free geoip

อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย – เร่งเตือนประชาชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา


‘ณัฐวุฒิ’ จี้ รบ. เร่งเตือนประชาชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ณัฐวุฒิ เตือนรัฐบาล แม้สถานการณ์อาจไม่หนักเท่าปี 2554 แต่อย่าประมาทจนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ควรเร่งเตือนประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หลังตรวจเยี่ยมเขื่อน จ.ชัยนาท พบปริมาณการปล่อยน้ำค่อนข้างสูง

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน กล่าว หลังเดินทางร่วมคณะ กมธ. ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา และสถานการณ์การระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลควรเร่งบริหารจัดการน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ประชาชนอพยพหนีน้ำท่วมไม่ทันเหมือนในปี 2554

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท พบปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ทั้งจากการระบายน้ำและฝนที่ยังตกต่อเนื่องในบริเวณใต้เขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนและเรือกสวนไร่นา ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา

แม้สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อลุ่ม น.เจ้าพระยา ไปจนถึงกรุงเทพมหานคร ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังไม่เต็มความจุทั้ง 4 เขื่อน มีแต่เพียงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีปริมาณน้ำสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 แต่เนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำที่มากขึ้นไหลสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำสาขาต่างๆ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ดังนั้น เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จึงต้องเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้น้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ 17.00 ม. น้ำใต้เขื่อนอยู่ที่ระดับ 15.84 ม. ต่างกันประมาณ 1 เมตรเศษ และมีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 2,627 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง

“จากการสอบถามพบว่า ในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 4,000-4,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งดูจากอัตราปัจจุบันถือว่ายังต่ำกว่าปีดังกล่าว แต่ตลอดเส้นทางที่เดินทางจากจังหวัดอ่างทองไปกลับเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า น้ำล้นจากตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมน้ำไล่ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, อ.อินทร์บุรี อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี, อ.ไชโย อ.เมือง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง, จนถึง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตนได้ลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชนบ่นว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนมาก่อน และได้รับความยากลำบากในการอพยพทั้งผู้คน สัตว์เลี้ยง ข้าวของต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หาก รบ.วางแผนและบริหารจัดการได้ดีกว่านี้”

ณัฐวุฒิระบุ

จากข้อมูลดังกล่าวและจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่างการตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่บอกว่าปีนี้อาจจะมีพายุเข้ามามากกว่านี้อีก แต่กลับไม่พบการตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ War room มีแผนการบริหารจัดการน้ำหรือแผนระบายน้ำอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง แต่บางพื้นที่กลับไม่มีน้ำ

อีกทั้งไม่พบว่า มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมากพอ ณัฐวุฒิ จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดดูเหมือน รัฐบาลประมาทกับสถานการณ์ดังกล่าว เพราะมวลน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อรวมกับมวลน้ำจากลุ่ม แม่น้ำป่าสัก ก็จะมุ่งโดยตรงสู่ ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ใน 15-20 วัน อย่างแน่นอน ถึงแม้อาจจะไม่หนักเท่ากับปี 2554 ก็ตาม

“ในนามของพรรคก้าวไกล จึงอยากเตือนให้ รัฐบาลศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนปี 2554 ซึ่งผลเสียหายต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติมหาศาล อย่ารอให้น้ำท่วมมากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การประกาศเขตภัยพิบัติ และนำงบประมาณจากงบกลางมาใช้จ่ายเพียงแค่เยียวยา เราไม่อาจกำหนดปริมาณฝนได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการน้ำ เร่งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่ำ และเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้ ถ้า รัฐบาลจริงใจที่จะดำเนินการและไม่เห็นประชาชนเพียงแค่ฐานคะแนนเสียงทางการเมืองเท่านั้น”

ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า