free geoip

“รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” แต่รัฐบาลไม่เคยรับผิดชอบต่ออนาคตชาติ


หากเด็กเป็นอนาคตของชาติ แล้วอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไรก็ต้องมาดูว่า เด็กในวันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร? สดใส อยู่ดีกินดี หรือหม่นหมอง?

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เราจะชวนมาสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย ไปกับบทความ “ความเหลื่อมล้ำที่ (อาจ) ยังไม่จบที่รุ่นเรา : สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย และข้อเสนอเชิงนโยบาย” โดย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หน่วยงานด้านนโยบายในสังกัดพรรคก้าวไกล

อ่านฉบับเต็มพร้อมสไลด์ประกอบที่นี่



📌 เด็กยากจนมีปัญหาพัฒนาการ-การเข้าถึงสื่อเรียนรู้-ได้รับความรุนแรง

ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า เด็ก อายุ 0-17 ปีในครัวเรือนที่ยากจน (40% ล่างสุด – ควินไทล์ที่ 1 และ 2) มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ได้อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้ากัน โดยที่เด็กในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดถึง 39% ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่เลย

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่าเด็กไทยได้รับความรุนแรงในทุกระดับชั้นทางเศรษฐกิจ แต่เด็กที่ยากจนมีโอกาสได้รับความรุนแรงมากกว่า โดยมีเด็กครัวเรือนยากจนถึง 70% ที่เคยได้รับความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ในขณะที่เด็กครัวเรือนร่ำรวยก็ยังได้รับความรุนแรงถึง 40%

ด้านโภชนาการ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในครัวเรือนยากจน มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและผอมมากกว่าเด็กในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอย่างชัดเจน ขณะที่เด็กในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและค่อนข้างดี กลับมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกิน

ส่วนความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ เด็กในครัวเรือนที่จนที่สุด มีอยู่เพียง 14.4% เท่านั้นที่มีหนังสือสำหรับเด็กตั้งแต่ 3 เล่มขึ้นไปในบ้าน สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง 28.1% และมีเพียง 1.4% เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต



📌 เด็กยากจนจบ ม.ปลายแค่ 40% เข้ามหาลัยได้แค่ 10%

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่ชัดเจนที่สุดคือระดับอุดมศึกษา จากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าอัตราการเข้าเรียนสุทธิในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% แรก สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพียง 7.7% ในขณะที่ครัวเรือนกลุ่มที่ร่ำรวยสุดสามารถเข้าเรียนอุดมศึกษาได้ถึง 65.5%

ขณะเดียวกัน มีเด็กที่มีฐานะยากจนจำนวนน้อยมากที่ได้รับทุนการศึกษาหรือเข้าถึงการกู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยภาครัฐ ในปี 2563 มีเด็กในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐเพียง 2.8% ของเด็กที่ยากจนทั้งหมด และเพียง 0.39% เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการศึกษา

“จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปี 2562 พบว่า เด็กไทย 63% กำลังเติบโตอยู่ในครัวเรือนที่มีระดับรายได้ 40% ล่างของประเทศ แปลว่าเด็กไทยเกือบ 2 ใน 3 อาจมีอัตราสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายเพียง 40-60% และมีโอกาสเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียงไม่ถึง 20% เท่านั้น”

“นอกจากจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่นแล้ว ยังจะส่งผลต่อคุณภาพของกำลังแรงงานและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตด้วย” รายงานดังกล่าวระบุ



📌 4 ข้อเสนอ ลดความเหลื่อมล้ำ-เปิดโอกาสเข้าถึงการศึกษา

เดชรัต ได้กล่าวถึงข้อเสนอทางนโยบาย เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอนาคต ไว้ในบทความ ดังนี้

1) สวัสดิการถ้วนหน้า

การพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า จะบรรเทาปัญหารายได้ของเด็กในครัวเรือนยากจนได้ โดยในเด็กเล็ก 0-6 ปี ให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้า 1,200 บาท/เดือน เด็กโต 7-14 ปี 800 บาท/เดือน เยาวชน 15-22 ปี เริ่ม 800 บาท/เดือน เด็กและครอบครัวพิการ เพิ่มเบี้ยความพิการเป็น 3,000 บาท/เดือน โดยอาจเพิ่มเป็นลำดับขั้น เพื่อบรรเทาปัญหาภาระงบประมาณ

2) ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน

จัดสรรทุนการศึกษาเต็มจำนวนสำหรับนักเรียนที่ยากจนในระดับอุดมศึกษา ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 10% ของจำนวนผู้เข้าศึกษาในแต่ละปี พัฒนาและสนับสนุนระบบการศึกษาควบคู่การทำงาน การแก้ปัญหาระบบการกู้ยืมทางการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นดอกเบี้ยค้างชำระ การดำเนินการทางกฎหมาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการผ่อนชำระ

3) การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

พัฒนาแหล่งเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬาหรือสื่อการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยมีกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคม กิจการเพื่อสังคม และภาคเอกชนทั่วไป ในการพัฒนาแหล่งและกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งดำเนินการผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

4) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

กระจายอำนาจและงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพลงสู่ท้องถิ่น ปรับระบบการจัดซื้อของภาครัฐ ให้สนับสนุนกิจการในท้องถิ่นให้มากขึ้น พัฒนาโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สำหรับการประกอบการของผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น เป็นต้น

“ถ้ารัฐบาลไม่สามารถหยุดภาวะความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ นอกจากจะส่งผ่านความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่นแล้ว ยังจะทำให้คุณภาพและศักยภาพของกำลังแรงงานโดยรวมของเศรษฐกิจไทยอาจด้อยลง โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในการหยุดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นนี้ให้ได้” รายงานดังกล่าวระบุ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า