางจังหวะก็ไปถึง 1,000 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นไปถึง 7 – 8 บาท/หน่วย

แล้วเหตุใดประเทศไทยถึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ในเมื่อปริมาณที่เราผลิตเองได้นั้นเพียงพออยู่แล้ว? เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายก๊าซธรรมชาติของรัฐบาล

ก๊าซที่ประเทศไทยผลิตได้ 2,758 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันส่วนใหญ่มาจากอ่าวไทย โดยจะถูกส่งต่อมาตามท่อก๊าซทางทะเลมายังโรงแยกก๊าซ (Gas Seperation Plant – GSP) โดยส่วนหนึ่งจะถูกแยกไปเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีหรือพลาสติก ที่เหลือที่เป็นก๊าซธรรมชาติทั่วไป หรือ “มีเทน” จะถูกนำไปใส่ไว้ที่กองกลางในลักษณะ Energy Pool โดยที่ส่วนนึงจะถูกนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วก๊าซที่เหลือจึงถูกนำไปป้อนให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าทีหลัง

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน จะเห็นได้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ถูกนำไปให้อุตสาหกรรมใช้ก่อนส่งมาโรงไฟฟ้านั้น รวมกันเป็นปริมาณที่มากถึง 1,615 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ มากถึง  59% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย จึงเป็นสาเหตุให้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ไม่เพียงพอใช้ป้อนให้โรงไฟฟ้า และทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงมากขึ้น 

นอกจากนี้ ต้นทุนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แย่งใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ไม่ได้ถูกนำมาร่วมเป็น Energy Pool ในการรับภาระต้นทุน LNG ที่มีราคาแพงด้วย กล่าวคือรัฐบาลปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานแย่งเอาก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทย ไปใช้เป็นต้นทุนวัตถุดิบถูกๆ ได้เลย ในขณะที่ประชาชนต้องมาเป็นผู้แบกรับต้นทุนจากราคาก๊าซนำเข้า LNG อย่างเต็มๆ โดยที่ปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซเหมือนกันไม่ถูกนำมาเฉลี่ยต้นทุนก๊าซ LNG นำเข้าด้วย

ซึ่งผู้ที่รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยทั้งหมด ก็คือ ปตท. โดยที่ ปตท. เองก็เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซทางทะเล ที่ส่งก๊าซมายังโรงแยกก๊าซ ซึ่งก็เป็นของ ปตท. พร้อมกับที่ผู้นำก๊าซธรรมชาติไปขายให้กับอุตสาหกรรม ก็คือ ปตท. ผ่านท่อบนบกที่ก็เป็นของ ปตท. อีกเช่นกัน และสุดท้าย ปิโตรเคมีที่โรงแยกก๊าซของ ปตท. ผลิตออกมาได้ ก็จะถูกนำไปขายต่อให้ PTTGC ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือ ปตท. ที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดอยู่ถึง 45% 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่มีที่มาเป็นถึงอดีตผู้บริหาร PTTGC สมควรที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด ต่อการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้

ในสถานการณ์ที่ก๊าซจากอ่าวไทยกำลังจะลดลง และต้องนำเข้าก๊าซ LNG ราคาแพงจากต่างประเทศมากขึ้น ผู้กำหนดนโยบายพลังงานมีสองทางให้เลือก ระหว่างให้กลุ่มทุนเป็นผู้แบกรับภาระนี้ หรือจะให้ประชาชนเป็นผู้แบกค่าไฟราคาแพง จากก๊าซ LNG นำเข้าแทน

เป็นใครๆ ก็ควรจะต้องให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระให้น้อยที่สุด แต่ทว่าทางเลือกที่รัฐบาลนี้เลือก กลับเป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ผลักภาระให้ประชาชนเป็นคนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงแทน

หากเป็นพรรคก้าวไกล สิ่งที่เราจะทำอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำมานานแล้วด้วย ก็คือการยืนข้างประชาชน ด้วยวิธีการทั้งหมด 3 ข้อ กล่าวคือ : 

  1. เปลี่ยนนโยบายพลังงาน ให้สัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มากที่สุดใช้อยู่ ต้องมาร่วมอยู่ใน Energy pool เพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาร่วมหารต้นทุนของก๊าซนำเข้า LNG ด้วย ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าลงไปได้ถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี
  2. เปลี่ยนนโยบายให้อุตสากรรมหันไปใช้นำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติ โดยกำหนดนโยบายให้ ปตท. ที่อยู่ภายใต้การกำกับและบริหารของรัฐบาล ต้องตั้งราคาขายก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคาเดียวกับ LNG พร้อมตั้งวงเงินสนับสนุนให้อุตสาหกรรม เปลี่ยนอุปกรณ์ Burner จากก๊าซเป็นน้ำมันเตาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าลงไปได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดการนำเข้า LNG สำหรับผลิตไฟฟ้า

    ความจริงแล้ว รัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์เองก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า “มีเอกชนใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แต่ยังไม่มีความพยายามเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา ถ้าเอกชนเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา ค่าไฟฟ้า Ft ก็จะลดลงได้ กระทรวงพลังงานไม่มีข้อมูล แต่ ปตท. และ สภาอุตฯ น่าจะมีข้อมูล ให้ไปนั่งคุยกัน แต่รัฐบาลไปสั่งไม่ได้ มันเป็นตลาดเสรี”

    แต่ด้วยเพราะประโยคสุดท้ายของรัฐมนตรี ว่าด้วย “ตลาดเสรี” นี้เอง ที่ทำให้การกำหนดนโยบายไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความคิด ปล่อยให้ตลาดเสรีทำงาน ให้ประชาชนต้องเป็นคนจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพงตามราคาตลาดโลก ขณะท่อนุญาตให้ ปตท. นำก๊าซจากอ่าวไทยไปขายเป็นกำไรได้ก่อน แล้วปล่อยให้เอกชนไปคุยกันเอง
  1. เปลี่ยนนโยบายการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับปิโตรเคมี โดยให้ PTTGC ต้องมีมาตรการระยะกลางในการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร พร้อมกับมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน ให้ PTTGC ต้องหันไปใช้ วัตถุดิบจากน้ำมัน หรือที่ทางปิโตรเคมีเรียกว่า “แนฟทา” ให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นหลักแทนที่ก๊าซธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ปิโตรเคมีรายอื่นๆ ที่ไม่ได้สิทธิในการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยทำกันอยู่แล้วเป็นปกติและยังสามารถทำกำไรได้อยู่


ขอเพียงแค่ทำ 2 ข้อแรกได้ ค่าไฟฟ้าจะลดลงได้มากกว่า 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี ลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ทุกครัวเรือน และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องของก๊าซธรรมชาติ ไม่ใช่สาเหตุเดียวของค่าไฟที่แพงขึ้น แค่ยังมีเรื่องของกำลังการผลิตส่วนเกิน ที่มากถึง 60% หรือ 19,873 MW โดยส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ที่ไม่ได้เดินเครื่องถึง 7 จาก 12 โรง

ความล้มเหลวในการบริหารพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ คือการที่รัฐบาลไม่แม้แต่จะคิดเจรจากับนายทุนโรงไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดค่าไฟฟ้าเลย ยังไม่นับกับการที่รัฐบาลนี้เองนั่นล่ะ ที่เป็นผู้อนุมัติสัญญาให้โรงไฟฟ้าเอกผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และปล่อยให้โรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ได้เงินจากประชาชนไปเปล่าๆ โดยแม้ไม่ต้องเดินเครื่อง จนทำให้ประเทศไทยเรามีกำลังการผลิตส่วนเกินมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 60% 

แม้ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะพยายามอธิบายว่าส่วนเกิน 19,873 MW นี้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่มีอยู่มาก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีส่วนเกินรวมกันแค่ 4,192 MW จากทั้งหมด 19,873 MW ที่เหลือล้วนแต่มาจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้เดินเครื่องอยู่ถึง 7 จาก 12 โรง

ประชาชนจึงต้องกลายเป็นผู้จ่ายค่า “พร้อมจ่าย” ให้โรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ทุกวัน เป็นจำนวนเงินมากถึง 2,395 ล้านบาท/เดือน ซึ่งถูกนำมารวมอยู่ในบิลค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายทุกเดือน ให้กับนายทุนโรงไฟฟ้าเหล่านี้ร่ำรวยขึ้นมา จนติดอันดับเป็นเศรษฐี 1 ใน 5 ของประเทศไทยภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

เมื่อถึงคราวประชาชนต้องเป็นผู้เดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพงเช่นนี้ แทนที่รัฐบาลจะไปเจรจากับเอกชนเหล่านี้ กลับกลายเป็นการออกมาบอกประชาชนหน้าเจื่อนๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า “สัญญาไม่มีช่องทางในการเลื่อน หรือ ลด แต่เอกชนเหล่านี้ ก็คือคนในสภาอุตฯ ทั้งนั้น ให้ไปคุยกันเอง กฟผ. พร้อมนั่งคุย หรือ ให้สมาคมธนาคาร ลองไปคุยกัน เลื่อนจ่ายต้นไปซักปีได้ไหม มาช่วยกัน มันก็ไปกันได้ คือสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น” 

ในความเป็นจริง รัฐบาลสามารถเป็นผู้นำในการเจรจาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ และยังสามารถเร่งทบทวนแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศได้ เพื่อให้ในที่สุดโรงไฟฟ้าพลังก๊าซเหล่านี้ สามารถยืดอายุสัญญาให้เป็นโรงไฟฟ้าสำรองในอนาคต ในคราวที่ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นได้

แต่นอกจากรัฐบาลจะไม่เจรจากับเอกชนแล้ว ยังจะเอาแต่โทษรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งที่เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้เอง ที่พยายามจะอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3,900 MW ประเคนสัญญา โรงไฟฟ้ากว่า 1,940 MW ให้เอกชนโดยไม่เปิดประมูลในปี 2562 และในปี 2566 ก็ยังคงเร่งรีบที่จะทำสัญญาอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนที่ลาว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีกถึง 3,876 MW โดยที่ไม่รอแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ที่จะต้องทบทวนให้รอบคอบ 

จนอดคิดไม่ได้ ว่าหรือนี่จะเป็นการอนุมัติทิ้งทวน เพื่อที่จะขอทุนจากกลุ่มทุนพลังงานมาใช้สำหรับเลือกตั้ง ปี 2566 เหมือนที่ รัฐบาล คสช. เคยได้ประเคนโรงไฟฟ้าให้กับกลุ่มทุนเดียวกันก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่? 

“ถ้าให้กล่าวโดยสรุป เรื่องราวทั้งหมดมาจากขบวนการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน ผมยืนยันได้ว่าเรื่องราวความมั่งคั่งของเจ้าสัวและกลุ่มทุนในประเทศไทย ล้วนไม่ได้มาจากนวัตกรรมหรือความสามารถอะไรเลย ขณะเดียวกัน ความยากจนข้นแค้นของประชาชนคนไทย ก็ล้วนไม่ได้เป็นเรื่องบุญกรรมหรือความไม่พยายามให้มากพอ แต่ทุกอย่างล้วนมาจากต้นตอ ที่ว่าประเทศไทยเรามีรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุมทุนผูกขาดเหล่านี้มากเกินไป และยาวนานเกินไป นี่ต่างหากคือสาเหตุที่แท้จริง ต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินประเทศไทย

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ คือโอกาสที่ทุกคนสามารถเลือกได้ ระหว่างการเลือกให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟแพงไปอีก 30 ปี ต้องมาแบกภาระค่าไฟฟ้าแพงที่ไม่ควรจ่าย เป็นหนี้เป็นสินบนความร่ำรวยของนายทุนจากความตั้งใจของรัฐบาล หรือใช้โอกาสนี้เพื่อการปิดสวิตซ์ 3 ป. ร่วมกัน เลิกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ทลายทุนผูกขาด ให้การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า