free geoip

เปิดตัวทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล พลิกโฉมประเทศไทยไม่เหมือนเดิม


เปิด 7 “มือทำงาน” ทีมเศรษฐกิจก้าวไกล พลิกโฉมประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

พรรคก้าวไกลต้องการสร้างเศรษฐกิจไทยให้ “เติบโตแบบเป็นธรรม” คือมีทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย แต่ก็มีการกระจายดอกผลของการเติบโตอย่างเป็นธรรมด้วย หรือที่เรียกว่า Inclusive Growth โดยเป้าหมายของนโยบายมี 3 ส่วน คือ วางรากฐานชีวิตคนไทยให้มั่นคง สร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และพาธุรกิจไทยไปบุกตลาดโลก

แกนนำหลักทีมเศรษฐกิจก้าวไกล 7 คน มีส่วนผสมที่ “กลมกล่อม” ประกอบด้วย ส.ส. นักวิชาการ ข้าราชการ และนักธุรกิจ มีทั้งรุ่นใหม่ไฟแรง รุ่นกลางสุขุม และรุ่นใหญ่เก๋าเกม เสนอนโยบายทั้งด้านชนบทและเมือง กลั่นจากประสบการณ์ตรงด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค

ความน่าสนใจของทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลคือทุกคนมาจากคนทำงานจริง จากเดิมที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันแนวคิดและโครงการให้กับฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมือง แต่ในวันนี้ “มือทำงาน” อดีตนักธุรกิจ อดีตเทคโนแครตเห็นตรงกันว่าต้นตอปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนระดับนโยบาย จึงตัดสินใจเดินร่วมทางกับพรรคก้าวไกลบนสนามการเมือง เพื่อทลายทุกข้อจำกัดที่เคยเป็นไปไม่ได้ รวมทีมกันผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ทั้งเติบโตต่อเนื่องและกระจายดอกผลอย่างเป็นธรรม

ย้อนชมการถ่ายทอดสดงานเปิดตัว


รวม Highlights งานเปิดตัว





สารบัญ:

หมดยุค Made in Thailand ถึงเวลา Made with Thailand

เปิดโอกาส เปิดตลาด SME ด้วยแต้มต่อและหวยใบเสร็จ

ช่วยรายย่อยสู้ทุนใหญ่ ลดค่าครองชีพประชาชน

ระเบิดพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ ยกระดับคุณภาพชีวิต เปิดประตูสู่เศรษฐกิจใหม่

หยุดแช่แข็งภาคชนบท ปลดโซ่ตรวนหนี้สิน คืนที่ดินให้เกษตรกร

Modernize ราชการไทย งบประมาณฐานศูนย์ กิโยตินกฎหมาย ฟื้นเศรษฐกิจได้ไม่ต้องใช้เงิน





หมดยุค Made in Thailand ถึงเวลา Made with Thailand

นโยบาย Made in Thailand ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือการชวนคนเข้ามาลงทุน ลดแลกแจกแถม มีมาตรการภาษีสร้างแรงจูงใจ ทำให้จีดีพีประเทศโตขึ้น แต่คนไทยได้ส่วนแบ่งดอกผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และนโยบายนี้ไม่เหมาะกับธรรมชาติอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ที่ห่วงโซ่การผลิตไม่ได้ยึดติดกับดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งประเทศไทยตกขบวนไปแล้ว มีการออกแบบในสหรัฐอเมริกา ใช้ชิปจากไต้หวัน ตัวเก็บประจุจากญี่ปุ่น จอภาพจากเกาหลีใต้ ประกอบในจีนและอินเดีย ใช้สิทธิบัตรจากสวีเดน ดังนั้น ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับคำว่า ‘In’ หรือการลงทุนในดินแดน แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ คนไทย การผลิตแบบไทย สิทธิบัตรไทย เข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งของซัพพลายเชนโลก

“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและภาคการผลิต ให้เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ รวมถึงเปลี่ยนผู้ทำนโยบายเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยได้”





วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

อ.ต้น จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำงานวิจัยเรื่องความสำเร็จของเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียและกับดักรายได้ปานกลาง เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น UNCTAD และ United Nations ESCAP อ.ต้น เป็นผู้เขียนหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี: เศรษฐกิจแห่งอนาคต” และเป็นแกนหลักในการเสนอนโยบายเศรษฐกิจให้กับพรรคอนาคตใหม่ ผู้เสนอสโลแกน “ไทยสองเท่า: คนไทยเท่าเทียมกันและประเทศไทยเท่าทันโลก” วันนี้มาเสนอยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ที่จะผลักไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมไฮเทคโลก

การศึกษา

  • ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
  • ปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ เคมบริดจ์


ผลงาน

  • เศรษฐกิจสามสีเศรษฐกิจแแห่งอนาคต
  • เศรษฐกิจฉบับทางเลือก: Economics User’s Guide (Ha-JoonChang เขียน; วีระยุทธ แปล)
  • Developmental State Building: The politics of emerging economies


ประวัติส่วนตัว

  • อ.ต้น วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
  • ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ที่ National Graduate institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านนโยบายสาธารณะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สอนและทำวิจัยด้านนโยบายอุตสาหกรรม การพัฒนาของเอเชียตะวันออก กับดักรายได้ปานกลาง
  • เคยอยู่ในทีมวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น UNCTAD และ United Nations ESCAP


ประสบการณ์ทางการเมือง

  • เป็นที่ปรึกษาที่เป็นแกนหลักในการเสนอนโยบายเศรษฐกิจ พรรคอนาคตใหม่
  • ผู้เสนอนโยบาย “ไทยสองเท่า” เพื่อคนไทยเท่าเทียมกันและประเทศไทยเท่าทันโลก
  • เป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
  • เป็นสมาชิกใน “ทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคก้าวไกล





เปิดโอกาส เปิดตลาด SME ด้วยแต้มต่อและหวยใบเสร็จ

ปัจจุบันไทยมี SME 3 ล้านราย จ้างงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ที่ผ่านมา SME อ่อนแอลงเรื่อยๆ พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย 5ต. ทำให้ SME กลับมาเข้มแข็งเป็นพลังของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย

(1) ‘เติมทุน’ คือทุนตั้งตัว 100,000 บาท และทุนสร้างตัว 1,000,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

(2) ‘เติมตลาด’ เพื่อให้ SME เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

(3) ‘ตั้งสภา’ SME ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ มีปากเสียงทัดเทียมกับทุนใหญ่ รวมถึงกำหนดนิยาม SME ให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาบริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทขนาดย่อยมาแข่งขัน

(4) ‘ตัดรายจ่าย’ โดยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลในระบบก้าวหน้า ให้ SME เสียภาษีอัตราต่ำลง และ SME สามารถนำค่าจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี และ

(5) ‘แต้มต่อ’ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่สนับสนุน SME สร้างระบบบริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก เติบโตไปด้วยกัน รวมถึงนโยบายทีเด็ดอย่าง “หวยใบเสร็จ” ที่จะทำให้การอุดหนุนสินค้าจากร้านรายย่อย ลุ้นได้เงินล้านทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย



สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล

ดร.ชาย จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi เป็นอาจารย์พิเศษ นักเขียน และอดีตผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ประสบการณ์ในภารธุรกิจจริงทำให้ ดร.ชายมองเห็นปัญหาระบบราชการและอุปสรรคทางกฎระเบียบขัดขวางภาคธุรกิจ ทำให้ ดร.ชาย ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคก้าวไกลเสนอแนวทาง 6 ต. เพื่อพัฒนา SME ไทยให้เติบโต พร้อมสู้กับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน

ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาเอก เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศสหราชอาณาจักร
  • ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ) มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศสหราชอาณาจักร
  • ปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ประสบการณ์ทำงาน

  • กรรมการบริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท แอ็บเมดิค จำกัด และบริษัท จินตนาแฟมิลี่ จำกัด
  • อาจารย์พิเศษ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรีควบโท
  • ผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
  • กรรมการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (ABCD Center) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ไทย
  • ผู้ช่วยวิจัยโครงการ “WTO Watch” (โดยทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)


ประสบการณ์อื่นๆ

  • เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการศึกษาความคุ้มค่าและประสิทธิผลการส่งเสริมการลงทุนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์





ช่วยรายย่อยสู้ทุนใหญ่ ลดค่าครองชีพประชาชน

การเปิดโอกาสให้ SME จำเป็นต้องจัดการกับทุนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสุราที่มีมูลค่าเกือบ 500,000 ล้านบาทต่อปี โดยพรรคก้าวไกลจะแก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิเติบโตไปแข่งขันกับรายใหญ่ได้ กรณีการผูกขาดพลังงานหรือค่าไฟฟ้า พรรคก้าวไกลจะเสนอให้ยุติการผูกขาดสายส่ง เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ปลดล็อคหลังคา เปิดให้บ้านเรือนใช้ ระบบ Net Metering ได้ ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคา กลางวันไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ขายคืนเข้าระบบ การจัดสรรก๊าซธรรมชาติของอ่าวไทยก็ต้องจัดการใหม่ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลจะยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ เปลี่ยนที่มาและเพิ่มอำนาจในการยุติการควบรวม และสามารถสั่งให้แยกกิจการที่ผูกขาดเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม



วรภพ วิริยะโรจน์

วรภพมีจบปริญญาโทด้านการเงินจาก Imperial College ลอนดอน เริ่มต้นชีวิตการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคอนาคตใหม่ มีผลงานอภิปรายในสภาที่โดดเด่นด้วยการท้าชนทุนผูกขาด ต่อสู้กับนโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรม ส.ส.เติ้ล พร้อมนำเสนอนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบ SME ของพรรคก้าวไกลที่จะมาพร้อมกับแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับคนธรรมดาและภาคธุรกิจผ่านการปรับนโยบายพลังงานของไทยอย่างเป็นระบบ


ประวัติการศึกษา

  • วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมอุตสาหการ/เทคโนโลยีอุตสาหกรรม) เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Master of Science (Finance) เกียรตินิยมอันดับ 1 IMPERIAL COLLEGE OF SCIENCE AND TECHNOLOGY ประเทศสหราชอาณาจักร


ประวัติการทำงาน

  • อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล
  • ร่างกฎหมายที่เคยเสนอ
    • ร่างแก้ไขประมวลอาญาและ พ.ร.บ. คอมฯ แก้ไขโทษหมิ่นประมาททั้งระบบ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
    • ร่างแก้ไข ป.วิแพ่ง + วิ.อาญา คุ้มครองการมีส่วนร่วมของประชาชนและป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ Anti-SLAPPs
    • ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ชุมนุมฯ คุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ชุมนุมโดยสงบไม่แจ้งล่วงหน้าไม่มีความผิด
    • ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า (ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต) ให้ยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุรา/เบียร์ ให้ไว้เฉพาะรายใหญ่
    • ร่างพ.ร.บ.ประมง – แก้ไขโทษให้เป็นธรรมกับชาวประมงเพิ่มการกระจายอำนาจไปที่ คณะกรรมการประมงจังหวัดมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์การทำประมงในเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล
    • ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ล้มละลาย – ให้สิทธิบุคคลธรรมดายื่นขอฟื้นฟูหนี้สินสมัครใจได้
    • ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษต่อสาธารณะ
    • พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 8/2560 รวบอำนาจการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น
    • ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ให้ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องร้องขอทั้งหมด ยกเว้นข้อมูลลับและข้อมูลส่วนบุคคล
    • ร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ได้
    • ร่าง พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล – กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนให้ทุกหน่วยงานรัฐ สามารถเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล
    • ร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชน- เพิ่มสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งกำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และสร้างศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นทางระบบออนไลน์
    • ร่างแก้ไขข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนราษฎร – ให้สภาสามารถเปิดประชุมฉุกเฉินทางออนไลน์ได้


ประสบการณ์อื่น

  • ตัวแทนพรรคก้าวไกลร่วมรณรงค์ ร่างรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคท้องถิ่น กับคณะก้าวหน้า และเปิดนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล
  • งบประมาณ ปี 2564 – กรรมาธิการงบประมาณ ร่วมตัดงบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับเปลี่ยนเป็นงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิดได้ 30,000 ล้านบาท
  • อภิปรายและจับประเด็นด้านการผูกขาดนโยบายพลังงาน





ระเบิดพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท มีคนทำงานในอุตสาหกรรมราว 900,000 คน พรรคก้าวไกลพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เทียบเท่านานาอารยประเทศ โดยจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย

(1) เติมงบประมาณ โดยต้องมีทิศทางการใช้จ่ายที่ชัดเจนไปในทางเดียวกัน ผ่านการเติมเงินกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนตัวเล็กในการแสดงความสามารถ และกองทุนนี้ต้องทำหน้าที่เหมือนกองทุนตั้งตัวของ SME

(2) สร้างสวัสดิการให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายส่วน เช่น คนยกของ คนจัดไฟ ทุกคนต้องมีสวัสดิการรองรับ ให้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี รองรับความไม่แน่นอน

(3) เพิ่มทักษะความรู้และคุณภาพแก่คนในอุตสาหกรรม รวมถึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในจังหวัดต่างๆ โดยนำพื้นที่ราชพัสดุหรือพื้นที่ทหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ

(4) ให้เสรีภาพแก่คนทำงาน ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่กดทับวิธีคิดสร้างสรรค์ เช่น กฎหมายเซ็นเซอร์



อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บริหารองค์กรด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การมหาชนหลายแห่ง เช่น ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ปัจจุบันเป็นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพมหานคร ประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารองค์การมหาชนที่ต้องไปของบประมาณในสภาทำให้ประทับใจพรรคก้าวไกลที่ตั้งคำถามถึงลูกถึงคน สนใจรายละเอียดจริงจัง อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จึงตัดสินใจร่วมงานกับพรรคก้าวไกล เพื่อชี้ให้สังคมมองเห็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยไม่ให้ไปได้ไกกว่านี้


ประวัติการศึกษา

  • ศิลปบัณฑิต (การออกแบบผลิตภัณฑ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • Master ofArts (IndustrialDesign) Birmingham Institute of Art and Design, University of Central England, United Kingdom
  • Post graduate Certificate (Research Methodology in Art,Design and Media) Birmingham Institute of Art andDesign, University of Central England, United Kingdom


ประสบการณ์ทำงาน

  • ประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพมหานคร
  • ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
  • ผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
    คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  • คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ






แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ ยกระดับคุณภาพชีวิต เปิดประตูสู่เศรษฐกิจใหม่

ข้อมูลเปรียบเหมือนน้ำมันดิบในโลกยุคใหม่ บทบาทของรัฐภายใต้รัฐบาลก้าวไกล จะปรับเปลี่ยนเป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล 3 อย่าง ได้แก่

  • (1) การพัฒนามาตรฐานข้อมูลและสร้าง “ถนนข้อมูล” ที่จะทำให้ข้อมูลสามารถเชื่องโยงกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
  • (2) การสร้างกฎจราจรให้มีกลไกควบคุมเรื่องความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองความปลอดภัย และ
  • (3) การสร้างพื้นที่จัดเก็บทรัพยากรข้อมูลให้พร้อมใช้ เป็นขุมทรัพย์สำหรับภาคเอกชน นำมากลั่นสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มบริการใหม่ๆ ต่อยอดมูลค่าให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดด ช่วยลดต้นทุนและกำแพงในการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ อย่างมหาศาล เช่น การมีข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสามารถช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละคนได้ดีขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง




ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร

ดร.โจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงินและยุทธศาสตร์ข้อมูล จบปริญญาเอกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ทำงานพัฒนาภาคการเงินการธนาคารด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลในช่วงที่ทำงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ผลงานที่สำคัญคือโครงการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับชำระเงินระหว่างประเทศ และโครงการพัฒนามาตรฐานข้อมูลการเงินที่ปลดล็อกให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ดร.โจจะชวนคนไทยสร้างขุมทรัพย์ของประเทศจากข้อมูลเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และยกระดับบริการสาธารณะไปพร้อมกั


ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาโท สาขา Information science, Japan Advanced Institute of Science and Technology (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)
  • ปริญญาเอก สาขา Information science, Japan Advanced Institute of Science and Technology (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)


ประสบการณ์ทำงาน

  • รองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร บริหารโครงการ CBDC ระดับ wholesale ของ ธปท.
  • Advisor, Bank of International Settlements (BIS)
  • ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธสถาบันการเงิน





หยุดแช่แข็งภาคชนบท ปลดโซ่ตรวนหนี้สิน คืนที่ดินให้เกษตรกร

ที่ผ่านมาโอกาสของภาคเกษตรไทยน้อยกว่าภาคการผลิตอื่น ในขณะที่เราหวังให้เกษตรกรอยู่คู่กับเมืองไทย แต่เราไม่เคยมีสวัสดิการและความมั่นคงในที่ดินให้เกษตรกร ทั้งหมดนี้นำมาสู่ปัญหาเรื้อรัง ในขณะที่ตนเป็นข้าราชการ สามารถออกจากระบบได้เพราะมีบำนาญรองรับ แต่พี่น้องเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 70 ปี กว่า 400,000 คน ไม่สามารถออกจากภาคการเกษตรได้เพราะยังอยู่ในวงจรหนี้ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะเปิดทางเลือกให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ เกษตรกรที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต ต้องได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทต่อเดือน หากเจ็บป่วยติดบ้านติดเตียงต้องมีคนดูแลรักษา เด็กที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรต้องได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือน

ส่วนเรื่องที่ดินทำกิน พรรคก้าวไกลพร้อมตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิและรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน 10 ล้านไร่ โดยมีมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบหรือแสวงหาผลกำไรจากนายทุน พี่น้องเกษตรกรที่อยู่มาก่อนรัฐประกาศทับที่จะต้องได้รับโฉนด หน่วยงานราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องคืนให้แก่ประชาชน รวมถึงการปลดล็อกหนี้สิน เช่น รัฐช่วยเช่าที่ดินของเกษตรกรเพื่อปลูกป่าและนำมาชำระหนี้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่านโยบายทั้งหมดนี้ จะเพิ่มทางเลือกในชีวิตให้แก่เกษตรกร และหยุดการแช่แข็งภาคการเกษตรและชนบทไทย เปลี่ยนชนบทไทยให้ไม่เหมือนเดิม



เดชรัต สุขกำเนิด

หลังจากที่เป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร มากว่า 30 ปี เดชรัตตัดสินใจเปลี่ยนหมวกมาทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลในฐานะผู้อำนวยการ Think Forward Center สถาบันวิชาการนโยบายของพรรค ตลอดการทำงานกับพรรคก้าวไกล เดชรัตได้ออกเดินทางไปพูดคุยกับเกษตรกรและประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ทำให้เราเห็นภาพปัญหาได้ลึกถึงต้นตอ พร้อมกับข้อเสนอเพื่อปลดล็อกชีวิตเกษตรกรไทยและลูกหลาน


ประวัติการศึกษา

  • วท.บ. (พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร), ม.เกษตรศาสตร์
  • วท.ม. (เศรษฐศาสตร์เกษตร) ม.เกษตรศาสตร์
  • M.A. (Agricultural and Rural Development), Institute of Social Studies, The Netherlands
  • PhD (Planning and Development), Aalborg University, Denmark


ประวัติการทำงาน

  • 2535 ผู้ช่วยวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • 2535-2562 อาจารย์ ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 2549-2560 ผู้จัดการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ
  • 2546-2558 นักเขียนคอลัมนิสต์ พลังงานน่ารู้ ประจำนิตยสารโลกสีเขียวและนิตยสารพลังงาน
  • 2552-2553 ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 2552-2553 ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  • 2552-2554 กรรมการ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ
  • 2557-2561 หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 2560-ปัจจุบัน คณะกรรมการสภาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
  • 2564-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)


รางวัลที่ได้รับ

  • รางวัลอาจารย์ดีเด่น ระดับชาติ สาขาการรับใช้สังคม จากที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ปี 2558
  • รางวัลเชิดชูเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ปี 2559
  • ศิษย์เก่าดีเด่นคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ จากสมาคมนิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ปี 2560





Modernize ราชการไทย งบประมาณฐานศูนย์ กิโยตินกฎหมาย ฟื้นเศรษฐกิจได้ไม่ต้องใช้เงิน

การเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ต้องอาศัย 5 กลไก ได้แก่

  1. งบประมาณ หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะมีการทำงบประมาณฐานศูนย์ (zero based budgeting) จัดงบประมาณโดยจัดลำดับความสำคัญใหม่ เนื่องจากที่ผ่านการจัดงบประมาณของภาครัฐไม่สะท้อนทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น แผนงบประมาณของภาครัฐ มีแต่การใช้หนี้สร้างถนนหรือแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมมีงบประมาณเพียงแค่หลัก 10 ล้านบาท
  2. กิโยตินกฎระเบียบ เพราะกฎระเบียบยิ่งมาก คนที่ต้องแบกรับภาระคือ SME หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต้องมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ลดกฎระเบียบให้ได้ 50% หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก แต่จากประสบการณ์ในสภาฯ 4 ปี ตนเห็นแล้วว่าสามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราพร้อมงัดข้อกับระบบราชการ ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ในการประกอบธุรกิจให้สะดวกยิ่งขึ้น
  3. ปรับโครงสร้างกระทรวง เพื่อให้การยุบ-ควบรวมหน่วยงานรัฐ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  4. การกระจายอำนาจ เนื่องจากท้องถิ่นมีศักยภาพมหาศาลที่จะระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก้าวไกลจะเติมงบประมาณ อำนาจและทรัพยากร ไม่ให้ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง แต่จะเป็นตัวจุดพลังทางเศรษฐกิจไทยให้กลับมา สร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
  5. การต่างประเทศ หากจะดำเนินนโยบายแบบ Made with Thailand ต้องมีสำนักงานผู้แทนการค้าที่ดูทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสของประเทศไทย วางตำแหน่งและยุทธศาสตร์ของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก

ต้องปรับใหญ่ทั้ง 5 กลไก เพื่อให้การทำงานของภาครัฐตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ไม่เหมือนเดิมและเติบโตไปสู่อนาคตได้



ศิริกัญญา ตันสกุล

รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล มีประสบการณ์วิชาการด้านนโยบายสาธารณะมายาวนาน ก่อนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่เข้าสภา ส.ส.ไหม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็น “มือทำงานสภา” ของพรรคก้าวไกลที่สร้างผลงานโดดเด่นในการอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจและงบประมาณ ศิริกัญญามาพร้อมกับข้อเสนอว่าทำไมเศรษฐกิจไทยไม่มีทางพัฒนาได้ หากไม่ยกเครื่องระบบราชการและวิธีการงบประมาณครั้งใหญ่

ประวัติการศึกษา

  • Master of Arts (Economics) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • Master of Economics UNIVERSITE TOULOUSE 1 CAPITOLE ประเทศฝรั่งเศส


ประวัติการทำงาน

  • รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย
  • พี่เลี้ยง ส.ส.พรรคก้าวไกลในการทำงานสภาตั้งแต่การอภิปรายงบประมาณ อภิปรายไม่ไว้วางใจ และการอภิปรายสำคัญอื่นๆ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า