วิกฤต ‘หมูแพง’ สะเทือนทุกหย่อมหญ้า จ่อเข้าสู่ภาวะ ‘เศรษฐกิจฟุบเฟ้อ’
ราคาหมูหน้าฟาร์มที่พุ่งขึ้นไปสูงสุดในรอบ 40 ปี กำลังทำให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าสู่ภาวะแบกต้นทุนไม่ไหว หากใครไปตลาดสดวันนี้คงสังเกตเห็นได้ถึงบรรยากาศไม่ปกติ แผงขายหมูที่เคยเป็นดาวเด่น ปังตอที่เคยหั่นเนื้อสับกระดูกกันมือระวิง ขณะนี้ต่างพากันปิดระนาว ผลสะเทือนที่ตามมาติดๆ คือผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารตามสั่ง ชาบูเจ้าดัง สุกี้เจ้าโปรด ข้าวหมูแดงเจ้าเก่าแก่ ต่างพากันขยับปรับราคา
แม้กระทั่ง ‘หมูย่างเมืองตรัง’ ของดีทีเด็ดเมืองใต้ จากจังหวัดของนายหัวชวน ที่มีหัวหน้าพรรคเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่อาจควบคุมราคาเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์นี้ได้ ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ร้านหมูย่างนับสิบเจ้าจึงถึงขั้นต้องหยุดขายชั่วคราวเพราะสู้ราคาไม่ไหว แม้ว่าพวกเขาจะส่งเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน
ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เขียนบทความ ‘หมูแพงอาการของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก’ สืบสาวถึงสาเหตุที่ ‘หมูราคาแพง’ โดยวิเคราะห์ว่าอย่างน้อยที่สุดมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่
- โควิดและการล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณการบริโภคหมูลดลง เกษตรกรจึงลดการเลี้ยง แต่เมื่อคลายล็อกดาวน์ การบริโภคหมูเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปทานของเนื้อหมูมีไม่เพียงพอ สวนทางกับเกษตรกรที่ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเพิ่มปริมาณการเลี้ยง
- ต้นทุนในการควบคุมโรคในฟาร์มและต้นทุนค่าอาหารสัตว์แพงขึ้น
- ความคลุมเครือไม่ชัดเจนถึงสถานการณ์โรคระบาดในหมู โดยเฉพาะที่ต้องตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ซึ่งมีการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่าง อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า มีการระบาดของโรค ASF ทำให้หมูที่เลี้ยงไว้ล้มตายทำให้หมูหายจากระบบไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย
📌 สถานการณ์ปัจจุบัน
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูลดลงจาก 2 แสนราย เหลืออยู่เพียงเพียง 8 หมื่นราย สาเหตุมาจากภาวะขาดทุนสะสมจนเกินรับไหว
ปริมาณสุกรแม่พันธุ์ลดลงจาก 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ทำให้จำนวนสุกรขุนเหลือเพียง 15 ล้านตัวต่อปี จากที่เคยมีถึง 19 – 20 ล้านตัวต่อปี
📌 ข้อเสนอแนะ
สนับสนุนเงินกู้ระยะยาวในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีกลไกภาครัฐ หรือ บสย. เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โดยระยะแรกที่ทำได้เลย คือ การจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงปล่อยให้เล้าว่างไปแล้ว ให้หันกลับมาลงทุนเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปคือ การสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหม่ลงทุนเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐาน
การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่มีเพียงแค่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร แต่ยังมีเกษตรกรที่เพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์อื่นๆ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ฯลฯ รัฐบาลควรนำเอาเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ส่วนของแผนงานที่ 3 ที่เหลืออยู่ 87,178 ล้านบาท มาสนับสนุนเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์เงินกู้เงิน มาตรการ Soft Loan
“ขณะนี้ ต้องส่งเสียงดังๆ บอกกับรัฐบาลว่า ประชาชนในระดับรากหญ้าในภาพรวมกำลังเครียดด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขายรายย่อย เจ้าของร้านรวงต่างๆ ต้องการแหล่งเงินทุน เพื่อฟื้นฟูปากท้องและการทำมาหากินอีกครั้ง ราคาหมูแพง เป็นแค่จุดเริ่มต้นของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ถ้าไม่เร่งวางกลไกในการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในอีกหลายๆ ภาคส่วน ที่เกิดขึ้นกับคนตัวเล็กตัวน้อย ก็จะทยอยผุดขึ้นให้เห็นอีกเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนในทุกระดับชั้นในวงกว้าง”
“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปัญหาเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ (Stagflation) ที่เป็นการผสมกันระหว่าง การชะลอตัวหรือภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้”